ความเสี่ยง! การจารกรรม-ทุจริต และใช้วัคซีนโควิดเป็นอาวุธควบคุมภูมิศาสตร์การเมืองโลก

23

“….ในปัจจุบันมีประเทศหลายประเทศขาดในสิ่งที่ WHO เรียกกันว่าระบบการจัดการเวชภัณฑ์แบบบูรณาการอันมีประสิทธิภาพ ซึ่งการขาดระบบที่ว่ามานั้นทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะพบกับวัคซีนที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานหรือว่าวัคซีนปลอมปรากฏอยู่ตามท้องตลาด ซึ่งผลกระทบนั้นก็อาจจะร้ายแรงยิ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความกังขาไม่ไว้วางใจในระบบวัคซีน และจะทำให้สถานการณ์โรคระบาดเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกจำนวนไปสู่การสูญเสียของอีกหลายชีวิต….”

ประเด็นความคืบหน้าผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสล่าสุด ขณะนี้หน่วยงานชั้นนำทั่วโลกจากทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มวางแผนการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนทั่วโลกกันอย่างทั่วถึงแล้ว แต่ภารกิจนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจจะมีปัญหาเชิงปฏิบัติในหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตในขั้นตอนการแจกจ่ายวัคซีน ที่ดูเหมือนจะยังไม่ถูกกล่าวถึงกันมากนัก

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประจำประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่บทความชื่อว่า THE UNSPOKEN COVID-19 VACCINE CHALLENGES – DISTRIBUTION AND CORRUPTION หรือแปลเป็นไทยว่าความท้าทายของวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่เคยถูกพูดถึง กับปัญหาเรื่องการแจกจ่ายและการทุจริต

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถอดความสำคัญในบทความ และเรียบเรียงมานำเสนอ ณ ที่นี้

แม้ว่าจะมีข่าวความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 จนนำไปสู่การคาดการณ์ถึงช่วงเวลาที่วัคซีนจะเข้าสู่ตลาดกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ประเด็นเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันในช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้นกลับถูกพูดถึงน้อยมาก ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากการแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียมประสบความล้มเหลว ก็หมายความว่า ไวรัสก็จะยังคงระบาดเป็นวงกว้างอยู่ดี

โดยเฉพาะกับในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจะประสบความล้มเหลวในการต่อสู้กับไวรัส

ซึ่งตามกรอบของโครงการริเริ่มพัฒนาวัคซีนร่วม หรือที่มีชื่อย่อว่า ACT Accelerator ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ระบุชัดเจนว่า แต่ละประเทศจะต้องได้รับวัคซีนในขั้นต้นเป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่การได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจะได้รับวัคซีนเป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่แต่ละรัฐบาลจะไปดำเนินการ และพิจารณาการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป

ขณะที่ ปัญหาประการหนึ่งก็คือการขาดแคลนระบบฐานข้อมูลสุขภาพที่มีความเข็มแข็งและครอบคลุมในหลายประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือพัฒนาน้อยกว่านั้น จะเป็นสิ่งที่ทำให้การแจกจ่ายวัคซีนให้ได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการในประเทศเหล่านี้นั้นเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก

การแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียม

การวางแผนแจกจ่ายวัคซีนและการระบุตัวตนของประชากรกลุ่มเสี่ยงนั้นเป็นสิ่งที่ต้องการความโปร่งใสในการดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง เพราะการดำเนินการโดยโปร่งใสจะเป็นสิ่งที่รับรองได้ว่าวัคซีนจะถูกเข้าถึงอย่างเท่าเทียม

โดยเรื่องนี้พลเมืองในประเทศจะต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนว่าใครจะได้รับวัคซีน และใครจะไม่ได้รับ

ซึ่งความโปร่งใสจะเป็นสิ่งที่รับรองว่าจะไม่มีการนำเอาประเด็นการเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงวัคซีนด้วยข้ออ้างว่าวัคซีนไม่เพียงพอไปใช้ทำลายหรือหาผลประโยชน์กับกลุ่มประชากรบางกลุ่มและยังเป็นสิ่งที่รับรองอีกว่าวัคซีนจะไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนตำแหน่งทางการเมือง แบบที่กำลังเกิดอยู่ในประเทศบังกลาเทศ ณ เวลานี้

ดังนั้น กระบวนการแจกจ่ายวัคซีนจึงต้องมีการเตรียมการอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง

โดยที่ผ่านมาไม่เคยมีการแจกจ่ายวัคซีนจำนวนมากด้วยเวลาที่เร่งรีบเท่านี้มาก่อน นี่จึงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประชาคมโลก

แม้ว่า ณ เวลานี้ WHO จะมีการก่อตั้งโครงการ COVAX เพื่อยืนยันถึงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก แต่ความต้องการวัคซีนนั้นเป็นสิ่งที่มหาศาล ณ เวลานี้ มีปัญหาอันซับซ้อนข้อหนึ่งในกระบวนการแจกวัคซีน ซึ่งจำเป็นต้องพูดถึงก็คือ ระบบการแจกจ่ายวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลกนั้นเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มประชากรเด็กจะได้รับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ

แต่ไม่ใช่ระบบที่จะทำให้ผู้ใหญ่จำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีน

ปัญหาข้อต่อมาก็คือกระบวนการจัดเก็บวัคซีนนั้นจำเป็นต้องมีตู้เย็นอันมีคุณลักษณะเฉพะในการเก็บวัคซีน ซึ่งคุณลักษณะที่ว่ามานั้นก็อาจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของวัคซีนโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

ระบบการแจกจ่ายวัคซีนซึ่งต้องเก็บด้วยความเย็น (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.bbc.com/news/health-54027269)

ทางองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ พร้อมด้วยองค์การอื่นๆเอง ก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้เช่นกัน

โดย ณ เวลานี้ได้มีการจัดเตรียมตู้เก็บความเย็นพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนกว่า 65,000 ตู้เอาไว้แล้ว สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งตู้เก็บความเย็นเหล่านี้ จะสามารถใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2564

แต่กว่าจะไปถึงเวลานั้น ภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญกว่าก็คือการทำให้วัคซีนสามารถเข้าไปถึงสถานที่ที่โดดเดี่ยว ห่างไกล และเข้าถึงยาก อาทิ ที่ประเทศเนปาล หรือที่ประเทศซูดาน เป็นต้น

ตัวอย่างตู้เก็บความเย็นพลังงานแสงอาทิตย์ (อ้างอิงรูปภาพจาก https://coolcoalition.org/can-solar-fridges-helping-vaccinate-african-children-work-for-covid-19/)

ในประเทศห่างไกลที่ว่ามานั้น หน่วยงานเอกชนมักจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในเรื่องของระบบสุขภาพ ดังนั้น การทำงานผ่านใคร และผ่านหน่วยงานคู่ค้าเอกชนซึ่งถือว่ามีศักยภาพที่สุดในการขนส่งวัคซีนในแต่ละประเทศนั้นก็ถือว่าเป็นความท้าทายอีกประการซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ความเสี่ยง การจารกรรม การทุจริต และการนำวัคซีนไปใช้เป็นอาวุธ

แม้ว่าวัคซีนโดยทั่วไปแล้วจะมีมูลค่าทางตลาดด้วยราคาที่ไม่สูงมากนัก

แต่กับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะมีจำนวนจำกัดในช่วงแรกของการผลิตนั้นถือได้ว่ามีความต้องการที่สูงเป็นอย่างยิ่งจากกลุ่มประชากรที่เป็นทุกข์ต่อสถานการณ์โรคระบาด

นี่จึงทำให้วัคซีนกลายเป็นเป้าหมายที่จะถูกจารกรรมได้

ในปัจจุบันมีประเทศหลายประเทศขาดในสิ่งที่ WHO เรียกกันว่าระบบการจัดการเวชภัณฑ์แบบบูรณาการอันมีประสิทธิภาพ ซึ่งการขาดระบบที่ว่ามานั้นทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะพบกับวัคซีนที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานหรือว่าวัคซีนปลอมปรากฏอยู่ตามท้องตลาด

ซึ่งผลกระทบนั้นก็อาจจะร้ายแรงยิ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความกังขาไม่ไว้วางใจในระบบวัคซีน และจะทำให้สถานการณ์โรคระบาดเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกจำนวนไปสู่การสูญเสียของอีกหลายชีวิต

ความเสี่ยงประการต่อมาก็คือวัคซีนอาจกลายเป็นอาวุธชิ้นใหม่ สำหรับรัฐที่มีอำนาจมากกว่าในการเข้าควบคุมภูมิศาสตร์การเมือง อาทิ ณ เวลานี้มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกได้แสดงความสนใจที่จะรับวัคซีนสปุตนิก 5 จากประเทศรัสเซีย

ซึ่งวัคซีนนี้ถูกอนุมัติใช้งานในเดือน ส.ค. ก่อนที่จะมีการทดลองรักษาทางคลินิกในระยะที่ 3 ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าการอนุมัติวัคซีนนั้นเร่งรีบจนเกินไป และมีจุดประสงค์ในการอนุมัติเพื่อสร้างความเป็นวัคซีนชาตินิยมมากกว่าจะหวังผลทางวิทยาศาสตร์

วัคซีนสปุตนิก 5 (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.france24.com/en/20200811-putin-says-russia-first-to-approve-a-covid-19-vaccine-dubbed-sputnik-v)

การอนุมัติให้มีการใช้งานวัคซีนใดๆก็ตาม ก่อนที่จะเสร็จสิ้นกระบวนการทดลองทางคลินิกนั้นมีความเสี่ยงเสมอที่จะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี และผลเสียที่ว่ามานั้นไม่ใช่แค่กับผู้ที่รับวัคซีนเท่านั้น

ซึ่งถ้าหากกระบวนการพัฒนาและอนุมัติวัคซีนเป็นไปโดยไม่โปร่งใส ก็จะทำให้เกิดข้อกังขาและการดิสเครดิตวัคซีนตามมาด้วยเช่นกัน

แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่าการที่หลายประเทศมีความสนใจในวัคซีนก่อนที่จะมีการเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหลายประเทศนั้นมีความกังวลชัดเจนว่าถ้าหากดำเนินการช้าเกินไปก็จะมีโอกาสน้อยลงในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างเพียงพอ

จะทำให้เรื่องนี้ถูกต้องได้อย่างไร

ณ เวลานี้ มีหลากหลายประเด็นซึ่งรอข้อสรุปชี้ขาด เกี่ยวกับกระบวนการขนส่งสินค้าอันยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ และมีหลายเรื่องเช่นกันที่จะต้องพึ่งพาความสำเร็จของกระบวนการขนส่งสินค้าที่ว่านี้

ซึ่งในตอนนี้มีประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางหลายประเทศถูกโจมตีอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ยิ่งล่าช้าในกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนเท่าไร ก็หมายถึงความทุกข์ทนของประชาชนก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

แม้หลายประเทศได้เริ่มแผนการสำหรับการแจกจ่ายวัคซีนแล้ว แต่ก็ถือเป็นหน้าที่เขาพวกเราที่จะต้องช่วยกันสอดส่องและสร้างความมั่นใจว่ากระบวนการนี้จะได้รับการดำเนินการในหนทางที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและเป็นไปตามมติมหาชน

ดังนั้นแผนการแบ่งและแจกวัคซีนของแต่ละประเทศควรต้องถูกพัฒนาและนำไปปฏิบัติบนความโปร่งใส โดยกลุ่มที่ปรึกษาทางวิชาการในการให้วัคซีนแห่งชาติ (National immunization technical advisory groups, NITAGs) เองก็ควรที่จะมีความโปร่งใสและร่วมมือกับภาคประชาชนในการสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงนั้นจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการทุจริตหรือการผูกขาดวัคซีนเกิดขึ้น

สำหรับการแก้ปัญหานั้นควรจะมีการวางเกราะป้องกันเอาไว้เพื่อไม่ให้ระบบการจัดส่งและผลิตวัคซีนนั้นถูกจารกรรม และวัคซีนถูกนำไปขายต่อยังตลาดมืดได้

การสนับสนุนปัจจัยทางด้านนวัตกรรมเองก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่มีวัคซีนอันไม่ได้มาตรฐานหรือวัคซีนปลอมเข้าไปสู่ระบบการจัดส่งและผลิตวัคซีน อันจะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของกลไกกระบวนการขนส่ง

ดังนั้น การจะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องมีกลไกการเฝ้าระวังและจับตานับตั้งแต่ก่อนจะถึงขั้นตอนที่วัคซีนจะเข้าไปสู่การขนส่ง ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีหลายตัวเลือกที่สามารถดำเนินการได้

อาทิ การใช้เทคโนโลยีระบบเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน ที่จะช่วยป้องกันการจารกรรมและสร้างความมั่นใจให้กับคุณภาพของวัคซีน,การสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนหรือภาคประชาชนได้รับรู้ถึงอันตรายของการนำวัคซีนไปขายยังตลาดมืดหรือการขายวัคซีนอย่างผิดกฎหมายและการสร้างระบบสายด่วนขึ้นมาเพื่อโทรศัพท์รายงานประเด็นการทุจริตที่เกิดกับวัคซีน

ทั้งนี้ การจะเอาชนะไวรัสโควิด-19 ได้นั้น เราทุกคนจำเป็นต้องมีการคิดอย่างก้าวหน้าและถี่ถ้วน เพื่อให้กระบวนการการแจกจ่ายวัคซีนนั้นเป็นไปโดยถูกต้อง เพราะการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดนั้นถือว่าต้องใช้ทรัพยากรและการลงทุนอันมหาศาลเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เราคงไม่อาจยอมรับได้ถ้าหากมีข้อล้มเหลวในหลักกิโลสุดท้ายของวัคซีน

เรื่องดีๆที่ตามมาหลักจากไวรัสโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปนั้นควรจะเป็นความโปร่งใสที่มากขึ้น ระบบสุขภาพที่เข้มแข็งขึ้น และระบบแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้โลกนั้นอยู่ในจุดที่ดีขึ้นมากกว่าเดิมในการรับมือกับวิกฤติโรคระบาดและวิกฤติสุขภาพซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป ด้วยการสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมโลกว่าไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ที่ไหน พวกเขาก็ล้วนแค่มีสิทธิในการเข้าถึงระบบการบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งถ้าหากเราสามารถทำเช่นนั้นได้จริง เราก็จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal)ได้ในปี 2573

เรียบเรียงจาก:https://www.transparency.org.uk/coronavirus-covid-19-vaccine-equitable-distribution

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/93729-Covidd00-2.html

- Advertisement -