“…เมื่อคุณเป็นนายกฯไปแอบอ้างใช้สถานะอดีต ผบ.ทบ. ได้รับผลประโยชน์จากบ้านพักราชการทหาร ทั้งที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีก็มี (บ้านพักพิษณุโลก) จะอ้างว่าเป็นอดีต ผบ.ทบ. เลยได้ประโยชน์ตรงนี้ แต่รัฐธรรมนูญเขียนห้ามนายกฯมีลักษณะได้รับประโยชน์โดยมิชอบ แม้การได้มาอาจชอบด้วยวิธีการ แต่รัฐธรรมนูญเขียนห้าม จึงทำไม่ได้ คุณอาจทำถูกก็ได้ คือได้มาโดยชอบ แต่รัฐธรรมนูญเขาห้ามอ่ะ มันก็แย้งกับข้อห้าม ถือว่าไม่มีคุณสมบัติ ตรงนี้เป็นจุดตายได้เหมือนกัน…”
“ผลคำตัดสินออกมาก่อนค่อยว่ากัน อย่าไปคิดล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาก็ตัดสินใจง่ายอยู่แล้ว ผลออกมาอย่างไรก็ตามนั้น ทุกอย่างมีคิดไว้ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ไม่ได้กังวลอะไร แต่กังวลอย่างเดียวคือ การทำอย่างไรให้ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีความปลอดภัยและเดินไปข้างหน้าได้ เพราะเป็นแกนหลักของประเทศ”
เป็นบางห้วงบางตอนคำให้สัมภาษณ์ของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 หรืออีกไม่ถึง 2 วัน ก่อนศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย คดีอยู่อาศัยในบ้านพักราชการทหาร ตามคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ในวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ชี้ชะตาว่าจะยังดำรงตำแหน่งนายกฯอยู่หรือไม่?
ประเด็นนี้ ส.ส.ฝ่ายค้าน นำโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่
อธิบายข้อกฎหมายให้เข้าใจง่ายคือ ‘บิ๊กตู่’ ถูกร้องว่า อยู่อาศัยในบ้านพักราชการทหาร เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184 คือ ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ
นอกจากนี้ยังร้องให้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 160 (5) กรณีรัฐมนตรี (รวมถึงนายกฯ) ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ด้วย
ในช่วงเดือน พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง และนัดฟังคำวินิจฉัยคดีนี้ในวันที่ 2 ธ.ค. 2563 มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างในแวดวงการเมืองซุบซิบกันหนาหูว่า คดีนี้อาจส่งผลให้ ‘บิ๊กตู่’ ต้อง ‘ลงจากหลังเสือ’ หรือไม่?
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ‘คนต้นคิด’ ประเด็นนี้ จนส่งผลนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือ ส.ส. ผู้ได้รับฉายา ‘ดาวสภา’ เมื่อปี 2552 ที่มีบทบาทอย่างเผ็ดร้อนในสภาขณะนี้ คือ ‘หมอชลน่าน’ หรือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)
“ผม (นพ.ชลน่าน) เป็นคนเสนอให้ท่านประเสริฐ (จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย) เป็นคนอภิปรายประเด็นนี้ในสภาเอง”
เป็นคำยืนยันของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีการยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์
นพ.ชลน่าน ขยายความให้ฟังว่า ในช่วงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2563 พรรคเพื่อไทยมีการหารือกันภายในว่า จะให้สมาชิกคนใดอภิปรายประเด็นอะไรบ้าง แต่ต้องวางกรอบให้ชัดก่อนว่า เรื่องที่จะพูดต้องเป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานชัดเจน หากเป็นเรื่องกล่าวหาทุจริตต้องมีพยานหลักฐานชัด หรือกระทำผิดกฎหมายชัด มีหลักฐาน ถึงจะเรียกว่าเป็นการ ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ จริง ๆ
นพ.ชลน่าน ยอมรับตามตรงว่า นึกไม่ออกว่า ‘ปิ๊งไอเดีย’ เรื่องนี้จากอะไร แต่เท่าที่จำได้คืออ่านในรัฐธรรมนูญ แล้วพบว่า การอยู่บ้านพักราชการทหาร นายกรัฐมนตรีไม่อาจทำได้ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการได้ประโยชน์ เมื่อเห็นดังนั้นจึงเสนอให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ที่ต่อมาเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็น ‘หัวหอก’ อภิปรายเรื่องนี้ในสภากินเวลาหลายนาทีด้วยกัน ก่อนจะร่วมกันเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องแก่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
“ในการอภิปรายของท่านประเสริฐ มีการพูดถึงการรับผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากทางราชการโดยมิชอบ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 เลยกลายเป็นเรื่องลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯด้วย เลยอาศัยช่องทางนี้ ท่านประเสริฐจึงนำเรื่องนี้อภิปรายในสภา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ อยู่อาศัยบ้านพักแห่งนี้ตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. จนกระทั่งเกษียณอายุราชการก็ยังอยู่ จนมีการโอนบ้านพักในสถานที่ราชการแห่งนั้น ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ฯ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย”
หลังจาก ‘พลาดหวัง’ จากคดีแรกที่เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะตำแหน่งของนายกฯ โดยให้ตีความตำแหน่งหัวหน้า คสช. คือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ โดยท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยกคำร้องนี้ไป โดยเห็นว่าหัวหน้า คสช. มิใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ นพ.ชลน่าน มองว่า หลังอย่างเรื่องนั้น ถ้าเทียบกับประเด็นบ้านพักราชการทหาร หากตีตามตัวบทกฎหมาย เทียบเคียงกับกรณีของนายสมัคร (สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี) ที่เป็นลูกจ้างของรายการสถานีโทรทัศน์ เขาเห็นว่ามีพฤติการณ์ ‘ใกล้เคียงกัน’ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากประโยชน์จากทางราชการ จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
“ถ้าดูตามตัวบทกฎหมาย ช่องทางที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัย คาดหวังให้วินิจฉัยว่าเป็นไปตามคำร้อง เพราะคุณ (พล.อ.ประยุทธ์) ได้รับผลประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นได้บ้านพัก ใช้ค่าน้ำค่าไฟฟรี หรืออะไรต่าง ๆ”
นพ.ชลน่าน ออกตัวก่อนว่า “ไม่ขอก้าวล่วงคำวินิจฉัย” แต่ประเมินผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า อยู่ที่การตีความ ไม่ว่าจะออกมาชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ต้องมีการอธิบายเหตุผลในคำวินิจฉัยส่วนกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ราย
สำหรับประเด็นที่สังคมต้อง ‘จับตา’ และเรียกได้ว่า ‘จุดตาย’ ของเรื่องนี้ นพ.ชลน่าน ระบุว่า ในคำร้องของฝ่ายค้านมี 2 เรื่องคือ 1.การรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐโดยมิชอบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ประกอบมาตรา 186 และ 2.ผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
“โดยเฉพาะประเด็นเรื่องจริยธรรม คือคุณสมบัติของคนมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ถ้าคุณไปรับประโยชน์อย่างนี้ หมายความว่าคุณไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ว่าด้วยคนมาเป็นนายกฯ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เผอิญถ้อยคำนี้ถูกเขียนในมาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญตราขึ้น และมีผลบังคับใช้กับรัฐสภาด้วย ดังนั้นถ้ามีลักษณะต้องห้ามแบบนี้ ถือว่าเป็นการผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นลักษณะต้องห้าม”
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และอดีต ผบ.ทบ. อย่าง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง) และ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันอย่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ จะส่งคำชี้แจงแก่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ระเบียบของกองทัพบก เปิดช่องให้ ‘อดีต ผบ.ทบ.’ อยู่อาศัยในบ้านพักราชการได้ แต่ นพ.ชลน่าน มองอีกมุมว่า “เรายื่นคำร้องเขาในสถานะนายกฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่สถานะอดีต ผบ.ทบ.”
“ผมคาดไม่ได้หรอกว่าศาลจะมีผลคำพิพากษาออกมามุมไหน พูดไปอาจเข้าข่ายวิจารณ์ศาล แต่ถ้าท่าน (ศาล) ให้เหตุผลว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลสำคัญ ทำประโยชน์กับแผ่นดิน และมียศพลเอกนำหน้า เป็นอดีต ผบ.ทบ. ด้วย สามารถเขียนได้หมดแหละ แม้ว่าในระเบียบของกองทัพบกจะไม่เขียนว่าเป็นบ้านพักรับรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ตาม”
“เราต้องพยายามแยกให้เห็นว่า อยู่บ้านพักทหารได้ เพราะระเบียบกองทัพบกเขียนไว้ว่า อดีต ผบ.ทบ. อยู่ได้ แต่เมื่อมาเป็นนายกฯแล้ว คุณสามารถอยู่ได้โดยอ้างว่าอยู่ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. ไม่ใช่ฐานะนายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งทับซ้อนกันอยู่ ผมเชื่อว่าเขาอ้างแบบนี้ได้นะ แต่ประเด็นเรื่องจริยธรรมคือ เราไม่ได้ร้องอดีต ผบ.ทบ. แต่เราร้องผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะต้องมีมาตรฐานจริยธรรมตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญด้วย”
นพ.ชลน่าน บอกอีกว่า เมื่อคุณเป็นนายกฯไปแอบอ้างใช้สถานะอดีต ผบ.ทบ. ได้รับผลประโยชน์จากบ้านพักราชการทหาร ทั้งที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีก็มี (บ้านพักพิษณุโลก) จะอ้างว่าเป็นอดีต ผบ.ทบ. เลยได้ประโยชน์ตรงนี้ แต่รัฐธรรมนูญเขียนห้ามนายกฯมีลักษณะได้รับประโยชน์โดยมิชอบ แม้การได้มาอาจชอบด้วยวิธีการ แต่รัฐธรรมนูญเขียนห้าม จึงทำไม่ได้
“คุณอาจทำถูกก็ได้ คือได้มาโดยชอบ แต่รัฐธรรมนูญเขาห้ามอ่ะ มันก็แย้งกับข้อห้าม ถือว่าไม่มีคุณสมบัติ ตรงนี้เป็นจุดตายได้เหมือนกัน”
แต่ นพ.ชลน่าน ยอมรับว่า คนตีความไม่ใช่เรา แต่คือศาล ท่านจะคิดเหมือนเราหรือไม่ ตีความเหมือนเราหรือไม่ อันนี้ยากมากที่จะทราบได้ พูดง่าย ๆ ถ้าจะตีความเพื่อ ‘แก้ไขสถานการณ์ของประเทศ’ ต้องมีคำอธิบายที่ศาลอธิบายได้ สาธารณชนรับทราบได้ และไม่มีใครโต้แย้ง
เมื่อถามว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ต่อสู้กันด้วยข้อกฎหมาย แต่ต้องสู้กันในเรื่องการตีความด้วยใช่หรือไม่?
นพ.ชลน่าน ตอบทันทีว่า “ถูกครับ” ก่อนเปิดอีกประเด็นว่า การตีความถือเป็นจุดอ่อนในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเป็นดุลพินิจ หากใครได้อ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคท้าย บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ต้องลดการใช้ดุลพินิจ ลดการใช้คำว่าระบบอนุญาต ระบบกรรมการ สิ่งเหล่านี้เขียนในรัฐธรรมนูญเลย
เขายังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่อยากให้เป็น จะได้เป็นทางออกของประเทศ เราต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศไม่มีทางออก เราไม่ได้โกรธ หรือเกลียดนายกฯ แต่ 6 ปีที่อยู่มา ผลงานที่ท่านทำ สั่งสมเรื่องความแตกแยกขัดแย้ง เป็นข้อเรียกร้องหนึ่งของผู้ชุมนุม อีกซีกอาจปกป้องท่าน แต่อีกซีกที่เรียกร้อง เขามีความชัดเจนว่านายกฯคือปัญหา ทำให้องคาพยพต่าง ๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ไปปนเปื้อนกับสถาบันฯ ดึงสถาบันฯมาอยู่กับการเมือง มาเป็นคู่ขัดแย้ง สิ่งนี้น่ากลัวมาก
“ผมเลยคาดหวังว่า ถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นปัญหา จะด้วยข้อกฎหมายก็ได้ ทางออกตรงนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุด เป็นไปตามข้อกฎหมาย ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครสูญเสีย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เสียหาย เพราะพ้นตำแหน่งเนื่องจากคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้าม มันน่าจะเป็นอย่างนั้น ส่วนความคาดหวังนี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ไม่กล้าที่จะตอบเหมือนกัน”
ประเด็นถัดมาที่น่าสนใจคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลกระทบต่อ ‘นายทหารระดับสูง’ ที่มีบ้านพักในสถานที่ราชการด้วยหรือไม่ อย่างไร นพ.ชลน่าน ตอบทันทีว่า “ต้องมี”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า จริง ๆ มีผลกระทบไปถึงนายทหารคนอื่นเยอะเลย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำวินิจฉัยของเรา ยกตัวอย่าง พล.ท.พงศกร รอดชมภู (อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่) ท่านได้สิทธิตรงนั้น พอมีประเด็นนี้ ท่านต้องรีบย้ายตัวเองออกเลย มีนายทหารหลายคน เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ หรือสิ่งที่สังคมกำลังตรวจสอบน่าจะไม่ชอบ ท่านใช้ดุลพินิจของท่านตัดสินใจ แม้จะได้สิทธิว่าเป็นบ้านพัก บ้านรับรอง อาจถือเป็นสิทธิ บ้านรับรองสำหรับผู้กระทำคุณประโยชน์จากแผ่นดิน อันนี้อ้างได้แต่พูดยากมาก เพราะคำว่ารับรองกับอยู่ประจำ ต้องไปสู้กันตรงนี้ การรับรองหมายถึงให้อยู่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ลักษณะอย่างนี้เป็นการอยู่ประจำ ถ้าสู้เชิงข้อกฎหมายต้องตีความตรงนี้ จะบอกว่าบ้านพักรับรองอยู่ประจำไม่ได้ ต้องตีความกันอย่างนี้ และเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนคำอธิบายในส่วนนี้ด้วย
สำหรับผลทางลบที่สุดในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นพ.ชลน่าน เชื่อว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะด้วย เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจะมีการเปิดสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ‘ขยักแรก’ โหวตตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง แต่หากยังหาทางออกไม่ได้ อาจต้องใช้ ‘ขยักสอง’ ในการใช้เสียงทั้ง 2 สภาไม่ต่ำกว่า 500 เสียงยื่นญัตติให้เสนอชื่อ ‘คนนอก’ โหวตเป็นนายกฯได้
อย่างไรก็ดีหาก ‘บิ๊กตู่’ รอดพ้นคำวินิจฉัยดังกล่าวมาได้ ฝ่ายค้านยังเตรียม ‘ดาบสอง’ ไว้รออยู่ นั่นคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย นพ.ชลน่าน ระบุว่า น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 หรือเร็วที่สุดที่ทำได้คือในเดือน ธ.ค. 2562 เลย เพื่อเป็น ‘ทางออก’ ให้กับนายกฯ
“ตอนมีม็อบเกิดขึ้นช่วงแรกเราเคยมีข้อเสนอให้นายกฯแล้ว แต่ท่านไม่แก้ ท่านไม่เชิญเด็ก ๆ มาคุยกัน มาบันทึกข้อตกลง ตอนนั้นเด็กยังไม่เรียกร้องนายกฯให้ลาออก แต่ท่านไม่สนใจ สุดท้ายได้โควิด-19 ช่วยชีวิต พอมีการเปิดสภาอีกครั้ง เราเสนออีกว่า ทำไมไม่คุยกับเด็กโดยตรง ท่านเป็นคู่ขัดแย้ง และเป็นผู้บริหารด้วย แต่พอไม่คุย เด็กยกระดับข้อเรียกร้องไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งทะลุเพดาน รื้อหลังคาอะไรไปหมดแล้ว”
นพ. ชลน่าน บอกว่า ถ้านายกฯยังอยู่ในตำแหน่ง เราจะมีการอภิปราย เพราะหากปล่อยให้เกิดปัญหาอย่างนี้ต่อไป นายกฯเป็นจุดสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหา เราจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯด้วยเบื้องต้นคุยกับทีมงานกันว่า จะอภิปรายนายกฯคนเดียว หรือรัฐมนตรีอื่นด้วย กำลังตัดสินใจกันอยู่
ส่วนประเด็นที่จะอภิปรายนั้น นพ.ชลน่าน ขอ ‘อุบไต๋’ ไว้ก่อนไม่อย่างนั้นจะเป็นการ “เปิดเผยข้อสอบ”
ส่วนประเด็นการตั้ง ‘คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์’ ตามดำริของนายกรัฐมนตรี ที่โยนเผือกร้อนให้ฝ่ายสภาเป็นผู้ดำเนินการนั้น นพ.ชลน่าน ระบุว่า ประธานวิปฝ่ายค้าน (นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย) เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยไปประชุม โดยจะมีการตั้งคณะขึ้นมาคณะหนึ่ง มี 21 ราย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ราย ที่อาจเชิญอดีตนายกฯมา ส่วนที่เหลือเป็นตัวแทนของแต่ละพรรค แต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 2 ราย อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทย แต่ต้องหารือกันในนามของพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย เบื้องต้นทัศนะของประธานวิปฝ่ายค้าน ค่อนข้างมองบวก คือถ้าการเข้าร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ ไม่มีผลเสียใด ๆ การเข้าไปร่วมคิดร่วมทำด้วยก็ไม่เสียหาย
ส่วนการที่ไม่มีตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนที่กำลังเรียกร้องอยู่ขณะนี้มีผลหรือไม่มีผลอย่างไร นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า “มีผล” เพราะกลุ่มเยาวชนเป็นผู้เสนอข้อเรียกร้อง ต้องการหาทางออกให้กับประเทศ หากไม่มีตัวแทนจากพวกเขา คณะกรรมการชุดนี้จะตอบข้อเรียกร้องเหล่านั้นอย่างไร
“คณะกรรมการชุดนี้ เหมือนไปทำหน้าที่แทนนายกฯ ไม่อยากเรียกว่ากรรมการปรองดอง มันเหมือนกับว่าอีกฝ่ายไม่ได้อะไรเลย ถ้าหากคณะกรรมการชุดนี้เสนอทางออก บอกให้นายกฯลาออก กล้าเสนอหรือไม่ อาจเป็นข้อดีคือมีสถานที่พูดคุยกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือบทสรุปมีผลต่อการแก้ปัญหาหรือไม่ อันนี้พูดยาก เพราะมีคนเคยทำมาแล้วตั้งหลายชุด แต่ไม่เคยได้ผลเลย”
ทั้งหมดคือความเห็นเกี่ยวกับคดีบ้านพักราชการทหารในทัศนะของ ‘หมอชลน่าน’ ในฐานะ ‘คนต้นคิด’ ชงประเด็นให้เลขาธิการพรรคเพื่อไทยอภิปรายในสภา จนนำไปสู่คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 2 ธ.ค. โดยคาดว่ามีกลุ่มมวลชนม็อบราษฎร ไปห้อมล้อมบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ตามการนัดหมายของแกนนำด้วย?
ส่วนผลคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด!