ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา ‘อุไร อยู่เย็น’ อดีตเจ้าพนง.บัญชี อบต.บึงเสนาท นครสวรรค์ ปลอมเช็ค 16 ฉบับ ถอนธนาคารเบียดบังเป็นของตนเอง ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 พิพากษาลงโทษ จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 16 กระทง เป็น 80 ปี รับสารภาพ ลดโทษให้เหลือ 40 ปี ชดใช้ 3,712,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา นางอุไร อยู่เย็น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 5 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บึงเสนาท จังหวัดนครสวรรค์ ปลอมเช็คของอบต.บึงเสนาท จำนวน 16 ฉบับ นำไปถอนเงินจากธนาคารแล้วเบียดบังไปเป็นของตนเอง
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 157 ,161 , 266 (4) และ 268 ประกอบมาตรา 90 และ 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147, 161, 266 (4) และ 268 ลงโทษฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงไปตามมาตรา 91
จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 16 กระทง เป็นจำคุก 80 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คงจำคุก 40 ปี ให้จำเลยคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 3,712,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 161 ระบุว่า ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้
มาตรา 266 ระบุว่า ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้ (1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ (2) พินัยกรรม (3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ (4) ตั๋วเงิน หรือ (5) บัตรเงินฝาก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา 268 ระบุว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94011-invews.html