ตำรวจรวบเจ้ามือโกง ‘คนละครึ่ง’ รับซื้อสิทธิ์ แต่ไม่ขายสินค้า แบ่งคืนเจ้าของ 90 บาท ส่วนตัวเองและเครือข่ายได้ 60 บาท เผยมีกลุ่มที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตอีกกว่า 700 รายอยู่ระหว่างสืบสวนขยายผล ขณะที่กองปราบฯ เตรียมลุยสอบ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวผลการตรวจสอบและดำเนินคดีผู้ทุจริตในโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย ตรวจสอบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการทุจริต 2 รูปแบบ คือ ร้านแลกหรือรับเงินเป็นผู้ดำเนินการ และแบบมีเจ้ามือเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการระงับการใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน และระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าผู้ต้องสงสัยแล้วหลายราย
ล่าสุด เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหา 4 ราย คือ มีพฤติการณ์เป็นเจ้ามือรับแลกเปลี่ยนเงินออกจากโครงการคนละครึ่ง โดยได้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘สาวิตา รักชีพชอบ’ ในการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ นำสิทธิ์มาแลกรับเงินจากเจ้ามือโดยไม่ต้องซื้อสินค้า ทั้งนี้เจ้าหน้าได้ตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัย พบว่ามีการสแกนใช้สิทธิ์กับร้านขายของชำแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร โดยประชาชนหลายภูมิลำเนาทั้งเชียงใหม่ สงขลา ก็ได้เข้าร่วมใช้สิทธิ์ที่ร้านดังกล่าวด้วย จากการสอบสวนในเบื้องต้นพบว่า ประชาชนจะได้รับเงินส่วนต่าง จำนวน 80-100 บาท ต่อการทำธุรกรรมใช้จ่ายผ่านร้านค้าดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้ได้จำกัดสิทธิ์การใช้ไว้ที่ 150 บาทต่อคนต่อวัน
โดยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ตำรวจร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและผู้แทนจากธนาคารกรุงไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว พบ น.ส.สมปอง (สงวนนามสกุล) อายุ 62 ปี แสดงตนเป็นเจ้าของร้าน และ นายสรัล (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี บุตรชาย โดยจับกุมได้พร้อมกับ โทรศัพท์มือถือที่ใช้ในระบบ G Wallet 5 เครื่อง , แท็บเล็ต 1 เครื่อง , คอมพิวเตอร์โน้ตบุค 1 เครื่อง , บัญชีเงินฝากธนาคร 6 เล่ม จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นของกลางในคดี
จากการสอบปากคำ น.ส.สมปอง เจ้าของร้าน พบว่าบุตรชายได้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด พร้อมยอมรับว่าได้ตกลงร่วมือกับผู้ใช้เฟสบุ๊ก ‘สาวิตา รักชีพชอบ และไลน์ชื่อ ‘Jeerapot’ ในการติดต่อ โดยเมื่อได้รับเงินจากรัฐบาลจะโอนเงินคืนให้กับเจ้ามือผ่านบัญชีธนาคารชื่อ นายจีรพจน์ (สงวนนามสกุล) โดยจะได้รับผลประโยชน์ 30 บาทต่อสิทธิ์ ส่วนเจ้ามือได้ 30 บาท และคนขายสิทธิ์ได้ 90 บาท
ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค. เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหากับ น.ส.สมปอง (ขอสงวนนามสกุล) ,นายสรัล (ขอสงวนนามสกุล) , นายจีรพจน์ (ขอสงวนนามสกุล) และ นางกนกภรณ์ (ขอสงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) อัตราโทษ จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ น.ส.สมปอง ให้การปฏิเสธ ส่วน นายสรัล ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา นายจีรพจน์ ให้การปฏิเสธ โดยให้การว่าไม่รู้เรื่องมาก่อน ส่วนนางกนกภรณ์ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าร่วมกับนายสรัล ซึ่งนางกนกภรณ์ จะเป็นคนหาลูกค้าผ่านเฟซบุ๊ก ‘สาวิตา รักชีพชอบ’ จากนั้นจะนำข้อมูลมาล็อคอินผ่านแอพลิเคชั่น เป๋าตังสแกนใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชั่นถุงเงินร้านค้าของนายสรัล โดยไม่มีการซื้อขายจริง
นอกจากนี้การตรวจสอบพบว่ายังมีกลุ่มที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดในลักษณะนี้อีก 700 รายซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล โดยตำรวจย้ำเตือนถึงประชาชนด้วยว่า แม้คดีฉ้อโกงฯ จะมีอัตราโทษไม่มาก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 5 ปี /ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ 100,000 บาท ก็ตาม แต่การกระทำความผิดในแต่ละครั้ง จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ หากมีการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวซ้ำๆหลายครั้ง ก็จะได้รับโทษในแต่ละครั้งในทุกๆครั้ง เมื่อรวมแล้วอาจจะได้รับโทษจำคุก ถึง 10-20 ปี หรือมากกว่านั้น
ด้าน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามเป็นแม่งานตรวจสอบเอาผิดโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร จำนวน 515 แห่ง ที่ต้องสงสัยทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของภาครัฐที่จัดทำขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีผู้กระทำผิดทุจริตโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบต่อภาพรวมของสังคม ด้วยเหตุนี้กองบังคับการปราบปรามจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากทางกองปราบฯเพิ่งจะได้รับมอบหมายมาได้ไม่นาน ทำให้ความคืบหน้าทางคดีขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน หาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดต่าง ๆ หากคืบหน้าจะแจ้งเร็ว ๆ นี้