คงไว้ซึ่งคุณภาพคำพิพากษา! ศาลฎีกาเผยปี 64 ใช้มาตรฐานพิจารณาคดีไม่เกิน 6-12 เดือน

124

ศาลฎีกาแพร่ผลงานรอบปี 63 เผยพิจารณาคดีเสร็จสิ้นกว่า 2 หมื่นคดี จาก 2.5 หมื่น คิดเป็น 81.15% ยันคงไว้ซึ่งคุณภาพคำพิพากษาในเวลาเหมาะสม ปี 64 เล็งคลอดมาตรฐานการพิจารณาคดีไว้ในชั้นฎีกาต้องไม่เกิน 12 เดือน ส่วนคดีที่จำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือน อ่านคำพิพากษาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2563 ศาลฎีกาเผยแพร่ปริมาณคดีและการทำงานที่ผ่านมาของศาลฎีกาในรอบปี 2563 (นับถึงวันที่ 23 ธ.ค. 2563) พบว่า มีคดีทีต้องพิจารณา 25,316 คดี แยกเป็นคดีทีต้องพิจารณาและทำคำพิพากษารวม 11,623 คดี เป็นคำร้องขออนุญาตฎีกา 13,693 คดี โดยพิจารณาแล้วเสร็จ 20,545 คดี คิดเป็น 81.15% คงมีคดีค้างพิจารณา 4,771 คดี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคดีที่ต้องพิจารณา 22,091 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 17,338 คดี คิดเป็น 78.48% แสดงให้เห็นว่า แม้ปริมาณคดีในปี 2563 จะเพิ่มมากขึ้น แต่ศาลฎีกายังสามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ในอัตราเพิ่มขึ้นถึง 2.69% และยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของคำพิพากษาศาลฎีกา ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

โดยเฉพาะคดีที่ศาลฎีการับไว้พิจารณาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน พิจารณาแล้วเสร็จเกือบหมด ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะต้องใช้เวลาพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นฎีกาไม่เกิน 12 เดือน ในปีหน้า (2564) ศาลฎีกาจะกำหนดมาตรฐานระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ว่า คดีที่ต้องพิจารณาและทำเป็นคำพิพากษาแล้วเสร็จไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีไว้ ส่วนคดีที่ต้องพิจารณาและทำเป็นคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาแล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้

นอกจากนี้ศาลฎีกายังให้ความสำคัญกับคดีที่จำเลยถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยมีนโยบายพิจารณาคดีดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ปัจจุบันมีคดีที่จำเลยต้องขังค้างพิจารณาในศาลฎีกาประมาณ 337 คดี เป็นคดีที่ค้างพิจารณาเกิน 6 เดือนแต่ไม่เกิน 12 เดือนเพียง 13 คดีเท่านั้น นอกนั้นเป็นคดีที่ค้างพิจารณายังไม่เกิน 6 เดือน ศาลฎีกาจึงจะกำหนดมาตรฐานระยะเวลาสำหรับคดีที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาไว้ว่า ต้องพิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลย และเป็นการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นตามนโยบายประธานศาลฎีกา เพื่อให้จำเลยที่ต้องขังระหว่างพิจารณาได้ทราบคำพิพากษาศาลฎีกาโดยเร็ว

ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา ศาลฎีกานำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการสนับสนุนงานพิพากษาคดี ด้วยการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาที่จำเลยถูกคุมขังในเรือนจำฟัง ผ่านการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะประชุมทางจอภาพ (Video Conference) เป็นจำนวน 20 คดี ส่งผลให้จำเลยได้รับทราบคำพิพากษาเร็วขึ้น หากคดีนั้นในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง จะมีการออกหมายปล่อยทันทีเพื่อให้พ้นจากการถูกคุมขังโดยไม่จำเป็น หรือหากคำพิพากษาลงโทษจำคุก จะมีการออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดทันที อันจะเป็นผลให้จำเลยรับสิทธิเป็นนักโทษเด็ดขาดที่อาจได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ หรืออาจได้รับสิทธิพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ

ศาลฎีกาตั้งเป้าหมายว่าในปี 2564 จะดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่จำเลยถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาของศาล ผ่านการถ่ายทอดสดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพทุกคดีด้วย

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94494-isranews-723.html

- Advertisement -