ประชุมวิสามัญสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เดือด! สมาชิกรวมตัวค้านจำเลยคดีแพ่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนพเก้ารวมใจ-ทีม 6 ราย ลงสมัครกรรมการฯ หวั่นกระทบความน่าเชื่อถือ ‘อิศรา’ ไปร่วมทำข่าวโดนห้ามเข้าเปิดเฟซบุ๊กไลฟ์ดูพบโต้เถียงหนักปมความหมาย ‘เงินทอน’ ตั้งคำถามปล่อยคนมีคดีติดตัวเข้ามานั่งเป็นกก.ไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือ อีกฝ่ายยันเป็นผู้บริสุทธิ์ ‘ดีเอสไอ’ สั่งไม่ฟ้องหมดแล้ว – เผยความคืบหน้าคดีแพ่งศาลนัดอ่านคำพิพากษาชดใช้ 607 ล้านหรือไม่ 17 ธ.ค. นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คนในสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจ้งหมายเชิญผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างๆ ไปทำข่าวในวันที่ 26 พ.ย. ในหัวข้อข่าวว่า “ด้วยอดีตกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯจำนวน 6 คน ซึ่งถูกสหกรณ์ฯ ฟ้องในฐานความผิด ลงทุนโดยประมาทเลินเล่อ” ซึ่งเป็นการฟ้องตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 600 กว่าล้านบาท ได้ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสหกรณ์ฯ ปี 2564 (กำหนดวันที่ 4 ธ.ค.2563)ในตำแหน่ง ประธานกรรมการ รองประธาน เลขานุการ และกรรมการเขต รวม 6 ตำแหน่ง โดยศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาคดีนี้ วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่จะถึงนี้ นอกจากนี้สหกรณ์ฯ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตกรรมการคนหนึ่งในจำนวน 6 คนดังกล่าวต่อกองปราบปราม ในฐานความผิดยักยอกทรัพย์ ตามคำแนะนำของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ตรวจสอบพบว่า มีเส้นทางการเงินที่ผิดปกติ 210 ล้านบาท ไปเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการนำเงินสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ไปลงทุนในสหกรณ์อื่น
ซึ่งคดีความดังกล่าว เป็นเหตุให้สมาชิกมีความสงสัยและเป็นกังวลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หากอดีตกรรมการทั้ง 6 คนนี้ กลับมาบริหารสหกรณ์ฯ อาจนำมาซึ่งการปกปิดซ่อนเร้นและทำลายหลักฐานในคดีที่อยู่ระหว่างการฟ้องและกำลังจะฟ้องได้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้สมาชิกจำนวนหนึ่ง ขอเปิดประชุมวิสามัญในวันที่ 26 พ.ย. เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้สมัครและขอรับฟังแนวทางการรับมือกับปัญหาเหล่านี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และ ผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา เดินทางไปยังห้องประชุมวิสามัญ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจะทำข่าวการประชุมวิสามัญดังกล่าว กลับมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์ ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าฟังการประชุมแต่อย่างใด และไม่อนุญาตให้สื่อเข้าทำข่าวกรณีนี้ด้วย
ต่อมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กไลฟ์ถ่ายทอดสดการประชุมของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ดังกล่าว ได้รับทราบข้อมูลบรรยากาศการประชุมว่ามีสมาชิกสหกรณ์รายหนึ่งได้แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ ระบุว่า ส่วนตัวแล้วก็คิดถึงผลประโยชน์ของสหกรณ์เป็นหลัก แต่ว่าในประเด็นเรื่องทางฝั่งผู้สมัครลงเลือกตั้งสหกรณ์รายหนึ่ง มีชื่อเป็นหนึ่งในจำเลยนั้น ได้แจ้งข้อมูลในใบหาเสียงว่า คดีต่างๆอัยการได้สั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดแล้ว ก็หมายความว่า สมาชิกสหกรณ์คนอื่นๆ ที่ต้องการจะเลือกทีมของผู้สมัครรายนี้ ควรจะมีความสบายใจเพราะว่าผู้สมัครลงเลือกตั้งสหกรณ์รายนี้บริสุทธิ์แล้วเป็นต้น
“ส่วนตัวอยากจะทำให้เกิดความสบายใจว่าคดีต่างๆที่ได้เผยแพร่ในใบหาเสียงนั้นเป็นคดีเดียวกับที่ทางสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯได้ร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่ ถ้าหากไม่มีคดีที่เกี่ยวกับสหกรณ์จุฬาฯได้ร้องทุกข์กล่าวโทษเลย คือ หมายความว่า เมื่อนาย บ.(ชื่อย่อ) สมมติว่าได้รับเลือกไปแล้วก็ไม่มีปัญหาในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และสามารถช่วยทำให้สหกรณ์ได้เงินมากๆ ก็คงทำให้แฟนคลับของ นาย บ.ได้รู้สึกสบายใจ แต่ถ้าไม่เป็นใช่เช่นนั้นส่วนตัวก็ไม่รู้สึกสบายใจ เพราะถ้านาย บ.นั้นยังมีคดีติดอยู่แล้วสามารถเข้าไปเป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ มันจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือไม่อย่างไร”
ขณะที่ประธานในที่ประชุมก็ได้ชี้แจงว่า คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องนั้นเป็นคดีที่ผู้สมัครรายนี้ ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษจากนายธรรมนูญ อัตโชติ ผู้เสียหายคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยนายธรรมนูญได้กล่าวโทษนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยการสืบทางคดีก็พบว่ามีธุรกรรมโอนเงินจากนายศุภชัยไปยังนายจิรเดช วรเพียรกุล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง แล้วนายจิรเดชก็ได้กระจายเงินไปยังผู้บริหารสหกรณ์ต่างๆ รวมถึงของนาย บ. ซึ่งมีธุรกรรมกับนายจิรเดชด้วย ถ้าหากอ้างอิงตามหนังสือของ DSI แต่อัยการก็ไม่พบว่า มีความชัดเจนในเรื่องของการฟอกเงินเพราะฐานการฟ้องของ DSI เป็นคดีการฟอกเงิน อัยการก็เลยสั่งไม่ฟ้อง
แต่ว่าคดีของ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ สั่งฟ้องนั้นเป็นคดีที่ DSI ไปพบว่ามีเส้นทางการเงินระหว่างนายศุภชัยกับนาย บ. ก็เพราะเหตุว่า นาย บ.นั้นเอาเงินไปวางไว้ที่คลองจั่น แล้วมันเกิดเป็นเงินทอนคืน ซึ่งนี่คือสิ่งที่เป็นคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่ประธานในที่ประชุมพูดถึงเรื่อง เงินทอน ปรากฎว่ามีสมาชิกสหกรณ์อีกรายได้สอบถามว่าคำว่าเงินทอนนั้นใครเป็นคนสรุป ระหว่างประธานในที่ประชุมหรือทาง DSI เพราะว่า เวลานี้นั้นนาย บ. ยังบวชอยู่ เลยไม่มีโอกาสได้มาชี้แจง และหลังจากนั้น DSI ก็ได้สั่งไม่ฟ้องหมดแล้ว แต่สุดท้ายคำว่าเงินทอนมันเสียหาย และทำให้ นาย บ.เสียหายได้ คำว่าเงินทอนนั้น ส่วนตัวก็ต้องขอถามกลับไปยังประธานด้วยว่าความหมายมันคืออะไร
ประธานที่ประชุมจึงได้พูดขึ้นว่า กล่าวว่าเกี่ยวกับจำนวนเงินดังกล่าวมันมีเอกสารที่ทางตำรวจได้ชี้ไว้ในตัวเอกสารที่ส่งให้ประธานสหกรณ์ฯออมทรัพย์จุฬา โดยเอกสารดังกล่าวแจ้งว่ามีความสงสัยเนื่องจากมีเช็คเป็นเงินเข้าไปในชื่อของนาย บ.
ทั้งนี้ หลังจากการประชุมวิสามัญเสร็จสิ้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าวนั้นมีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯในระดับอาวุโสจำนวน 39 ราย มีความไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อกรณีที่มีผู้ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนพเก้ารวมใจเข้าสมัครเป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ จึงได้มีการร่วมกันเข้าชื่อเพื่อให้ผู้ที่เป็นจำเลยได้ถอนตัวจากการลงเลือกตั้งเนื่องจากอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสหกรณ์ได้ (ดูเอกสาร)
อนึ่งสำหรับความเป็นไปเป็นมาของคดีนี้ ในปี 2560 สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นและสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง กรณีสหกรณ์ทุจริต โดยกรณีของสหกรณ์นพเก้ารวมใจนั้น ถูกยกตัวอย่างถึงความไม่ชอบมาพากลในการบริหารสหกรณ์ โดยเฉพาะการกู้เงินจากสหกรณ์อื่น หรือการระดมทุนร่วมกับสหกรณ์อื่นมาจัดทำโครงการหมู่บ้านจัดสรร แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะดำเนินการนอกเหนือวัตถุประสงค์ ส่งผลให้ไม่มีเงินใช้คืน และถูกนายทะเบียนสั่งยกเลิกไปเมื่อช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา
สำหรับข้อเท็จจริงกรณีสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบพบสรุปได้ ดังนี้
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับสมาชิกสหกรณ์ 404 ราย ฐานะการเงินเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558 ทุนเรือนหุ้น 73 ล้านบาท ผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม 351 ล้านบาท เบื้องต้นพบว่า การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์แห่งนี้ในการจัดสรรที่ดินและสร้างบ้านจำหน่าย มีทุนรับฝากเงินจาก ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย 4,485 ล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 915 ล้านบาท และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี 113 ล้านบาท (รวม 3 สหกรณ์ 5,513 ล้านบาท)
ต่อมาพบประเด็นปัญหาว่า สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ ลงทุนก่อสร้างบ้านจัดสรร ‘บ้านสวนสารคาม’ ที่ จ.มหาสารคาม เพื่อขายให้บุคคลภายนอก ซึ่งเกินกว่าท้องที่ดำเนินงานในข้อบังคับของสหกรณ์ และไม่เป็นธุรกิจที่ทำกับสมาชิก นายทะเบียนจึงสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง และได้ติดตาม เฝ้าระวังการดำเนินงานของสหกรณ์มาโดยตลอดว่า จะจำหน่ายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาคืนสหกรณ์ผู้ฝากเงินได้หรือไม่ กระทั่งเดือน เม.ย. 2560 พบว่า ไม่สามารถคืนเงินฝากได้
จากการตรวจสอบทรัพย์สินเบื้องต้นของสหกรณ์พบว่า ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ และปัญหาอื่น ๆ ด้วย นายทะเบียนจึงสั่งเลิกเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา พร้อมแจ้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมถึงร้องทุกข์ต่อตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับคณะกรรมการ (บอร์ด) สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ กรณีซื้อที่ดินราคาสูงเกินจริงด้วย
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบข้อมูลในช่วงที่เกิดเหตุว่า บอร์ดสหกรณ์จุฬาฯ ชุดที่ 52-53 ระหว่างปี 2555-2556 ได้ทำธุรกรรมทางการเงิน และปล่อยกู้แก่สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ รวม 915 ล้านบาท โดยสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจได้นำที่ดินเปล่าซึ่งเป็นที่นาอยู่ใกล้ ม.มหาสารคาม มาจำนองเป็นประกันไว้ราว 218 ไร่ ตีมูลค่าขณะนั้น 198 ล้านบาท อย่างไรก็ดีได้ระบุว่า จะดำเนินโครงการบ้านจัดสรร และราคาที่ดินจะพุ่งขึ้นสูงจนอาจตีราคาได้ราว 1 พันล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 แหล่งข่าวระดับสูงจากสหกรณ์จุฬาฯ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่าได้ส่งหนังสือแก่บอร์ดชุดที่ 52-53 เพื่อให้ชดใช้เงินคืนรวม 607 ล้านบาทไปหมดแล้ว มีบุคคลอยู่ 8-9 ราย ที่ไม่ได้รับหนังสือ โดยไปรษณีย์อ้างว่า ไม่มีผู้รับ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายทำการร่างหนังสือฉบับที่ 2 อีกครั้ง โดยมีเวลาอีก 30 วัน เพื่อชดใช้เงินดังกล่าวคืน และหากคราวนี้ยังไม่ยอมชดใช้ จะไม่รอมชอมอะไรทั้งนั้น ดำเนินการฟ้องทางแพ่งทันที
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับคดีนี้ ในวันที่ 17 ธ.ค.นั้น ศาลแพ่ง มีนัดฟังคำพิพากษากรณีการใช้ชดใช้เงินคืนรวม 607 ล้านบาท ด้วย
ขณะที่ในส่วนของคดีอาญานั้นก็มีรายงานถึงคดีที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ โดยมติคณะกรรมการดําเนินการฯ ชุดที่ 59 ปี 2562 แจ้งความต่อ กองปราบปราม เมื่อ 11 กันยายน 2562 “ตามคําแนะนําและพยานหลักฐานที่ หัวหน้า พนักงานสืบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่สืบสวนที่ 33/2562 วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่เห็นว่ามีพฤติการณ์นําเงินออกไปจากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เป็นการกระทํา ในลักษณะการทําเป็นกระบวนการ เอื้อประโยชน์ให้ซึ่งกันและกันและมีผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง การกระทําดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก ทรัพย์” ให้ดําเนินคดีกับ อดีตประธานกรรมการฯรายหนึ่งและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ความเสียหายรวม 3,096 ล้านบาท จากการนําเงินไปฝากและให้กู้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มงคลเศรษฐี สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ และชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย ทั้งนี้ DSI ตรวจพบเส้นทางการเงินที่ผิดปกติ 210 ล้านบาทไหลเข้าบัญชีส่วนตัวของอดีต ประธานสหกรณ์ จุฬาฯ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการนําเงินสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ไป ลงทุนในสหกรณ์อื่นดังกล่าว
ต่อมาได้มีการโอนคดีนี้กลับไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดําเนินการพิจารณาให้ เป็นคดีพิเศษ ความคืบหน้าล่าสุดคณะอนุกรรมการพิจารณาคดีพิเศษ เห็นชอบแล้ว และส่งให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นคดีพิเศษต่อไป
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/93788-Chulaaat02.html