ป.ป.ช. ฟันอาญา-วินัยร้ายแรง “ชินโชติ สอนใจ” อัยการภูเก็ต กับพวก ร่วมกันเรียกรับเงินจากตัวแทนของบริษัทเอกชนเพื่อเข้าครอบครองป่าในเขตอุทยานฯ จ.ภูเก็ต
21 ธันวาคม 2563 นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกล่าวหา นายธรรมะ หรือ ชินโชติ สอนใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 8 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดภูเก็ต กับพวก ร่วมกันเรียกรับเงินจากตัวแทนของบริษัทเอกชนเพื่อช่วยเหลือทางคดีว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2555 กรมอุทยานแห่งชาติได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าฉัตรไชย กล่าวหาบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตและกรรมการของบริษัทดังกล่าว ว่ากระทำความผิดในข้อหาร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าและเข้ายึดถือครอบครองป่าโดยตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเมื่อคณะทำงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง และได้ส่งสำนวนไปให้อัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อพิจารณามีคำสั่ง ต่อมาบริษัทเอกชนและกรรมการของบริษัทดังกล่าวได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน จึงได้มีการเสนอสำนวนคดีไปยังอธิบดีอัยการภาค 8 ซึ่งอธิบดีอัยการภาค 8 มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทเอกชนและกรรมการของบริษัทดังกล่าว และได้ส่งสำนวนคดีไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 แต่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาชี้ขาด ซึ่งอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวนายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนจึงอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 จึงส่งสำนวนกลับคืนมาให้สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตจะได้ส่งสำนวนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพิจารณาความเห็นของพนักงานอัยการ โดยสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตได้รับหนังสือดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 นายธรรมะ ในฐานะอัยการผู้เชี่ยวชาญ รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นได้โทรศัพท์แจ้งพนักงานอัยการซึ่งเคยเป็นพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าวให้นัดหมายตัวแทนของบริษัทเอกชนเพื่อให้มาพบในวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 หลังจากนั้นตัวแทนของบริษัทเอกชนได้มาพบ นายธรรมะ ที่ห้องทำงานอัยการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีนายวันฉัตร ชุณหถนอม ในฐานะอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นอยู่ในห้องและร่วมสนทนาด้วย โดยนายธรรมะเสนอว่า จะไปพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้มีคำสั่งไม่เห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ซึ่งหลังจากนั้นยังได้มีการติดต่อกันอีกครั้งหนึ่งและได้มีการเรียกรับเงินจำนวนหนึ่งจากบริษัทดังกล่าว เพื่อกระทำการช่วยเหลือคดี ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า การกระทำของนายธรรมะ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 201 ประกอบมาตรา 83 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำของนายวันฉัตรมีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 และมาตรา 201 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 171 มาตรา 172 และมาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังประธานกรรมการอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการกับ นายธรรมะ และนายวันฉัตรตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 98 วรรคสอง แล้วแต่กรณีต่อไป