รวมรายได้ล่าสุด 1,013 ล้าน! ข้อมูล 3 เอกชนกลุ่มเดียวกัน ขายสารทำถนนยางรบ.’บิ๊กตู่’

390

“….ในช่วงเดือนก.ค.2562 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำข้อเท็จจริงกรณี บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสารผสมเพิ่มน้ำยางพารานำไปใช้ทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา ในช่วงแรกจำนวน 3 ราย ถูกตรวจสอบพบว่าเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการผูกขาดในการออกใบอนุญาตให้เอกชนกลุ่มนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว …น่าสนใจว่า ปัจจุบันผลประกอบการทางธุรกิจของ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด เป็นอย่างไรบ้าง? …”

ประเด็นตรวจสอบการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ผ่านการรับรองสารผสมเพิ่มน้ำยางพารา นำไปใช้ทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ วงเงินนับหมื่นล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของ คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่มเติม ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้รับผิดชอบ นั้น

ในช่วงเดือนก.ค.2562 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำข้อเท็จจริงกรณี บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสารผสมเพิ่มน้ำยางพารานำไปใช้ทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา ในช่วงแรกจำนวน 3 ราย ถูกตรวจสอบพบว่าเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการผูกขาดในการออกใบอนุญาตให้เอกชนกลุ่มนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว

ส่งผลทำให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องสั่งการให้ กยท.ไปทบทวนพิจารณาเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตรับรองให้กับบริษัทจำแหน่ายสารผสมเพิ่มน้ำยางพารา โดยการเพิ่มจำนวนเอกชนที่ได้รับใบอนุญาต เพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาดการขายสารผสมเพิ่มน้ำยางพาราดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน มีจำนวนเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวัสดุนายางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม แล้วจำนวน 13 ราย (ดูเอกสาประกอบ)

น่าสนใจว่า ปัจจุบันผลประกอบการทางธุรกิจของ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด เป็นอย่างไรบ้าง?

สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. 2563 เอกชนทั้ง 3 ราย ได้นำส่งงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2562 ให้กรมพัฒนาธุรกิจรับทราบแล้ว ปรากฎข้อมูลดังนี้

บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด

แจ้งว่า มีรายได้ จากการขายหรือการให้บริการ 456,126,398.05 บาท รายได้อื่น 1,874,540.50 บาท รวมรายได้ 458,000,938.55 บาท มีรายจ่ายรวม 439,030,261.00 บาท กำไรสุทธิ 12,214,348.89 บาท

จากเดิมปี 2561 แจ้งว่ามีรายได้รวม 524,865,432.47 บาท รวมรายจ่าย 473,553,516.16 กำไรสุทธิ 38,359,585.11 บาท

บริษัท สยามนวกรรม จำกัด

แจ้งว่า มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 485,826,211.55 บาท รายได้อื่น 538,310.34 บาท รวมรายได้ 486,364,521.89 บาท มีรายจ่ายรวม 347,287,545.89 บาท กำไรสุทธิ 134,989,066.03 บาท

จากเดิมปี 2561 แจ้งว่ามีรายได้รวม 328,358,295.06 บาท รวมรายจ่าย 224,694,261.17 บาท กำไรสุทธิ 100,110,684.27 บาท

บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด

แจ้งว่ามีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 68,165,700.32 บาท รายได้อื่น 492,171.03 บาท รวมรายได้ 68,657,871.35 บาท มีรายจ่ายรวม 65,638,129.70 บาท กำไรสุทธิ 2,224,589.79 บาท

จากเดิมปี 2561 แจ้งว่า มีรายได้รวม 73,987,551.40 บาท รวมรายจ่าย 68,550,508.39 บาท กำไรสุทธิ 4,154,674.45 บาท

นับรวมรายได้ปี 62 ของ 3 บริษัท อยู่ที่ 1,013 ล้านบาท รายได้บริษัท สยามนวกรรม จำกัด เพิ่มขึ้นมากสุดกว่า 158 ล้านบาท บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด รายได้ลดลงกว่า 66 ล้านาท

สำหรับข้อมูลเอกชนทั้ง 3 ราย นั้น สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้วว่า บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2534 ทุนปัจจุบัน 25,000,000 บาท แจ้งที่ตั้ง 75/1-7 หมู่ที่ 5 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก

ปรากฎชื่อ นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ นางสาว กัญญารัตน์ เกิดประดิษฐ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เม.ย.2563 นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ ถือหุ้นใหญ่สุด

บริษัท สยามนวกรรม จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2535 ทุนปัจจุบัน 125,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 71/30-31 หมู่ที่ 5 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

แจ้งประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก รับจ้างผสมเคมี

ปรากฎชื่อ นาย รุ่งเรือง ชูชาติ นางสาว สรัญญา อรรถปภัศร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2563 นาง บุษยาพร วิริยะศิริ ถือหุ้นใหญ่สุด

บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 21 กรกฎาคม 2549 ทุนปัจจุบัน 25,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 71/29 หมู่ที่ 5 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

แจ้งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพาราและพลาสติก

ปรากฎชื่อ นาง ลักขณา รักษ์บงกชกุล นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2563 นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ ถือหุ้นใหญ่สุด

จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย แจ้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ขณะที่กรรมการผู้ถือหุ้น บางบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด มีนามสกุลเดียวกับ นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด เป็นต้น

ขณะที่ นายชัยอรุณ วุฒิชาญ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโพลิเมอร์ฯ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของทั้ง 3 บริษัท และการยื่นเรื่องขอรับรองมาตราสารผสมน้ำยางพารา ที่ใช้ทำถนนตามที่ปรากฎเป็นข่าว

นายชัยอรุณ ชี้แจงว่า ตนได้เปิดบริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น เมื่อประมาณปี 2533-2534 ขณะนั้น มีผู้ถือหุ้นประมาณ 4 ราย หลังจากทำธุรกิจไปช่วงหนึ่ง ก็เกิดปัญหาขัดแย้งกัน จึงไปเปิดบริษัทสยามนวกรรมขึ้นมาทำธุรกิจรวมกับนายรุ่งเรือง ชูชาติ แต่ผ่านไปพอเวลาผ่านไป บริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น เกิดปัญหาธุรกิจขึ้น ตนก็เลยกลับมาเทคโอเวอร์บริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น เพื่อทำธุรกิจใหม่อีกครั้ง

ส่วนที่มาของบริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด เกิดขึ้นจากการที่มีเพื่อนชวนร่วมหุ้นทำธุรกิจบริษัทยางอัด ซึ่งตนก็ไปร่วมหุ้นทำด้วย เพราะต้องการจะขยายกิจการ แต่เมื่อทำไปได้สักระยะ เพื่อนก็ทิ้งกิจการไป ตนเลยต้องเข้าไปดูแลธุรกิจบริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ต่อ

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าของบริษัท และการยื่นเรื่องขอรับรองมาตรฐานสารผสมน้ำยางพารา นั้น

นายชัยอรุณ ยืนยันว่า น้ำยางพาราของบริษัทฯ เป็นนวัตกรรมที่ถูกต้องตามมาตรฐานผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี มาตรฐานการขึ้นทะเบียนรับรองน้ำยางแบบเก่าที่ทำกันมานั้น นอกจากบริษัทในเครือของสยามโพลิเมอร์ทั้ง 3 บริษัทแล้ว ยังมีบริษัทอื่นอีกจำนวน 7 บริษัทที่เข้าหลักเกณฑ์ด้วย

แต่ในปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานใหม่ขึ้นมา ว่าจะต้องมีการตรวจโรงงานและตรวจลงลึกไปถึงขั้นตอนการทำน้ำยางด้วยว่ามีกระบวนการผลิตน้ำยางจริงหรือไม่ ทำให้บริษัทที่ผ่านมาตรฐานการขึ้นทะเบียนน้ำยางในปัจจุบัน มีเพียงแค่ 3 บริษัทในเครือสยามโพลิเมอร์เท่านั้น

“พูดง่ายๆถ้าตามมาตรฐานเก่า คุณมาซื้อน้ำยางจากบริษัทผมไป คุณก็สามารถเอาไปขึ้นทะเบียนได้แล้ว โดยไม่มีการตรวจสอบในรายละเอียด แต่ถ้าเป็นมาตรฐานใหม่นั้น เขาจะต้องตรวจลงลึกไปด้วยว่าบริษัทได้มีการทำน้ำยางกันจริงหรือไม่”

นายชัยอรุณ ยังระบุด้วยว่า ส่วนที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวอ้างว่า มีบริษัทอื่นๆได้รับการรับรองนอกเหนือจาก 3 บริษัทของตนด้วยนั้น เข้าใจว่าคงหมายถึงบริษัทที่ได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนน้ำยางตามมาตรฐานเก่าที่ไม่ได้มีการตรวจโรงงานด้วย

ทั้งนี้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายชัยอรุณ ยังได้นำตัวอย่างน้ำยางพารา มาให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบคุณภาพ โดยการทดลองคนน้ำยางของบริษัทที่มีชื่อว่าน้ำยาง NRPB กับน้ำยางธรรมดา ที่จะนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ โดยเมื่อผสมน้ำยางกับปูนซีเมนต์ไปแล้วพบว่าน้ำยาง NRPB สามารถผสมเข้ากับปูนซีเมนต์ได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ว่าน้ำยางธรรมดาเมื่อผสมกับปูนซีเมนต์ ปรากฏว่าปูนซีเมนต์จับตัวเป็นก้อน (ดูภาพประกอบ)

นายชัยอรุณ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “ข้อมูลและที่ไปที่มาของเรื่องนี้ ที่ถูกนำมาอภิปรายในรัฐสภานั้น น่าจะมาจากกรณีที่มีบริษัทน้ำยางแห่งหนึ่ง ที่น่าจะเคยซื้อน้ำยางแล้วไปขายต่อให้กับบริษัทซึ่งเป็นผู้รับเหมาในการทำถนนให้กับกรมชลประทาน มาร้องเรียนว่ามีการผูกขาดกัน”

“เพราะในช่วงหลังกรมชลประทานได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการก่อสร้างถนนใหม่ โดยยึดเอามาตรฐานของน้ำยางที่ใช้ทำถนนว่าจะต้องมีมาตรฐานแบบเดียวกับที่คณะกรรมการฯของกระทรวงเกษตรฯ กำหนด ก็ส่งผลทำให้บริษัทรับเหมาทำถนนที่เคยมีสัญญาซื้อขายกับทางกรมชลประทานนั้น ไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายต่อได้ และทำให้บริษัทที่ขายน้ำยางให้กับบริษัทรับเหมาแห่งนี้เสียผลประโยชน์เช่นกัน เพราะไม่สามารถไปเบิกเงินกับทางบริษัทผู้รับเหมาได้แล้ว ดังนั้น ผู้ที่เสียผลประโยชน์ก็เลยเอากรณีดังกล่าวนั้นไปร้องต่อนายสุทินว่ามีการผูกขาดกันเกิดขึ้น” นายชัยอรุณระบุ

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/93833-invews00-4.html

- Advertisement -