ปรับตัวไม่ทัน-โควิดซ้ำ! สำนักนายกฯหนุนรื้อโครงสร้างผู้ถือหุ้น ‘อสมท’-ฟื้นฟูกิจการ

98

สำนักนายกฯหนุน ‘คณะกรรมการประเมินฯ’ หลังเสนอทบทวนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ‘อสมท’ เปิดทางฟื้นฟูกิจการเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ชี้ผลกระทบ ‘โควิด’ อาจทำให้บริษัทฯเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเร็วขึ้น

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีที่กระทรวงการคลังรายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในข้อเสนอของคณะกรรมการประเมินฯ คือ ให้ทบทวนสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เช่น ทบทวนโครงสร้างผู้ถือหุ้น เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างชัดเจนเพื่อความอยู่รอดอนาคต เป็นต้น

รวมทั้งหาก บมจ. อสมท ไม่สามารถหาพันธมิตรทางธุรกิจได้ ต้องเตรียมแผนการเงินในการดูแลพนักงาน เนื่องจากปัจจุบัน บมจ.อสมท ประสบปัญหากระแสเงินสด ความสามารถในการแข่งขัน และการดำเนินกิจการ จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ บมจ.อสมท ประสบปัญหารุนแรงมากขึ้น และอาจต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเร็วขึ้น นั้น

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด ที่นร 0111/1827 ลงวันที่ 30 พ.ย.2563 แจ้งครม.ผ่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 โดยระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวและเห็นว่า

ในคราวประชุมหารือการแก้ไขปัญหา บมจ.อสมท เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของ บมจ.อสมท ว่า การเปลี่ยนแปลงของตลาดโทรทัศน์กระทบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ทุกรายในวงกว้าง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กหลายรายปิดตัวลง

แต่ที่ผ่านมา บมจ.อสมท มิได้ดำเนินการหรือปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการอื่นแต่อย่างใด เช่น การปรับโครงสร้างต้นทุน การทำ Outsource Content มากขึ้น การลดจำนวนพนักงานลง เป็นต้น ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินธุรกิจลดลงอย่างมาก ในขณะที่ไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการลดลงของรายได้ ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2559-2563 บมจ.อสมท มีผลประกอบการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นชอบด้วยในหลักการเรื่องดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บมจ.อสมท ได้จัดทำแผนพัฒนาองค์กรปี 2564-2568 และแผนปฏิบัติการประจำปี 2563 (ฉบับปรับปรุงต.ค.2563) โดยมีการวางแผนและกำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขัน ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง ทิศทางและแนวโน้มของธุรกิจสื่อ รวมถึงการตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อให้บุคลากรและองค์กรมีความพร้อมต่อการแข่งขัน

รวมถึงการเสริมสร้างรากฐานในการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ที่สามารถสร้างรายได้แก่ บมจ. อสมท เพื่อผลักดันให้ผลประกอบการของ บมจ.อสมท ดีขึ้น และเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บมจ. อสมท ยังมีทรัพย์สินอื่น เช่น ที่ดินที่อยู่ในโซนที่มีมูลค่าสูง จึงควรให้ความสำคัญเรื่องการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ในการบริหารจัดการที่ดินดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุ ณ วันที่ 10 มิ.ย.2563 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบมจ.อสมท ได้แก่ กระทรวงการคลัง ถือหุ้นในสัดส่วน 65.80% และธนาคารออมสิน ถือหุ้นในสัดส่วน 11.48% เป็นต้น ขณะที่ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.2563) บมจ.อสมท มีผลขาดทุน 1,167.26 ล้านบาท ส่วนปี 2562 มีผลขาดทุน 457.46 ล้านบาท ,ปี 2561 มีผลขาดทุน 375.72 ล้านบาท และปี 2560 มีผลขาดทุน 2,542.35 ล้านบาท

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews-news/94554-mcot-Shareholder-structure-Opinion-news.html?__FB_PRIVATE_TRACKING__=%7B%22loggedout_browser_id%22%3A%22ac29d4524b88c7c416b643502e2e0df1739db574%22%7D

- Advertisement -