“….จากการตรวจสอบ โดยการสัมภาษณ์ประชาชนที่เข้ารับการฝึกอบรมจาก กศน. จำนวน 200คน มีเพียง 38คน เคยรับชมรายการทางสถานีETVคิดเป็นร้อยละ 19.00 ของประชาชนที่สัมภาษณ์ ส่วนประชาชนอีก 162คน คิดเป็นร้อยละ 81.00ของประชาชนที่สัมภาษณ์ ไม่เคยรับชมรายการทางสถานี ETV เนื่องจากไม่รู้จักสถานี ETVรวมทั้งไม่มีเวลา และบางส่วนรับชมเฉพาะรายการข่าว…”
ประเด็นตรวจสอบปัญหาการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนของ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ตามรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธรณาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
ข้อมูลสำคัญที่นำเสนอไปแล้ว คือ
1.การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาตามโครงการพัฒนาทักษะครู ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาตามโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และสารสนเทศทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดการเรียนการสอนหลายประการที่ทำให้การดำเนินงานโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด พร้อมมีการแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริหารหน่วยงานรีบหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน
2. ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non-FormalNational Educational Test : N-NET) ของ กศน. ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยจากการตรวจสอบเอกสารรายงานค่าสถิติพื้นฐานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน (N-NET) หรือ ผลการทดสอบ N-NET ทั่วประเทศ (ทุกระดับ) ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 -2562 พบว่า ผลการทดสอบN-NETแต่ละระดับ/สาระการเรียนรู้ในระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีคะแนนเฉลี่ยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตามตัวชี้วัดแผนพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2560 –2579 โดยมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 ยกเว้น สาระทักษะการดำเนินชีวิต ระดับประถมศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในการทดสอบครั้งที่ 2 ปีการศึกษา 2559 และครั้งที่ 1 ปีการศึกษา 2560 เท่านั้นที่ผลการทดสอบ N-NET ทั่วประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50 คือ 53.61 และ 52.01 ตามลำดับ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า การดำเนินงานจัดการเรียนการสอน ของสำนักงาน กศน. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีภารกิจสำคัญในการจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมทุกช่วงวัย รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และประสานภาคีเครือข่าย ในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมของศูนย์การเรียนและแหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ
ยังมีปัญหาสำคัญอีก 2 ส่วน ที่ถูก สตง. ตรวจสอบพบ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับชมรายการส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านระบบทีวีสาธารณะหรือ ETV (ติวเข้มเต็มความรู้) เพื่อพัฒนาประชาชนตลอดช่วงวัย และ อาคารสิ่งก่อสร้าง และครุภัณฑ์ ของ กศน.ตำบล ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ในระดับตำบล บางแห่งชำรุด มีสภาพไม่พร้อมในการให้บริการ
ปรากฎรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับชมรายการส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านระบบทีวีสาธารณะ หรือ ETV (ติวเข้มเต็มความรู้) เพื่อพัฒนาประชาชนตลอดช่วงวัย
สตง. ระบุว่า โครงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านระบบทีวีสาธารณะ หรือ ETV (ติวเข้มเต็มความรู้) ดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้งในเมืองและชนบท กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษา กศน. ครูและบุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป
แต่จากการตรวจสอบ โดยการสัมภาษณ์ประชาชนที่เข้ารับการฝึกอบรมจาก กศน. จำนวน 200คน มีเพียง 38คน เคยรับชมรายการทางสถานีETVคิดเป็นร้อยละ 19.00 ของประชาชนที่สัมภาษณ์ ส่วนประชาชนอีก 162คน คิดเป็นร้อยละ 81.00ของประชาชนที่สัมภาษณ์ ไม่เคยรับชมรายการทางสถานี ETV เนื่องจากไม่รู้จักสถานี ETVรวมทั้งไม่มีเวลา และบางส่วนรับชมเฉพาะรายการข่าว
แม้ว่ารายการเพื่อพัฒนาประชาชนตลอดช่วงวัยเป็นรายการที่สถานี ETV จะมีการผลิตมากที่สุดเฉลี่ย 3 ปี โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 62.70 ของรายการที่ผลิตทั้งหมด
ข้อเสนอแนะ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พิจารณาดำเนินการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการรับชมรายการของสถานีETV โดยเชิญชวนให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ กศน. ได้ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
อาคารสิ่งก่อสร้าง และครุภัณฑ์ ของ กศน.ตำบล ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ในระดับตำบลบางแห่งชำรุด มีสภาพไม่พร้อมในการให้บริการ
สตง. ระบุว่า จากการตรวจสอบด้านอาคารสถานที่และครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์สำหรับให้บริการในกศน.ตำบลที่สุ่มตรวจสอบพบว่า กศน.ตำบล บางแห่งประสบปัญหาด้านความพร้อมในการให้บริการ เช่น อาคารสิ่งก่อสร้างชำรุด ยังไม่ได้รับการแก้ไข ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้การได้บางส่วนหรือทั้งหมด และสื่ออุปกรณ์ยังไม่สนับสนุนการให้บริการส่งเสริมการอ่านภายใน กศน. ตำบล
ข้อเสนอแนะ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พิจารณาดำเนินการสำรวจว่ามี กศน. ตำบลใดที่ยังขาดความพร้อมในด้านการบริการเพื่อนำไปสู่การวางแผน การพัฒนา สนับสนุน ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการต่อไป
ทั้งหมดนี่ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนของ สำนักงาน กศน. ที่ปรากฎอยู่ในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง.
ส่วนข้อมูลเชิงลึกในประเด็นต่างๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบมานำเสนอในโอกาสต่อไป
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94203-investigative06.html