บัตรทองเฮ! รักษาได้ทุก รพ. เริ่ม 1 พ.ย. นำร่องกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

739

สปสช.ยกระดับบัตรทอง พัฒนา 4 บริการ ชูนโยบาย 30 บาทรักษาได้ทุกที่ เริ่ม 1 พ.ย. นำร่อง กรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอเพื่อยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้

นายอนุทิน กล่าวว่า การประชุมบอร์ด สปสช. ในวันนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบข้อเสนอ สปสช. ในการพัฒนาระบบบริการ ช่วยลดขั้นตอน แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ ตามที่ได้มอบนโยบาย สปสช. ก่อนหน้านี้

“และในวันนี้ สปสช.ได้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช. เพื่อดำเนินการเร่งด่วนใน 4 เรื่องด้วยกัน ดังนี้ 1.ประชาชนเจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ในระบบบัตรทอง ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” โดยเป็นการเริ่มที่บริการระดับปฐมภูมิ เบื้องต้นนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งภาพรวมโครงสร้างของระบบบริการมีความพร้อมที่จะเดินหน้าได้ โดย สธ. และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับ มีการเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วยเพิ่มเติม จัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอพพลิเคชั่น และมีระบบยืนยันตัวตนประชาชนในการรับบริการผ่านบัตรประชาชน ทั้งนี้จะเริ่มต้นได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้” รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า 2.ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว เดิมผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล (รพ.) มีส่วนหนึ่งต้องนอนรักษาต่อเนื่องด้วยสาเหตุทางการรักษา ซึ่งในกรณีที่ใบส่งตัวครบกำหนด ในการใช้สิทธิบัตรทองต่อเนื่อง ผู้ป่วยหรือญาติต้องกลับไปยังหน่วยบริการประจำเพื่อขอใบส่งตัวใหม่ เกิดความไม่สะดวกและเป็นปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัด ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกดูแลในกรณีนี้ สปสช.ได้ปรับระบบให้ผู้ป่วยในสามารถรักษาต่อเนื่องได้ทันทีตามการวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่ต้องใบส่งตัว ใช้เพียงบัตรประชาชนตรวจสอบตัวตนผู้ป่วย ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2564 ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป 3.โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม โรคมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้อาการลุกลามและมะเร็งบางชนิดยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ด้วยขั้นตอนการส่งตัวผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง บางครั้งอาจเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยเร็ว

“ดังนั้น สปสช. ได้ปรับระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งจะได้ใบรับรองและประวัติ หรือโค้ดเพื่อเลือกไปรับบริการที่อื่นผ่าน 3 ช่องทาง คือ สายด่วน สปสช.1330 แอพพ์ฯ สปสช. และติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะที่โรงพยาบาลรักษามะเร็งที่มีความพร้อมเข้าร่วม ให้บริการตามโปรโตคอลรักษามะเร็ง บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) โดยค่าบริการให้ส่งข้อมูลเบิกจ่ายมายัง สปสช. ซึ่งได้มีการออกแบบการบริหารจัดการไว้แล้ว ทั้งนี้จะเริ่มในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2564” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า 4.ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เป็นปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องมาระยะหนึ่ง ด้วยติดขัดการเข้ารับรักษาในช่วงของการเปลี่ยนหน่วยบริการที่ตามระบบกำหนดให้ต้องรอ 15 วัน แต่ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาก้าวหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยบริการ ทำให้ สปสช. สามารถปรับระบบแก้ปัญหาช่องว่างนี้ได้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันทีหลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ รวมถึงกรณีที่ประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการเองผ่านแอพพ์ฯ สปสช. โดยหน่วยบริการสามารถพิสูจน์สิทธิและเบิกจ่ายค่าบริการผ่านบัตรประชาชนสมาร์ท การ์ด ทั้งนี้จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2564

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเลือกพื้นที่ โดยต้องมีการประเมินก่อนว่าพื้นที่ไหนมีศักยภาพในการนำร่องเรื่องนี้ ต้องหาพื้นที่ที่มีต้นทุนในเรื่องระบบการจัดการอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเขต 1 เขต 12 เขต 9 และ กทม. ซึ่งมีศักยภาพ มีการบริหารแบบพวงบริการอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องเลือกก่อนว่ามีพื้นที่อื่นๆหรือไม่

“เรายึดหลักการกระจายอำนาจ ซึ่งทำมาแล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมา เบื้องต้นตั้งใจออกแบบด้วยการตั้งคณะกรรมการระดับเขต มีการตั้งกองทุนระดับเขตขึ้นเพื่อให้ในพื้นที่บริหารจัดการเอง ทำเหมือนเขตเป็นประเทศหนึ่งบริหารจัดการ อย่างมีหัวประชากรเท่าไหร่ ก็เอาไปไว้ที่โน้น เพื่อบริหารจัดการเองโดย รพ.ไม่เดือดร้อน ไม่เกิดภาวะขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม การทำรูปแบบนี้จะต้องขอ ก.พ.และ ก.พ.ร. เพื่อดำเนินการ โดยคาดว่าต้องทำให้ได้ภายในปีนี้” ปลัด สธ.กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริการบัตรทองในครั้งนี้ สปสช. สามารถเดินหน้าได้จากรับความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจาก สธ. และ กทม. ในการจัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลรองรับ เพื่อให้ผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมระบบบัตรทองในการปรับระบบบริการ ทั้งผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม และย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน

“ทั้งนี้จากที่บอร์ด สปสช. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ได้มอบคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และ สปสช. ปรับปรุงระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินตามนโยบาย และเสนอให้ประธานบอร์ด สปสช. ลงนามต่อไป” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

Credit : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2380706

- Advertisement -