นบข.อนุมัติขยายกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน ใช้ชดเชย ‘ส่วนต่าง’ หลังราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ‘บิ๊กตู่’ กำชับ ‘โปร่งใส-สุจริต-ตรวจสอบ’
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า นบข. มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 เพิ่มอีก 28,711.29 ล้านบาท เป็น 46,807.35 ล้านบาท โดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป
สำหรับสาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการฯ เนื่องจากในช่วงที่มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างงวดแรกๆนั้น ข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำมาก ทำให้รัฐบาลต้องมีภาระจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคามากขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินให้กับชาวนาที่ลงทะเบียนไว้ให้ครบทุกคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกปรับตัวดีขึ้น และเชื่อว่าการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างงวดต่อๆไปจะใช้เงินไม่มากแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 ครม.มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯและมาตรการคู่ขนาน วงเงิน 115,588.60 ล้านบาท ในจำนวนนี้วงเงินโครงการประกันรายได้ 23,495.71 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 538.34 ล้านบาท และวงเงินชดเชยส่วนต่าง ซึ่งใช้แหล่งเงินทุนจากธ.ก.ส. 22,957.37 ล้านบาท และครม.อนุมัติเงินชดเชยส่วนต่างงวดที่ 1-8 เป็นเงิน 18,096.06 ล้านบาท
น.ส.รัชดา กล่าวว่า นบข.ยังมอบหมายให้ธ.ก.ส.และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้ และงบประมาณให้เป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พร้อมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปริมาณผลผลิต และประมาณการวงเงินที่ใช้ เพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วน
น.ส.รัชดา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันรัฐบาลดูแลคนทั้งประเทศโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร กำชับทุกฝ่ายให้ช่วยกันดูแล ให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส สุจริต และสามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างเป็นระบบให้ไทยมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เพื่อเกษตรกรได้ประโยชน์ และรัฐบาลก็สามารถลดภาระด้านงบประมาณ ทำให้มีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า
“ที่ประชุมเน้นย้ำถึงการเร่งรัดพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอม และข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาคู่แข่งอย่างเวียดนามได้เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีคุณภาพดีเท่ากับไทย แต่คุณภาพก็เริ่มใกล้เคียงกันแล้ว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือกันว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ข้าวไทยส่งออกไม่ได้” น.ส.รัชดากล่าว
นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ยังให้มีการติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าว โดยขอให้ทุกหน่วยงานต้องรายงานต่อที่ประชุมทุก 3 เดือน เริ่มตั้งแต่การประชุมนัดต่อไป
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews-news/93846-gov-rice-Income-insurance-farmer-news.html