เผยความคืบหน้าคดีบ้านพักราชการทหาร ป.ป.ช.อยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ใกล้สรุปแล้ว แต่ยังไม่ตั้งอนุฯไต่สวน ส่วนปม ‘เรืองไกร’ ร้องขอให้สอบตุลาการศาล รธน. สามารถไต่สวนได้ แต่ต้องเป็นประเด็นเรื่องรับเงิน-มีเจตนาช่วยเหลือหรือไม่ ลั่นไม่สามารถก้าวล่วงดุลพินิจได้
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2563 แหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยคดีบ้านพักราชการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จงใจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ ว่า เบื้องต้นเมื่อหนังสือร้องเรียนของนายเรืองไกรมาถึง ป.ป.ช. จะต้องนำมาพิจารณาเบื้องต้นว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่เคยมีผู้ร้องมายัง ป.ป.ช. แล้วหรือไม่
แหล่งข่าว ระบุว่า กรณีร้องเรียนบ้านพักราชการทหารนั้น เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์กรสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เคยยื่นเรื่องแก่ ป.ป.ช. ให้ไต่สวน พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายพลเกือบ 100 นาย ที่ยังรับราชการอยู่ และเกษียณราชการไปแล้วยังอยู่บ้านพักราชการทหาร เข้าข่ายรับผลประโยชน์มากกว่า 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2543 โดยเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยคืบหน้าไปมากใกล้จะสรุปแล้ว แต่ยังไม่ถึงกับการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยการตรวจสอบต้องดูข้อเท็จจริงประกอบระเบียบราชการทหารเกี่ยวกับเรื่องบ้านพักราชการ คือ บ้านพักของราชการที่อยู่กับบ้านพักรับรอง บ้านพักรับรองของกองทัพบก เป็นดุลพินิจของผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หรือผู้ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาในเรื่องความเหมาะสมหรือเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความปลอดภัย เป็นไปตามหลักการและระเบียบของกองทัพบก เป็นต้น
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ส่วนที่นายเรืองไกรยื่นเรื่องเข้ามา คือให้ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบอยู่คือ กรณีนายพลอยู่อาศัยในบ้านพักราชการทหาร โดยเป็นเรื่องที่ถูกร้องมาเมื่อต้นปี 2563 ดังนั้นนายเรืองไกรสามารถร้องได้ แต่จะมีมูลความผิดหรือไม่นั้น เป็นการพิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่งว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลพินิจถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ต้องเข้าไปดูก่อน เว้นแต่มีประเด็นอื่น โดยเรื่องดุลพินิจของตุลาการนั้นเป็นอิสระ จะไปก้าวล่วงมิได้ เพราะเป็นอำนาจ เว้นแต่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องไปเรียกรับเงิน หรือมีเจตนาจะช่วยเหลือก็ว่ากันอีกทีหนึ่ง แต่ต้องมีพฤติการณ์ พยานหลักฐาน แต่ถ้าอยู่ ๆ ไปกล่าวหาลอย ๆ อย่างนี้จะไม่เข้าองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็น ขัดกับเจตนา
เมื่อถามว่า ในเมื่อเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 จะนำคำร้องของนายเรืองไกรเข้าสู่ที่ประชุมได้เลยหรือไม่ แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นการเสนอเพื่อทราบ และต้องตรวจสอบก่อน จะวินิจฉัยเลยทันทีไม่ได้ แต่ต้องดูข้อเท็จจริงเพื่อดูว่าข้อกล่าวหามีอย่างไร เข้าองค์ประกอบ อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. หรือไม่ ถ้าอยู่เราจะดำเนินการตรวจสอบ โดยอาจมีหนังสือขอทราบรายละเอียดการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนั้นจะต้องขอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถไต่สวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรอิสระด้วยกันได้หรือไม่ แหล่งข่าว กล่าวว่า มีอำนาจตรวจสอบได้ ถ้ากระทำความผิด 3 ฐาน ได้แก่ ฐานทุจริต ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม รวมไปถึงในแง่ของจริยธรรมก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีหลักฐานชัดเจน แต่ในเรื่องดุลพินิจจะไปตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่ได้ อันนี้เป็นไปตามหลัก เว้นแต่จะมีประเด็นกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยมีลักษณะอย่างไรที่ว่ามิชอบ หรือมีประเด็นที่ไปเรียกรับเงินเพื่อว่าคดีอย่างนั้น อย่างนี้
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94021-isranews-668.html