มติที่ประชุม ป.ป.ช. ข้างมาก 6 ต่อ 3 ไม่ฟ้อง บ.ซิโน-ไทยฯ-เอกชน 3 ราย คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม 20 ล้าน เหตุเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาผิดมาตรากฎหมายตั้งแต่ต้น เห็นควรฟ้องเฉพาะ อดีต ผอ.เจ้าท่านครศรีฯ-จนท.รัฐรวม 5 ราย ก่อนหน้านี้อัยการไม่ฟ้องเช่นกันเลยดึงสำนวนกลับมาพิจารณาเอง
จากกรณีคณะทำงานร่วมพิจาณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) และฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ได้ข้อยุติในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นาวาโทสาธิต ชินวรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช กับเจ้าหน้าที่รัฐรวม 4 ราย และเอกชนผู้สนับสนุน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ซิโน-ไทยฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเรียกรับเงินสินบนจำนวน 20 ล้านบาท จากบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช ลำเลียงขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยมิชอบ กรณีนี้ฝ่ายอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐรวม 5 ราย แต่ไม่สั่งฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ โดยแจ้งความเห็นมายัง ป.ป.ช. และ ป.ป.ช. ได้รับสำนวนกลับคืนมาแล้วนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นควรฟ้องคดีดังกล่าวเอง เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐรวม 5 รายเช่นกัน โดยไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และเอกชนอีก 3 ราย เนื่องจากเสียงข้างมากเห็นว่า การแจ้งข้อกล่าวหาแก่บริษัท ซิโน-ไทยฯ ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาผิดมาตรากฎหมายมาตั้งแต่ชั้นไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากพฤติการณ์กล่าวหาบริษัท ซิโน-ไทยฯ เข้าข่ายผู้ให้สินบนโดยแท้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ขณะที่ ป.ป.ช. ชี้มูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 คือเป็นการสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน
ทั้งนี้ภายในที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยฝ่ายเสียงข้างน้อย 3 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า แม้พฤติการณ์ของบริษัท ซิโน-ไทยฯ อาจเข้าข่ายมาตรา 144 ก็ตาม แต่ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง และในตอนส่งฟ้องต่อศาลมีการปรับตัวบทกฎหมายให้สอดคล้องกับพฤติการณ์ในสำนวน นอกจากนี้หากเรื่องถึงชั้นศาลแล้ว ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยปรับตัวบทกฎหมายเองได้
อย่างไรก็ดีกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากอีก 6 รายที่เหลือ ได้แก่ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เห็นว่า การปรับตัวบทกฎหมายภายหลังการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้มีมติว่า เห็นควรสั่งฟ้องเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐรวม 5 ราย และไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และเอกชนอีก 3 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังกล่าวออกมา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และข้าราชการภายในสำนักงาน ป.ป.ช. เกิดความกังวลอย่างมากว่า คดีนี้อาจกลายเป็นเหมือนคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่มีการตัดทอนกระบวนการยุติธรรม และในอนาคตสำนักงาน ป.ป.ช. อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้บริษัท ซิโน-ไทยฯ ลงนามโดยนายภาคภูมิ มีหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยืนยันว่าไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ และมั่นใจว่าสามารถชี้แจงแสดงหลักฐานโต้แย้งการถูกกล่าวหาข้างต้นได้ และบริษัทฯขอยืนยันจะสู้จนถึงที่สุด