ณ ก.ย.63 มี 131 สัญญา!องค์การสวนสัตว์ฯเปิดข้อมูลร่วมดำเนินงานเอกชน ยันโปร่งใส

182

“…แต่ละขั้นตอนของการจัดหาเอกชนเข้าดําเนินงานเชิงธุรกิจ ต้องดําเนินการโดยเปิดเผยโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงคุณสมบัติและความสามารถของผู้เสนอ ผลประโยชน์ให้กับองค์การ …ปกติแล้วการดําเนินงานเชิงธุรกิจขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) จะกระทําโดยวิธีประกาศเชิญชวน โดยให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมเสนอผลประโยชน์ตอบแทน พร้อมทั้ง รูปแบบและรายละเอียดการดําเนินงาน แล้วคัดเลือกผู้เสนอผลประโยชน์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด (ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน) และมีคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในเอกสารประกาศเชิญชวน…”

ประเด็นตรวจสอบการจัดหาเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ภายในสวนสัตว์ของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เพื่อประกอบกิจการต่างๆ

ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวไปแล้วว่า เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกคนในองค์การสวนสัตว์วิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า ทำให้สวนสัตว์ต้องเสียประโยชน์จากส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับตอนแทนซึ่งมีจำนวนน้อยเกินไปไม่คุ้มค่า และมีเอกชนบางรายที่ผูกขาดการทำธุรกิจต่อเนื่องมายาวนานหลายปีด้วย

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ล่าสุด นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้อํานวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงสำนักข่าวอิศรา

มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบองค์การสวนสัตว์ว่าด้วยการดําเนินงานเชิงธุรกิจ พ.ศ. 2561

การดําเนินงานเชิงธุรกิจ หมายถึง การดําเนินงานใดๆ อันนํามาซึ่งรายได้หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการส่งเสริมและอุดหนุนกิจการขององค์การและหรือสวนสัตว์ แต่ไม่รวมถึงการให้บริการสาธารณะ ที่มีลักษณะเป็นการให้บริการด้านสาธารณูปโภค เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์ เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1) ประเภทที่องค์การและสวนสัตว์ดําเนินการเอง ได้แก่

1.1 ใช้เงินงบประมาณขององค์การเป็นค่าใช้จ่ายและรายได้ทั้งหมดนําส่งองค์การ

1.2 จ้างบุคคลภายนอกบริหารจัดการ ซึ่งผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการบริหาร จัดการทั้งหมด โดยองค์การและสวนสัตว์จะควบคุมและจัดเก็บรายได้นําส่งองค์การ

1.3 องค์การและสวนสัตว์ลงทุนก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง โดยงบประมาณขององค์การและ สวนสัตว์ แล้วจ้างบุคคลภายนอกบริหารจัดการ ซึ่งผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการบริหารจัดการทั้งหมด

2) ประเภทที่องค์การและสวนสัตว์ให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐดําเนินการ

2.1 เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐดําเนินการโดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมด ไม่ว่า จะเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซม การบริหารจัดการ และค่าภาษี โดยองค์การและสวนสัตว์ จะจัดพิมพ์บัตร จําหน่ายบัตร จัดเก็บรายได้และแบ่งผลประโยชน์ รายได้ตามที่ระบุในสัญญา ทั้งนี้ ให้เอกชนหรือ หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์บัตร และจําหน่ายบัตร รวมถึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐด้วย

2.2 เอกชนร่วมลงทุนเชิงธุรกิจกับองค์การในโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป

ประเด็นคําถาม – คําตอบ

สวนสัตว์ต้องเสียประโยชน์จากส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับตอนแทนซึ่งมีจํานวนน้อยเกินไปไม่คุ้มค่า

– การจัดหาเอกชนในการดําเนินงานเชิงธุรกิจ กระทําได้ 4 วิธี คือ

1. วิธีเจรจาต่อรอง

2. วิธีประกาศเชิญชวน

3. วิธีพิเศษเร่งด่วน

โดยแต่ละขั้นตอนของการจัดหาเอกชนเข้าดําเนินงานเชิงธุรกิจ ต้องดําเนินการโดยเปิดเผยโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงคุณสมบัติและความสามารถของผู้เสนอ ผลประโยชน์ให้กับองค์การ

– ปกติแล้วการดําเนินงานเชิงธุรกิจขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) จะกระทําโดยวิธีประกาศเชิญชวน โดยให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมเสนอผลประโยชน์ตอบแทน พร้อมทั้ง รูปแบบและรายละเอียดการดําเนินงาน แล้วคัดเลือกผู้เสนอผลประโยชน์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด (ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน) และมีคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในเอกสารประกาศเชิญชวน

มีเอกชนหลายรายที่ปรากฏชื่อได้รับสัมปทานประกอบกิจการต่าง ๆ แบบผูกขาดต่อเนื่องมาเป็นระยะ เวลานานหลายปี

– ในการทําสัญญาการดําเนินงานเชิงธุรกิจของ อสส. จะมีอยู่ 3 ประเภท

1) ประเภทสัญญา 1 ปี

2) ประเภทสัญญา 3 ปี

3.) ประเภทสัญญาเกิน 3 ปี

– ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2563 อสส. มีสัญญาการดําเนินงานเชิงธุรกิจอยู่ทั้งหมด 131 สัญญา โดยแบ่งเป็น

– ประเภทสัญญา 1 ปี จํานวน 94 สัญญา

– ประเภทสัญญา 3 ปี จํานวน 35 สัญญา

– ประเภทเกิน 3 ปี จํานวน 2 สัญญา ได้แก่

1) โครงการเพื่อการศึกษาและนันทนาการ (Fight of Gibbon) ภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว สัญญา ระยะเวลา 20 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2571

2) ร้านอาหารผาลาดตะวันรอน ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ สัญญาระยะเวลา 20 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2567

เนื่องจากธุรกิจทั้ง 2 ประเภทนี้ ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับต้องมีความรู้และ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงจําเป็นต้องประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการจากภายนอกเข้ามาลงทุน และเพื่อให้มี ผู้ประกอบการสนใจเข้ามาลงทุน จึงจําเป็นต้องกําหนดระยะเวลาในสัญญามากกว่า 3 ปี

มีการจัดประกวดราคาจัดหาเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการต่าง ๆ จํานวนหลายสัญญา อาทิ การให้เช่าพื้นที่บริหารรถกอล์ฟไฟฟ้า บริการจักรยานนาวา การประกอบกิจการที่พักแบบไม่ถาวร (Camping Area) การผลิตและจําหน่ายน้ําดื่ม การเช่าพื้นที่เพื่อจําหน่ายอาหาร ทั้งสําหรับคนและสัตว์ เป็นต้น

– การดําเนินงานเชิงธุรกิจขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จะต้องพิจารณาและคํานึงถึงรายละเอียดดังนี้

1.) เหตุผลและความจําเป็นที่จะต้องดําเนินงาน

2.) ผลประโยชน์ที่จะได้รับ รายได้ ค่าตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน

3.) การให้บริการสังคม ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และความเหมาะสมของพื้นที่

ตัวอย่างในการจัดหาผู้ประกอบเข้ามาดําเนินงานเชิงธุรกิจขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ พร้อมทั้งเหตุผลในการดําเนินงาน

– การให้เช่าพื้นที่เพื่อบริการให้เช่ารถกอล์ฟไฟฟ้า ภายในสวนสัตว์ 5 แห่ง (สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น)

เนื่องจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ มีความประสงค์ที่จะมีบริการทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวชมสวนสัตว์ โดยเช่ารถกอล์ฟไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน และเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ

– บริการเรือจักรยานนาวา ภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว

เนื่องจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีความประสงค์ที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้านการบริการให้กับ นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ และเพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว รวมทั้งเป็นการสร้าง รายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มในการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐศาตร์

– การประกอบกิจการที่พักแบบไม่ถาวร (Camping Area) ภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว

เนื่องจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีความประสงค์ที่จะใช้พื้นที่ว่างภายในสวนสัตว์ให้เป็นประโยชน์ ด้านกิจกรรมพิเศษ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแก่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้เกิดรายได้สนับสนุนดําเนินกิจการภายในสวนสัตว์ รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มในการใช้พื้นที่ ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐศาตร์ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม

– จ้างผลิตและจัดส่งน้ำดื่มของสวนสัตว์อุบลราชธานี (น้ำดื่มตราสวนสัตว์อุบลราชธานี)

เนื่องจากสวนสัตว์อุบลราชธานีมีความประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้เที่ยวชมสวนสัตว์อุบลราชธานี และเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับสวนสัตว์อุบลราชธานี

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ กําลังดําเนินการร่างขอบเขตงาน (Terms of Reference : TOR) จ้างผลิตน้ำดื่มในแบรนด์ขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เพื่อให้ทุกสวนสัตว์ ในสังกัดนําไปจําหน่าย

– การเช่าพื้นที่เพื่อจําหน่ายอาหารในสวนสัตว์ทั้ง 5 แห่ง

เนื่องจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ มีความประสงค์ที่จะให้บริการนักท่องเที่ยวในการ เลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย โดยในการจัดหาผู้ประกอบเข้ามาดําเนินการจะมีการกําหนด พื้นที่ที่เหมาะสมและกําหนดรูปแบบสินค้าไม่ให้คล้ายคลึงกัน

– โครงการเพื่อการศึกษาและนันทนาการ (Fight of Gibbon) ภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว

เนื่องจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ มีความประสงค์ที่จะจัดทําโครงการอันเป็น ประโยชน์ด้านการศึกษาและนันทนาการ เพื่อให้สวนสัตว์ในสังกัดเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน และเป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นการสนับสนุนกิจกรรมครอบครัว และเพื่อสร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่ม ในการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐศาตร์

– ร้านอาหารผาลาดตะวันรอน ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่

เนื่องจากสวนสัตว์เชียงใหม่มีความประสงค์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ทางด้านเศรษฐศาตร์ และต้องการมีร้านอาหารที่ได้มาตรฐานเพื่อไว้บริการนักท่องเที่ยว

ทั้งหมดนี่ คือ คำชี้แจงประเด็นตรวจสอบการจัดหาเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ภายในสวนสัตว์ของรัฐ ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับทราบจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยล่าสุด

ส่วนรายละเอียดการดำเนินงานแต่ละโครงการ เอกชนรายใดเป็นคู่สัญญางานแต่ละส่วน จะมีติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอในโอกาสต่อๆไป

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/93752-investigative9674.html

- Advertisement -