นายกฯคลอด 8 กฎเหล็กคุมเข้มหลังโควิดฯระบาดใหม่-28 จว.พื้นที่ควบคุมสูงสุด

25

นายกฯเซ็นคำสั่งข้อกำหนด ม.9 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับ 16 ออก 8 กฎเหล็กคุมเข้มโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ร.ร.ห้ามจัดการเรียนการสอน-ประชุม-สัมมนา-จัดงานเลี้ยง-งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ยังอนุญาตให้เปิดห้างได้อยู่ ขอความร่วมมืออย่าเดินทางข้ามจังหวัด – ศบค.คลอดคำสั่ง 28 จังหวัดพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ม.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ฉบับที่ 16 ระบุสาระสำคัญว่า โดยที่การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ขยายขอบเขตการแพร่โรคออกเป็นวงกว้างหลายพื้นที่ และการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เฉพาะกรณีที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ประกอบกับมีการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏอาการของโรค เป็นเหตุให้เชื้อแพร่ออกไปในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเพื่อควบคุมโรคพบว่า มีผู้ติดเชื้อโรคบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทาง ทำให้ขั้นตอนการสอบสวนโรคเกิดความล่าช้า และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลให้เกิดเป็นการระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดและบังคับใช้บรรดามาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายรวม 8 ข้อ โดยมีสาระสำคัญคือ 1.ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียน สถาบันการศึกษาทุกประถเภทที่ตั้งอยู่ในเขตควบคุมสูงสุด เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือทำกิจกรรมใด ๆ เว้นแต่ เป็นการเรียนการสอนทางไกลหรือด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นสถานที่ให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเป็นโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาขนาดเล็ก มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน หรือเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

2.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค เช่น การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหาร หรือสิ่งของต่าง ๆ เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นการจัดกิจกรรมในพื้นที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยมีมาตรการสาธารณสุขรองรับ

3.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการที่มีลักษณะคล้ายผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

4.เงื่อนไขการเปิดบริการ ในเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด (1) การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด โดยอาจเป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น (2) การจำหน่ายสุรา สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

(3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดทำการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ภายใต้การดำเนินการมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

5.มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะหรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดไ

6.การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจและคัดกรองการเดินทางโดยใช้เส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น ต้องแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่

7.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณารูปแบบการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลานี้ อาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือการสลับวันหรือการเหลื่อมเวลาเข้าปฏิบัติงาน เพื่อจดจำนวนผู้ปฏิบัติงาน และปริมาณการเดินทาง เป็นมาตรการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

8.ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตรวจสอบกลั่นกรองและเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลาย หรือกระชับมาตรการที่ใช้บังคับกับสถานที่กิจการ หรือกิจกรรมเพิ่มเติมได้ เพื่อความเหมาะสมต่อสถานการณ์ตามที่เห็นสมควร

(อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/001/T_0001.PDF)

วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่เชื้อระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 1/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยสรุปสาระสำคัญว่า เพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มี 28 จังหวัด ได้แก่ 1.กทม. 2.กาญจนบุรี 3.จันทบุรี 4.ฉะเชิงทรา 5.ชุมพร 6.ชลบุรี 7.ตราด 8.ตาก 9.นครนายก 10.นครปฐม 11.นนทบุรี 12.ปทุมธานี 13.ประจวบคีรีขันธ์ 14.ปราจีนบุรี 15.พระนครศรีอยุธยา 16.เพชรบุรี 17.ราชบุรี 18.ระนอง 19.ระยอง 20.ลพบุรี 21.สิงห์บุรี 22.สมุทรปราการ 23.สมุทรสงคราม 24.สมุทรสาคร 25.สุพรรณบุรี 26.สระแก้ว 27.สระบุรี 28.อ่างทอง

(อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/001/T_0004.PDF)

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94728-isranews-753.html

- Advertisement -