พร้อมหรือไม่? ส่องความท้าทายอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศ กับภารกิจแจกจ่ายวัคซีนโควิดทั่วโลก

82

“…ณ เวลานี้ อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศกำลังวางแผนว่าจะจัดส่งวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 พันล้านโดสได้อย่างไร แม้ว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยังไม่ได้อนุวัติวิธีการใช้วัคซีนที่กำลังพัฒนาเพื่อกรรักษาก็ตาม โดยบริษัทขนส่งได้กล่าวว่าตอนนี้พวกเขากำลังต้องวางแผน โดยไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าจะมีวัคซีนจำนวนกี่โดสที่จะต้องส่ง วัคซีนจะถูกผลิตที่ไหน และวัคซีนจะถูกเก็บรักษาไว้ยังที่ไหน…”

จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ซึ่งแม้จะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนเป็นลำดับ และคาดว่าภายในก่อนสิ้นปีนี้น่าจะมีการอนุมัติวัคซีนซึ่งสามารถใช้งานได้ออกมา

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือ การจัดส่งวัคซีนไปอย่างแพร่หลาย ว่าจะทำได้หรือไม่

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงบทความจากสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นัลของสหรัฐอเมริกาในบทความชื่อว่า “การจัดส่งวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 นั้นถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เห็นถึงจุดอ่อนสำคัญในวงการการขนส่งทั่วโลก และทำให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์จำเป็นต้องกำหนดความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในประเด็นว่าจะทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในการจัดส่งวัคซีน

นายกลิน ฮิวส์ ประธานสมาคมการขนส่งทางอากาศนานาชาติ ได้ออกมาระบุว่า “ถ้าหากเรามีวัคซีนจำนวน 50 ล้านโดสในตอนนี้ คำถามคือเราจะสามารถแจกจ่ายมันได้เป็นจำนวนทั้งหมดหรือไม่ และคำตอบก็คือไม่ได้ทั้งหมด เพราะต้องขึ้นกับขอบเขตของกฎหมายในแต่ละท้องที่ด้วย”

ณ เวลานี้ อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศกำลังวางแผนว่าจะจัดส่งวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 พันล้านโดสได้อย่างไร แม้ว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยังไม่ได้อนุวัติวิธีการใช้วัคซีนที่กำลังพัฒนาเพื่อกรรักษาก็ตาม

โดยบริษัทขนส่งได้กล่าวว่า ตอนนี้พวกเขากำลังต้องวางแผน โดยไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าจะมีวัคซีนจำนวนกี่โดสที่จะต้องส่ง วัคซีนจะถูกผลิตที่ไหน และวัคซีนจะถูกเก็บรักษาไว้ยังที่ไหน

ทั้งบริษัทยาและบริษัทขนส่งคาดหวังว่าวัคซีนจำนวนมากน่าจะถูกส่งมาด้วยวิธีการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเวลานี้ผู้บริหารบริษัทสายการบินด้านการขนส่งสินค้ากำลังพยายามที่จะกำหนดตารางเวลาการขนส่ง โดยอาศัยการคาดการว่าวัคซีนน่าจะมีการอนุมัติให้ใช้งานได้ภายในไม่เกินต้นเดือน ก.ย. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นช่วงสำคัญสำหรับธุรกิจการขนส่ง

บริษัทขนส่งอาทิ FedEx และ DHL ได้เริ่มการเตรียมตัวสำหรับการขนส่งวัคซีนแล้ว อาทิ การเตรียมระบบจับตาอุณหภูมิเพื่อเฝ้าระวังการขนส่งวัคซีน ขณะที่บริษัท United Parcel Service Inc และบริษัท Deutsche Lufthansa AG ก็ได้เริ่มกระบวนการสร้างฟาร์มแช่แข็ง ควบคู่ไปกับระบบตู้ความเย็นที่สนามบิน เพื่อจะใช้เป็นสถานที่ในการเก็บวัคซีนที่สนามบินซึ่งจะกลายเป็นศูนย์รวมของวัคซีนโควิด 19

ฟาร์มแช่แข็งซึ่งใช้ในการเก็บวัคซีน พัฒนาโดยบริษัทขนส่งยูพีเอส (อ้างอิงรูปภาพจากสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์)

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนถึงช่วง ก.พ. 2564 จะเป็นช่วงเวลาที่ตารางการขนส่งสินค้าแน่นมาก เนื่องจากการสั่งจองสินค้าทางอิเล็กส์ทรอนิกส์ซึ่งมีจำนวนสูง โดยเฉพาะในช่วงปีนี้ที่จะมีการเปิดตัวของโทรศัพท์ไอโฟน 5 จี และเครื่องเล่นวิดีโอเกมส์เพลย์สเตชั่น 5

“เรากำลังวางแผนการขนส่งในช่วงเวลาที่พีคสุดๆ” นายดอน คอลเลอราย ประธานฝ่ายการลงทุนบริษัท FedEx กล่าวในการประชุมกับผู้ลงทุนเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่สายการบินต่างๆได้กล่าวว่า ณ เวลานี้ มีการจัดเตรียมพื้นที่ว่างบนเครื่องบินเอาไว้สำหรับการขนส่งเวชภัณฑ์ที่สำคัญ อาทิ เช่นวัคซีน ดังเช่นที่สายการบินได้เคยเตรียมที่ว่างเอาไว้สำหรับการขนส่งชุดป้องกันการติดเชื้อหรือชุดพีพีอี ในช่วงตลอดเวลาของการระบาด

ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งได้เคยกล่าวว่าวัคซีนที่มีความสำคัญนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาของการขนส่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อวัคซีนได้ ซึ่งอุณหูมิที่พอเหมาะพอสมนั้นจะต้องอยู่ที่ระหว่างจุดเยือกแข็งไปจนถึง – 70 องศาเซลเซียส

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทยาก็ได้เคยให้ข้อมูลเช่นกันว่าการขนส่งวัคซีนที่ผ่านมานั้นจะมีวัคซีนซึ่งได้รับความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 5-20 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากระบบควบคุมอุณหภูมิที่ไม่มีคุณภาพ

ซึ่งทางด้านของนายไมเคิล สตีนผู้บริหารบริษัท Atlas Air Worldwide Holdings Inc กล่าวว่า นี่ถือเป็นความท้าทายในอุตสาหกรรมการขนส่งที่ใหญ่หลวงที่สุด

ผู้บริหารบริษัทขนส่งหลายคนคาดการณ์ว่าคงจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เพื่อที่วัคซีนจะสามารถเข้าถึงประชากรทั้งหมดในโลกได้ เพราะว่ายังคงมีข้อจำกัดและความท้าทายต่างๆที่ต้องเผชิญในโครงสร้างตลาดการขนส่งสินค้า

ยกตัวอย่างเช่นการส่งวัคซีนสำหรับไข้หวัดตามฤดูกาลจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้ากันหลายเดือน ซึ่งรวมไปถึงการิเคราะห์ว่าการใช้เส้นทางบินใดที่อาจจะมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและทำให้วัคซีนเสียหาย

ด้านสมาคมขนส่งทางอากาศนานาชาติได้มีการประเมินแล้วว่าการจะขนย้ายวัคซีนให้กับประชากรทั่วโลก เป็นจำนวนอย่างน้อยคนละ 1 โดส จำเป็นต้องใช้ความจุของเครื่องบินแบบโบอิ้ง 747 เต็มความจุ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,000 เที่ยวบิน และทางบริษัท DHL กับบริษัท McKinsey & Co ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมไปอีกก็พบว่าถ้าหากต้องขนส่งวัคซีน ควบคู่กับอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นในการฉีดวัคซีน อาทิ เข็มฉีดยา อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะฉีดวัคซีน นั่นหมายความว่าจะต้องใช้เที่ยวบินเครื่องบินโบอิ้ง 747 จำนวนอย่างน้อย 15,000 เที่ยวบิน จึงจะสามารถขนส่งวัคซีนได้ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนั้น การขนส่งเวชภัณฑ์ยังคงอยู่ที่ 1.9 เปอร์เซ็นต์ของการขนส่งทั้งหมดในโลก และการมาถึงของวัคซีนไวรัสโควิด-19 ก็อาจจะทำให้สัดส่วนการขนส่งเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของสัดส่วนการขนส่งทั้งหมดในโลก แต่ต้องอย่าลืมว่าไม่ใช่ว่าเครื่องบินขนส่งทั้งหมดจะมีความพร้อมสำหรับการปรับอุณหภูมิคาร์โก้เพื่อใช้รองรับในการขนส่งวัคซีน

อ้างอิงวิดีโอจากช่อง Wendover Productions

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด ก็ทำให้ที่ว่างในคาร์โก้นั้นลดน้อยลงยิ่งกว่าแต่ก่อนในช่วงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะสายการบินพาณิชย์ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ผลกระทบที่ตามมาก็คือ การขนส่งสินค้าที่เคยกระทำได้ผ่านการขนส่งทางสายการบินพาณิชย์ก็เปลี่ยนไป ทำให้มีการใช้บริการการขนส่งด้วยสายการบินด้านการขนส่งสินค้ามากขึ้นนั่นเอง

โดยในปีนี้มีมีรายงานข้อมูลในช่วงเดือน ส.ค. ว่า ขีดความสามารถของคาร์โก้การขนส่งทางอากาศนั้นลดลง 32 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดความต้องการการใช้บริการขนส่งทางอากาศนั้นลดลงไปประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันบริษัทขนส่งอาทิบริษัท Atlas ได้พยายามที่จะเพิ่มเที่ยวบิน โดยนำเอาเครื่องบิน 747 ที่เก็บไว้ที่ทะเลทราย รวมไปถึงการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารให้ทำหน้าที่ขนส่งเวชภัณฑ์ได้ แต่ก็มีอีกปัจจัยที่อาจจะส่งผลทำให้การขนส่งนั้นประสบปัญหาได้ก็คือช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนในเรื่องการอนุมัติวัคซีน

ยกตัวอย่างเช่นในตอนนี้ บริษัทผลิตวัคซีนอย่างไฟเซอร์ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทได้ผลิตวัคซีนไว้เป็นจำนวนมากและเตรียมพร้อมสำหรับการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่แน่นอนในเรื่องของช่วงเวลาที่วัคซีนจะได้รับการอนุมัติ และเงื่อนไขในเรื่องของการขนส่งวัคซีน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบไปถึงการจองพื้นที่ความจุคาร์โก้เพื่อจะใช้การขนส่งวัคซีนทางอากาศเช่นกัน

เพราะว่ากว่าที่วัคซีนจะได้รับการอนุมัติ ก็อาจจะไปตรงกับช่วงเวลาที่การขนส่งทางอากาศมีความหนาแน่นที่สุดก็เป็นได้ และแน่นอนว่านั่นก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้การขนส่งวัคซีนมีความล่าช้าอีกก็เป็นได้

และอีกอุปสรรคหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือแม้ว่าบริษัทหลายบริษัทรวมไปถึงบริษัทไฟเซอร์ได้พยายามที่จะผลิตกล่องและบรรจุภัณฑ์สำหรับวัคซีน อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์เหล่านี้นั้นมีความซับซ้อนและการจัดการ อาทิ การเปิดกล่องบรรจุภัณฑ์นั้นอาจจะทำให้วัคซีนประสบความเสียหายได้เช่นกัน ดังนั้น การทำตามาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้วัคซีนเสียหายนั้น ก็อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการจัดส่งวัคซีนซึ่งควรจะนำไปใช้ในการช่วยชีวิตผู้อื่นได้อีกเช่นกัน และยังไม่นับถึงประเด็นว่าเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการขนส่งนั้นจะมีขีดความสามารถในการดูแลบรรจุภัณฑ์วัคซีนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายได้หรือไม่

ส่วนที่ประเทศไทยนั้น ณ เวลานี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมาเลยว่า รัฐบาลจะมีแผนการจัดการขนส่งวัคซีนทางอากาศจากต่างประเทศเข้ามาที่ประเทศไทยอย่างไร เป็นจำนวนเท่าไร จะแจกจ่ายไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้อย่างไร และจะต้องใช้เวลานานเท่าไร ประชาชนไทยทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนที่เพียงพอ

เรียบเรียงจาก : https://www.wsj.com/articles/covid-19-vaccine-delivery-will-present-tough-challenge-to-cargo-airlines-11601890203

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/92618-airtransport.html

- Advertisement -