“…ทั้งนี้ กลไกการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ไฮเปอร์มาร์ท หลังการควบรวมโลตัส ยังคงมีการแข่งขันสูง เพราะผู้เล่นในตลาดยังอยู่ครบ และ ทุกรายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีเครือข่าย และมีศักยภาพสูงไม่แพ้เครือซีพี และมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะแข่งขัน อาทิ เครือเซ็นทรัล ก็มีธุรกิจที่แข็งแกร่ง เป็นเจ้าของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเซ็นทรัลรีเทลเป็นเจ้าของแฟมิลี่มาร์ท ซึ่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม บีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภัคดีที่เป็นเจ้าของบิ๊กซี ที่มีความแข็งแกร่ง และยังมีกลุ่มสหพัฒน์ ที่ในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค หลายคนอาจนึกถึงบริษัทข้ามชาติ แต่ยุคนี้ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่คือบริษัทคนไทยอย่างเครือสหพัฒน์ ที่แต่ละปีมียอดขายหลักแสนล้านบาท มีสินค้าหลากหลายตามต้องการ และมีความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีก เช่น ลอว์ สัน และ 108 ช็อป ซูรูฮะ และการขยายช่องทางทีวีช้อปปิ้ง…”
ในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจถดถอย ข่าวดิสนีย์เตรียมปลดพนักงาน 32,000 คน มากกว่าเคยประกาศก่อนหน้านี้ถึง 4,000 คน จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ข่าวการล้มเลิกดีลซื้อขายขนาดใหญ่ เช่น LVMH บริษัทแม่ของหลุยส์ วิตตอง ประกาศยกเลิกสัญญาซื้อกิจการของบริษัททิฟฟานี มูลค่า 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์ จากพิษเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย ยังคงมีข่าวดีที่ดีลการควบรวมเทสโก้ที่คุยกันมาก่อนโควิดยังคงเดินหน้า แม้เจอผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ทำให้ตัวเลขยอดขายลดลง และบริษัทแม่เทสโก้ยังคงประกาศขายเทสโก้ในต่างประเทศเพื่อดึงเงินลงทุนกลับมามุ่งเน้นในสหราชอาณาจักร ทำให้พนักงานและคู่ค้าเทสโก้ยังพอคลายกังวลได้ว่า หากดีลการซื้อขายกิจการสำเร็จในประเทศไทย จะยังคงรักษาจำนวนสาขา การจ้างงาน และรักษาช่องทางการจัดจำหน่ายของคู่ค้าไว้ได้
อย่างไรก็ดี การที่ ซีพี ควบรวม เทสโก้ วงเสวนาวิชาการอาจมีความกังวลบ้างเกี่ยวกับกลไกการแข่งขันถูกทำลาย และมีการพูดถึง ผลกระทบต่อกลไกการแข่งขันว่าจะมีน้อยลงหรือไม่ แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาจากมุมมองผู้แข่งขันในปัจจุบัน และคนที่ทำธุรกิจนี้อยู่จริงในตลาด จะใช้ความรู้สึกมาตัดสินไม่ได้ เพราะมีขั้นตอน และเงื่อนไข ที่ภาคธุรกิจไม่ว่าในประเทศหรือระดับนานาชาติต้องมีกติกา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และการประเมินผู้เล่นในตลาดต้องยอมรับว่า ทุกรายยังคงแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ กลไกการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ไฮเปอร์มาร์ท หลังการควบรวมโลตัส ยังคงมีการแข่งขันสูง เพราะผู้เล่นในตลาดยังอยู่ครบ และ ทุกรายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีเครือข่าย และมีศักยภาพสูงไม่แพ้เครือซีพี และมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะแข่งขัน อาทิ เครือเซ็นทรัล ก็มีธุรกิจที่แข็งแกร่ง เป็นเจ้าของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเซ็นทรัลรีเทลเป็นเจ้าของแฟมิลี่มาร์ท ซึ่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม บีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภัคดีที่เป็นเจ้าของบิ๊กซี ที่มีความแข็งแกร่ง และยังมีกลุ่มสหพัฒน์ ที่ในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค หลายคนอาจนึกถึงบริษัทข้ามชาติ แต่ยุคนี้ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่คือบริษัทคนไทยอย่างเครือสหพัฒน์ ที่แต่ละปีมียอดขายหลักแสนล้านบาท มีสินค้าหลากหลายตามต้องการ และมีความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีก เช่น ลอว์ สัน และ 108 ช็อป ซูรูฮะ และการขยายช่องทางทีวีช้อปปิ้ง
จะว่าไปแล้ว เครือสหพัฒนพิบูล มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ กระจายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมากกว่า 30,000 รายการจากศูนย์กระจายสินค้าใหญ่ที่ชลบุรีไปยังช่องทางการขายกว่า 72,570 ช่องทางทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านค้าปลีกค้าส่งแบบดั้งเดิมหรือโชห่วย 65,650 ร้านค้า และกลุ่มโมเดิร์นเทรด ซูเปอร์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางพิเศษอีก 6,920 ร้านค้า
และในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ มีบริษัทในเครือสหพัฒน์กว่า 200 กว่าบริษัท สามารถผลิตสินค้าหลากหลายประเภทมากกว่า 1,000 แบรนด์ ได้แก่ กลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับห้องน้ำ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและไอที กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเท้า กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับครัวเรือน และกลุ่มเครื่องหนัง ดังนั้น นักวิชาการที่กังวลว่า การแข่งขันจะน้อยลง คงต้องเลิกประเมินความสามารถของบริษัทไทยขนาดใหญ่ต่ำเกินไป เพราะผู้เล่นในตลาดค้าปลีกทุกราย มีศักยภาพ และมีช่องทางนำเสนอสินค้าและบริการลูกค้าอีกมากมาย
เร็วๆนี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ. ดร. วิเลิศ ภูริวัชร ผศ. ดร. ดนุพล หุ่นโสภณ นายชวิษฐ์ สุวรรณพิมลกุล อ.พีรพัฒน์ เชาวนวิรัตน์ เผยผลการวิจัยความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต พร้อมแนะนำยุทธศาสตร์เทสโก้โลตัสหลังควบรวมที่ต้องเน้นความยั่งยืนที่สร้างงาน สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจพร้อมการเติบโตของชุมชนสอดคล้องเงื่อนไขคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.)พร้อมชี้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมค้าปลีกทุกรายแข็งแกร่ง มีศักยภาพ การแข่งขันยังคงเข้มข้น ผู้บริโภค คู่ค้าได้ประโยชน์
รศ. ดร. วิเลิศ ภูริวัชร กล่าวว่า ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตมีความสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย เป็นกลไกการตลาดตัวหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนทั้งตลาดสินค้า และตลาดแรงงานทุกมิติ แม้ในยามวิกฤตโควิด-19 แนวโน้มการขยายตัวธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตยังเติบโตต่อเนื่อง ไฮเปอร์มาร์เก็ตเปรียบเป็นเส้นเลือดใหญ่กระจายเลือดหล่อเลี้ยงอวัยวะทุกส่วน สนับสนุนเสาหลักของประเทศอย่าง ‘เกษตรกร’ และผู้ผลิตรายย่อยรายใหญ่ ให้กระจายสินค้าไปทุกพื้นที่ของประเทศได้ รวมถึงส่งเสริมการจ้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนในประเทศ
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจจากงานวิจัยของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ ข้อเสนอแนะการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยผ่านไฮเปอร์มาร์เก็ต ประกอบด้วย
1) ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านธุรกิจผสานสัมพันธ์ระหว่างชุมชน สังคมและธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตมีความยั่งยืนมากขึ้น
2) การสนับสนุนซึ่งกันและกันสื่อเนื่องจากข้อ 1 จะเป็นประโยชน์ทั้งเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดระบบมาตรฐานสากลในธุรกิจ ขยายโอกาสทางการตลาดและสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
3) คำนึงถึงประเทศและผู้คนในสังคมเดียวกัน ช่วยเหลือสังคมสร้างการบอกต่อและปัจจัยบวกด้านทัศนคติและการรับรู้ของคนในสังคมต่อธุรกิจค้าปลีกได้ เช่น การประกาศเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การช่วยเหลือสังคมที่มีส่วนร่วมกับประชาชนในชุมชนอย่างต่อเนื่องและสร้างการพัฒนาให้เกิดขึ้นในสังคม
4) ทำ SRM (Social Relationship Management) วิเคราะห์ touch points ของสังคม ตั้งแต่การรับข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ การเดินทางด้วยรถโดยสาร การท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ หรือการประกอบอาชีพ เพื่อทำให้สามารถเข้ามามีบทบาทและช่วยเหลือสังคมได้อย่างถูกต้อง ยึดต้นแบบการทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบ CSV (Creating Shared Value) เป็นการมอบคุณค่าองค์กรให้แก่สังคมต่อไป
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews-article/93805-cptesco.html