เผย 12 โครงการร่วม ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ปีงบ 64-ซื้อเครื่องบินโจมตีเบา 4.5 พันล.เข้าด้วย

181

‘กรมบัญชีกลาง’ เผยปีงบ 64 มีโครงการลงทุนมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทของหน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมโครงการ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ 12 โครงการ วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท พบตั้งแต่ปี 58 มี 13 โครงการถอนตัว-ได้รับยกเว้นเข้าร่วมข้อตกลงฯ

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง เผยแพร่รายชื่อโครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ปีงบ 2564 ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตตามพระราชบัญญัติ (ค.ป.ท.) และมติคณะอนุกรรมการ ค.ป.ท. โดยมีโครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรมทั้งสิ้น 12 โครงการ วงเงิน 54,269.44 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 1 โครงการที่อยู่ระหว่างรอผลศึกษา ได้แก่

1.โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์กระกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานตรัง ต.โคกหล่อ อ.เมืองตรัง จ.ตรัง 1 แห่ง ของกรมท่ากาศยาน (ทย.) วงเงิน 1,800 ล้านบาท

2.โครงการจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2,002,500 เครื่อง ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงิน 3,291.23 ล้านบาท

3.โครงการเช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชนเดินรถ จำนวน 1,500 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยวงเงินลงทุนอยู่ระหว่างรอผลการศึกษา

4.โครงการสร้างสายทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันออก ตอน แยกทางหลวง หมายเลข 177 -บรรจบทางหลวง หมายเลข 225 ของกรมทางหลวง วงเงิน 3,200 ล้านบาท

5.โครงการสร้างถนนสามแยก ทล.1020 -บ.กิ่งแก้ว อ.เทิง, จุน จ.เชียงราย, พะเยา ของกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 1,200 ล้านบาท

6.โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ 1 แห่ง ของกรมราชทัณฑ์ วงเงิน 1,487.29 ล้านบาท

7.โครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชา ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,344.01 ล้านบาท

8.โครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีเบา ของกองทัพอากาศ วงเงิน 4,500 ล้านบาท

9.โครงการจัดหาเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในกิจการ บมจ.ทีโอที จำนวน 13 ประเภท รวมรถ 3,027 คัน ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วงเงิน 2,666.01 ล้านบาท

10.โครงการอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 5 อาคาร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วงเงิน 4,058.40 ล้านบาท

11.โครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำใต้ถนนพระรามที่ 6 จากคลองสามเสน ลงสู่อุโมงค์ใต้คลองบางซื่อกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร วงเงิน 1,018.50 ล้านบาท

12.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 26,704 ล้านบาท

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า โครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรมดังกล่าว เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันในปีงบ 2564 หลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างเรือนจำจ. ร้อยเอ็ด ,โครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชา ,โครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีเบา และโครงการอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมอนุกรรมการ ค.ป.ท. ได้อนุมัติแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์ (Observer) ในโครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรมแล้ว 3 โครงการ และอยู่ระหว่างพิจารณาแต่งตั้งอีก 9 โครงการ

ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รายงานว่า นับตั้งแต่มีการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ตั้งแต่ปี 2558 และต่อมามีการกำหนดในพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ให้ค.ป.ท.คัดเลือกโครงการมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งต้องเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม ผลปรากฏว่ามีโครงการที่ยกเลิกการเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 28,304.94 ล้านบาท ได้แก่

1.โครงการจัดหาอาวุธประจำกายสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจสำคัญของกองทัพบก (2561/14) วงเงิน 1,645 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการแจ้งขอยกเลิกโครงการ

2.โครงการจัดหารถถังทดแทน (M41) ระยะที่ 2 ห้วงที่ 3 ของกองทัพบก (2561/15) วงเงิน 1,947 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการแจ้งยกเลิกโครงการ เนื่องจากได้รับยกเว้นตาม ม.7 (2) ของพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ คือ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือโดยการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของประเทศนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

3.โครงการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 35 คัน พร้อมก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า 1 สถานี พร้อมว่าจ้างซ่อมรถไฟฟ้าและบ้ารุงรักษาสถานีของขสมก. (2560/09) วงเงิน 466.94 ล้านบาท โดยขสมก.ระงับการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของขสมก.

4.โครงการจัดซื้อรถโดยสารไฮบริด (Hybrid) จำนวน 1,453 คัน พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษาพร้อมจัดหาสถานที่ชาร์ตไฟฟ้าของขสมก. (2561/12) วงเงิน 11,624 ล้านบาท โดยขสมก.ได้ยกเลิกโครงการ เนื่องจากมีการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ใหม่ โดยได้ล้มเลิกการจัดซื้อรถ NGV และ HYBRID และเสนอให้เป็นการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า (EV) เท่านั้น

5.โครงการเช่ารถโดยสารไฮบริด (Hybrid) 400 คัน และ เช่ารถ NGV 300คัน ตามผลการศึกษาแนวทางการจัดหารถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 700 คันของขสมก. (2561/22) วงเงิน 12,622 ล้านบาท โดยขสมก.ได้ยกเลิกโครงการ เนื่องจากมีการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ใหม่ โดยได้ล้มเลิกการจัดซื้อรถ NGV และ HYBRID และเสนอให้เป็นการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า (EV) เท่านั้น

นอกจากนี้ มีโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม แต่ไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุมเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการตอบกลับ ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

1.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 466.94 ล้านบาท ไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์ประชุมติดตามโครงการ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.2562 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่ทีมผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุมหารือกับคณะกรรมการ IP-CoST FB เรื่องการดำเนินงานของหน่วยงานเจ้าของโครงการ

2.โครงการวังหีบอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมชลประทาน วงเงิน 2,349 ล้านบาท ไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์ประชุมติดตามโครงการ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562 ผู้สังเกตการณ์ สอบถามไปที่กรมชลประทาน แต่ไม่มีการตอบกลับจากหน่วยงาน และไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการอีก

3.โครงการเช่ารถจักรเพื่อการขนส่งของ รฟท. จำนวน 50 คัน พร้อมการซ่อมบำรุงรักษา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงงเงิน 13,941.12 ล้านบาท ไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์ประชุมติดตามโครงการ เป็นระยะเวลาประมาณ ประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยมีการประชุมครั้งแรก (Kick off Meeting) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2562 แต่หลังจากนั้นไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการอีกเลย

4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วงเงิน 3,200 ล้านบาท ไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์ประชุมติดตามโครงการ เป็นระยะเวลาประมาณ ประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2562 กรมบัญชีกลาง แจ้งว่า กฟน.อยู่ระหว่างรอแผนการดำเนินงานร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งจะต้องรอ รฟม. ได้ผู้รับจ้างก่อน กฟน.จึงจะไปจ้างผู้รับจ้างของ รฟม. โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เพื่อดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกับแผนของ รฟม.

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ค.ป.ท. มีมติอนุมัติให้โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศและกองทัพบก ประจำปีงบ 2563 จำนวน 4 โครงการ มูลค่าหลายพันล้านบาท ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันไม่ต้องเข้าร่วมจัดทำโครงการข้อตกลงคุณธรรม เนื่องจากมีกฎหมายหรือสัญญากับเอกชน กำหนดไว้ว่าไม่ให้เปิดเผยข้อมูลความลับแก่บุคคลที่ 3 ซึ่งได้แก่

1.โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก (เครื่องบิน Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วง 2) ของกองทัพอากาศ

2.โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4) ของกองทัพอากาศ

3.โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 ของกองทัพอากาศ

4.โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ของกองทัพบก

ขณะเดียกัน เมื่อเร็วๆนี้ นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่า มีโครงการที่ร่วมเข้าข้อตกลงคุณธรรม 2 โครงการของกรุงเทพฯ กำลังถอนตัวจากข้อตกลงฯ ได้แก่ โครงการกำจัดขยะโดยเตาเผาเขตหนองแขม มูลค่า 6,712 ล้านบาท (ไม่รวมรายได้จากค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดจากการเผาขยะ) และโครงการกำจัดขยะเขตอ่อนนุช มูลค่า 1,046 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ประกาศผู้ชนะการประมูลไปแล้วเมื่อเดือนม.ค.และมี.ค.2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการนำ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ มาใช้เป็นครั้งเมื่อปี 2558 และปัจจุบันถูกระบุให้เป็นเครื่องมือหลักสำหรับภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ปรากฎว่า มีโครงการมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม 118 โครงการ จัดซื้อจัดจ้างแล้ว 63 โครงการ คิดเป็นงบฯรวม 1.84 ล้านล้านบาท และภาครัฐประหยัดได้ 82,796 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.06% ของงบดังกล่าว

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/93595-gov-Integrity-Pact-project-64-news.html

- Advertisement -