เผยผลงานสภาผู้แทนราษฎรปี 63 ผ่านกฎหมายได้แค่ 7 ฉบับ ที่ปรึกษา ปธ.สภาฯชี้ยังน้อยไป เผยหลายสาเหตุ ทั้ง ครม.ส่งมาน้อยมาก-บางอย่างผ่านในชั้น สนช.ไปแล้ว เล็งปรับแผนใหม่พิจารณากฎหมายทุกวันพุธ-ให้ รมต.ตอบกระทู้ทุกพฤหัสบดี
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดปี 2563 ว่า เป็นปีที่ 2 สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 มีการประชุมรวม 42 ครั้ง และมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 8 ครั้ง มีร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ที่สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ 7 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณา 6 ฉบับ รอการพิจารณาของสภาในวาระที่หนึ่ง 34 ฉบับ รอการบรรจุระเบียบวาระการประชุม 5 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คำรับรองของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวด้วยการเงิน 25 ฉบับ ร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวด้วยการเงินที่นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง12 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของประธานสภาฯ 5 ฉบับ ส่วนร่าพ.ร.บ.ที่เสนอโดยประชาชน อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาฯในวาระหนึ่ง จำนวน 2 ฉบับ และมีพระราชกำหนด ที่สภาฯพิจารณาอนุมัติ 4 ฉบับ มีญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติ ตาม มาตรา152 ของรัฐธรรมนูญ 1 ญัตติ
นพ.สุกิจ กล่าวอีกว่า กฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบจนสามารถประกาศใช้ได้ มีเพียง 7 ฉบับนั้น น้อยไป ด้วยหลายสาเหตุ อาทิ ร่างกฎหมายคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมายังสภาผู้แทนราษฎรน้อยมาก และอาจเป็นเพราะกฎหมายสำคัญ ๆ จำนวนมาก ผ่านการพิจารณาไปแล้วสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)รวมถึงการจัดลำดับวาระการประชุม ที่กำหนดพิจารณากฎหมายไว้ท้ายวาระ จึงทำให้การพิจารณาล่าช้า โดยหลังจากนี้ทุกวันพุธ สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาเฉพาะกฎหมายเท่านั้น
ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวด้วยว่า ส่วนกระทู้ถามสดด้วยวาจามีจำนวน 49 กระทู้ ส่วนกระทู้ถามทั่วไปที่ถามต่อรัฐมนตรีในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 41 กระทู้ และกระทู้ถามทั่วไปที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา 58 กระทู้ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอร้องไปยัง ครม .แล้วว่าเมื่อถึงวันถาม-ตอบกระทู้ถาม ขอให้รัฐมนตรีงดภารกิจอื่น ๆ เพื่อสามารถมาตอบกระทู้ถามของ ส.ส.ได้ และเชื่อว่า เมื่อสภาจัดลำดับวันพิจารณาตอบกระทู้ถามใหม่เป็นทุกวันพฤหัสบดีแล้ว จะได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีมากขึ้น
“ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจา โดยไม่ต้องแจ้งรัฐมนตรีล่วงหน้านั้น โหด เพราะเมื่อ ส.ส.มาแจ้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีก่อนเวลา 08.00 น. แล้ว รัฐมนตรีจะต้องมาตอบทันทีในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เวลา 10.00 น. จึงทำให้รัฐมนตรีบางกระทรวง เตรียมการไม่ทัน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว จึงไม่อาจเลี่ยงเป็นอื่นได้ แต่มั่นใจว่า หลังจากนี้จะได้รับความร่วมมือจาก ครม.มากขึ้น” นพ.สุกิจ กล่าวและว่า นอกจากนี้ในสมัยประชุม ยังมีการประชุมร่วมรัฐสภา 8 ครั้ง มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 2 ฉบับ รวมถึงยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่รัฐสภารับหลักการไว้พิจารณา จำนวน 2 ฉบับ มีญัตติที่รอการพิจารณา 1 ญัตติ ที่รอการพิจารณาในปี 2564” นพ.สุกิจ กล่าว
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94516-isranews-726.html