ก้อนโตสุด 301 ล้าน! พฤติกรรม บ.ไชน่า สเตทฯ จ่ายเช็คเงินสด 8 ฉบับ หัวคิวบ้านเอื้ออาทร

190

อีกราย! พฤติกรรม บ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น จ่ายหัวคิวบ้านเอื้ออาทร ก้อนโตสุด 301 ล. แลกสัญญา 30,000 หน่วย ผจก.ซัด‘เสี่ยไก่-วัฒนา’ กับลูกน้อง พิจารณาเงินล่วงหน้าด้วยตัวเองลอตแรก 201 ล. ผู้รับเหมาจ่ายเช็คเงินสด 8 ฉบับให้ลูกน้อง‘เสี่ยเปี๋ยง’ แยกเป็น 2 ก้อน โอนเป็นทอดๆ แล้วถอนออกทั้งหมด

คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา จำคุกนักการเมือง และ เอกชน 6 ราย กับให้ริบเงิน จำนวน 1,323,006,750 บาท ที่เอกชน 11 ราย ได้โอนเป็นค่าตอบแทน (ค่าหัวคิว) ให้แก่ นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร ที่ปรึกษานายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เจ้าของโครงการ

เงินที่ศาลฎีกาฯสั่งริบ จำนวน 1,323,006,750 บาท เป็นเงินที่มาจากการกระทําความผิด

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลมารายงานแล้ว

1.รายบริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) จํานวน 135,000,000 บาท โดยจ่ายเช็คเงินสด 7 ฉบับ เข้าบัญชี น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว นางสุดา คุณจักร น.ส.เซฟอร์ร่า ซาลวาลา

2.รายบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) จํานวน 263,330,000 บาท จ่ายเป็น เช็ค 26 ฉบับ นำเข้าบัญชี น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา บัญชีบุคคลอื่นๆ

3.รายบริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) มีการจ่ายเงินค่าหัวคิว 180 ล้านบาท

4.รายกิจการร่วมค้าพีซีซี จ่ายค่าหัวคิวเกือบ 150 ล้านบาท

5.รายบริษัท ไชน่า หัวฟง คอนสตรัคชั่น (ไทยแลนด์) จํากัด จ่ายค่าหัวคิว 13,480,000 บาท เป็นเช็ค 11 ฉบับ ส่วน อีก 89 ล้าน บาท ไม่มีหลักฐานว่าเป็นเงินค่าตอบแทนการอนุมัติโครงการบ้านเอื้ออาทร

มาดูรายบริษัทไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จํากัด มีการมอบเงินให้จากการกระทําความผิดจํานวน 301,000,000 บาท (เช็คเงินสด 8 ฉบับ) เทียบผู้รับเหมารายอื่น รายนี้ถือว่ามากที่สุดในจำนวนเอกชน 11 ราย สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงข้อมูลจากคำพิพากษาศาลฎีกาฯดังนี้

กรณีตามฟ้องข้อ 2.5 รายบริษัทไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง (ประเทศ ไทย) จํากัด

ได้ความจากคําเบิกความของนายหลิน ชิง ฉาง ผู้จัดการโครงการของบริษัทไชน่าสเตทฯว่า บริษัทไชน่า สเตทฯ มีประสบการณ์ดําเนินงานก่อสร้างงานโครงการของหน่วยงานราชการ เช่น สะพานพระราม 8 และศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งที่ 2

เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2548 บริษัทได้ยื่นเสนอโครงการบ้านเอื้ออาทรต่อการเคหะแห่งชาติ ต่อมาจําเลยที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว) โทรศัพท์ติดต่อกับพยานอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลักดันโครงการให้ได้รับอนุมัติ หลังจากนั้นปลายเดือนตุลาคม 2548 จําเลยที่ 5 (น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง) และที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว) มาพบพยานที่บริษัท จําเลยที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว) ขอค่าใช้จ่ายในการผลักดันโครงการ อัตราร้อยละ 3 ต่อหน่วย พยานจึงนําเรื่องเข้าที่ประชุมของบริษัทและเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป ที่ประชุมจึงให้ต่อรองให้ไม่เกินอัตราร้อยละ 2.5 ต่อหน่วย และถือเป็นค่าที่ปรึกษาโครงการ โดยจะจ่ายเมื่อได้ทําสัญญากับการเคหะแห่งชาติและได้รับเงินล่วงหน้าแล้ว

ซัด ‘เสี่ยไก่’ พิจารณาจ่ายเงินจํานวนแรก210 ล้าน

จากนั้นพยานจึงติดต่อจําเลยที่ 5 (น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง) และที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว)อีกหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2548 บริษัทได้เข้าทําสัญญากับการเคหะแห่งชาติ จํานวน 30,000 หน่วย ในการอนุมัติเบิกเงินล่วงหน้า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 จําเลยที่ 1 (นายวัฒนา เมืองสุข) และที่ 3 (นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์) ได้พิจารณาจํานวนเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัทจํานวนแรกเป็นเงิน 210,000,000 บาท โดยบริษัทได้ขอเบิกเงินล่วงหน้า 5 ครั้ง

หลังจากนั้นช่วงระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 การเคหะแห่งชาติจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นเช็คธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ รวมเงินล่วงหน้าที่ได้รับเป็นจํานวนทั้งสิ้น 1,470,000,000 บาท โดยทุกครั้งจําเลยที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว)ได้โทรศัพท์แจ้ง ให้ทราบก่อนว่า การเคหะแห่งชาติอนุมัติจ่ายเงินล่วงหน้าแล้ว ให้เตรียมรับเงินจากการเคหะแห่งชาติ กับให้จ่ายเงิน

ตามที่ตกลงกันไว้

บ.จ่ายเช็คเงินสด 8 ฉบับ เข้าบัญชี 4 คน

เมื่อบริษัทได้รับเงินล่วงหน้าแล้ว วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 จึงได้สั่งจ่ายเช็คเงินสด จํานวน 8 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 301,000,000 บาท มอบให้จําเลยที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว) เช็คดังกล่าวนําไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชี จําเลยที่ 7 (นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา) จํานวน 200,000,000 บาท แล้วโอนต่อเข้าบัญชีจําเลยที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว) และไปเข้าบัญชีจําเลยที่ 4 (นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร) และที่ 8 (บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จํากัด) บางส่วน เช็คส่วนที่เหลือจํานวน 101,000,000 บาทนําไปเรียกเก็บเข้าบัญชีของ บุคคลอื่น 3 บัญชี ซึ่งมีการทยอยเบิกถอนเป็นเงินสดทั้งหมดออกจากบัญชี ตามคําให้การนายหลิน ชิง ฉาง และคําให้การนางไพลิน เนียรภาค

สรุปข้อมูลก็คือ บริษัทไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง (ประเทศ ไทย) จํากัด จ่ายเงิน 301 ล้านบาท เป็นเช็ค 8 ฉบับ มอบให้ น.ส.กรองทอง ลูกน้องนายอภิชาติ (เสี่ยเปี๋ยง) เงินจำนวนนี้แยกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก 200 ล้านบาทนำไปเข้า น.ส.รุ่งเรือง ลูกน้องอีกคน ส่วนหนึ่งโอนต่อเข้าบัญชี น.ส.กรองทอง , เสี่ยเปี๋ยง และ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จํากัด ก้อนที่สอง จํานวน 101 ล้านบาทเรียกเก็บเข้าบัญชีของบุคคลอื่น 3 บัญชี แล้วถอนออก

คดีนี้มีจำเลย 14 ราย ได้แก่ นายวัฒนา เมืองสุข ที่ 1 ,นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ ที่ 2 ,นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ ที่ 3 ,นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่ 4 ,นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง ที่ 5,นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว ที่ 6 ,นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา ที่ 7 ,บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จํากัด ที่ 8 ,บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จํากัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนล คอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด) ที่ 9 ,นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ที่ 10 ,บริษัทพาสทิญา ไทย จํากัด ที่ 11 ,บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ที่ 12 ,บริษัท พรินซิพเทค ไทย จํากัด ที่ 13 ,นางสาวสุภาวิดาหรือกัญญ์ปภัส คงสุข หรือ คงสุขถิรทรัพย์ ที่ 14

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94025-report00-30.html

- Advertisement -