ศาลปค.ไม่รับคำฟ้องเพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’! รัฐยื้อจ่ายชดเชยชี้การเจรจายังไม่ยุติ

343

‘คมนาคม-รฟท.’ ร่อนหนังสือถึงสำนักงานศาลปกครอง แจงเหตุยังไม่จ่ายค่าชดเชย 2.4 หมื่นล้านบาท เพราะการเจรจาต่อรองค่าเสียหายยังไม่ได้ข้อยุติ-รอผลพิจารณาเพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’ ของศาลปกครองก่อน ขณะที่อีกฝ่ายส่งหนังถือโต้แย้ง 2 ประเด็น พร้อมเผยศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีร้องเพิกถอนแล้ว

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อขอรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) ระหว่างกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ผู้ร้อง กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2563 กระทรวงคมนาคม โดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ส่งหนังสือด่วนมากที่ คค 0202/8326 เรื่อง รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไปยังผู้อำนวยการสำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง

โดยกระทรวงคมนาคม ระบุว่า 1.ตามที่ได้รายงานว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ผู้คัดค้านได้ยื่นต่อคณะทำงานเจรจาเพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐ อันเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ปัจจุบันการเจรจายังมิได้ข้อยุติเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระแก่ผู้คัดค้าน รวมทั้งการจัดหางบประมาณที่ผู้ร้องต้องชำระแก่ผู้คัดค้านตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

2.ในปัจจุบันคณะทำงานตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2562 ลงวันที่ 20 มิ.ย.2562 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งโดยไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พ.ย.2515 (อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน) จึงมีผลเป็นโมฆะ ตามนัยมาตรา 151 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

โดยในการนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนหนึ่งคนใด อาจยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ตามนัยมาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้ยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัทดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2533 (อันเป็นวันรับจดทะเบียนบริษัท)

ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสภาพความเป็นนิติบุคคลของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ทางกระทรวงคมนาคมจึงยังไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวได้ เนื่องจากการปฏิบัติตามคำพิพากษาเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินจำนวนมาก

ต่อมาวันที่ 2 ต.ค.2563 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งหนังสือที่ รฟ1/2012/2563 เรื่อ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไปยังผู้อำนวยการสำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า

1.ปัจจุบันการเจรจาในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานเจรจาเพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐอันเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ยังมิได้ข้อยุติเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระให้แก่ผู้คัดค้าน เนื่องจากการปฏิบัติตามคำพิพากษาขอศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการจัดหางบประมาณแผ่นดินที่มีจำนวนมาก รวมทั้งยังต้องผ่านการพิจารณาของส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน

2.อนึ่ง เมื่อคณะทำงานตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2562 ลงวันที่ 20 มิ.ย.2562 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งโดยไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พ.ย.2515 (ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน) จึงมีผลเป็นโมฆะตามนัยมาตรา 151 แห่ประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์

โดยในกรณีนี้ ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใด อาจยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ตามนัยมาตรา172 แห่งประมวลกฎหมายบับเดียวกัน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้ยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1613/2563 แล้ว

เมื่อปรากฏข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสภาพความเป็นนิติบุคคลของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่กล่าวอ้างมา ดังนั้น การรถไฟแทงประเทศไทย จึงยังไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้ เนื่องจากการปฏิบัติตามคำพิพากษาในกรณีนี้เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินจำนวนมาก

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2563 นายพิสิทธิ์ อุดมผล และนายวัฒนชัย คุ้มสิน กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำหนังสือเรื่อง ขอโต้แย้งกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยที่จงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ไปถึงผู้อำนวยการสำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง โดยมีการโต้แย้งข้ออ้างของกระทรวงคมนาคม และรฟท. ใน 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 กรณีที่มีการระบุว่าการเจรจาระหว่างคณะทำงานเจรจาเพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐ อันเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังหาข้อยุติเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ จึงยังตั้งงบประมาณที่จะต้องชำระแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ นั้น

บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอโต้แย้งว่า การที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประทศไทยมีอำนาจหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดภายในกำหนด 180 วัน ตามคำพิพากษาที่ได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่กลับบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติโดยยกข้ออ้างที่ขาดเหตุผลไม่สามารถจะรับฟังได้ ทั้งๆที่สำนักบังคับคดีปกครองได้มีหนังสือเร่งรัดไปแล้ว จำนวน 2 ฉบับ

ดังนั้น จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ากระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ยกข้ออ้างที่ไม่สามารถจะรับฟังได้ทั้งประเด็นข้อเท็จจริง และประเด็นข้อกฎหมาย เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานที่จะต้องดำเนินการตั้งงบประมาณตามระเบียบวิธีการงบประมาณของทางราชการ เพื่อแสดงเจตนาว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และการยกข้ออ้างในเรื่องการเจรจานั้น ปรากฎข้อเท็จจริงว่าไม่มีผลความคืบหน้าแต่ประการใดทั้งสิ้นเพราะข้อเสนอของทางบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่เคยได้รับการตอบรับใดๆ จากหน่วยงานของรัฐทั้ง 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้

ประเด็นที่ 2 กรณีการจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร ขอเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อศาลปกครอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1613/2563 แล้ว จึงยังไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้

บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอโต้แย้งว่า การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการจัดตั้งกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2533 โดยพิจารณาได้จากหนังสือของกระทรวงคมนาคมเอกสารลำดับที่ 2 ในข้อ 2.9 ที่กระทรวงคมนาคมเจรจาและตกลงกับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) จัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อลงนามและดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งได้รับการยกเว้นการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าวในกิจการขนส่ง ตามข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พ.ย.2515 แล้ว

อนึ่ง ได้ทราบข้อเท็จจริงในขณะนี้ว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 1613/2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 ไม่รับคำฟ้องของการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1721/2563 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยรับทราบคำสั่งของศาลปกครองกลางแล้ว ตามรายงานการส่งหมายที่ปรากฎในสำนวนของศาลปกครองกลาง ดังนั้น ข้ออ้างของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประทศไทย จึงเป็นเพียงการบิดพลิ้วเพื่อถ่วงเวลาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

สำหรับคดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223-2562 (คดีโฮปเวลล์) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 โดยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำร้อง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชำระเงินจำนวนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร

สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ระงับการเปิดเผยรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ‘การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางยกระดับและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์)’ ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 และอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล ล่าสุดพบว่า ในเว็บไซด์ของคลังสารสนเทศของสภานิติบัญญัติ ไม่ปรากฎว่ามีรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/92700-hopewell-Claim-damages-administrative-court-news.html

- Advertisement -