ศาลอาญาคดีทุจริตฯพิพากษาคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงโทษ ‘จุฬารัตน์ นิรัติศยกุล’ อดีต รษก.เลขากองทุนฟื้นฟูฯ จัดจ้างวิธีพิเศษพีอาร์เร่งด่วน 9 ล้านเอื้อเอกชนโดยมิชอบ – พบ ต.ค.ยังไปร่วมพิธีวันสถาปนากระทรวงทรัพยฯ พร้อม รมต.-ผู้บริหาร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอการลงโทษแก่นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และทำสัญญาว่าจ้างมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นผู้รับจ้าง บริหารจัดการโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ค่าจ้างจำนวน 9 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกินกว่า 5 แสนบาท ที่ไม่มีอำนาจอนุมัติ โดยเป็นกรณีที่สืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเมื่อปี 2562
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2548-2551 รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรกร และเคยเป็นเลขานุการคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในช่วงที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ (อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เป็นประธานคณะกรรมการฯ
ปัจจุบันนางจุฬารัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ทั้งนี้ภายหลังศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2563 นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการ สพภ. ยังเข้าร่วมพิธีวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ และผู้บริหารระดับสูงภายในกระทรวงอยู่
พฤติการณ์โดยสรุปตามคำพิพากษาของศาล ระบุว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้มีเวลาในการศึกษาหาข้อมูล ไม่ได้เปรียบเทียบราคา การจัดจ้างจากหน่วยงานหรือองค์กรอื่นใด อันเป็นการขาดโอกาสในการรักษาผลประโยชน์จากการใช้งบประมาณแผ่นดิน และเปิดช่องให้มีการทุจริตจากการใช้งบประมาณ กรณีนี้มีผลทำให้กองทุนฟื้นฟูฯต้องเสียค่าใช้จ่ายในจำนวนสูงแต่ไม่มีการตรวจสอบ
ดังนั้นการกระทำของนางจุฬารัตน์ที่รีบเร่งแต่งตั้งกรรมการจัดหาพัสดุโดยวิธีพิเศษ แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมงานและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการเพียงไม่กี่วัน ทั้งที่น่าจะมีเวลาเตรียมงานมาตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 2548 แม้นางจุฬารัตน์อ้างว่าเป็นกรณีเร่งด่วน เนื่องจากต้องเร่งประชาสัมพันธ์ และเปิดรับโครงการฟื้นฟูให้ทันภายใน 9 มิ.ย. 2549 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60
ข้ออ้างของนางจุฬารัตน์ไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าตามปกติการจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ โดยศึกษาระเบียบ ข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน นอกจากนี้การจัดงานเฉลิมพระเกียรติไม่จำเป็นต้องตรงกับวันที่ 9 มิ.ย. 2549 ซึ่งเป็นวันครบรอบเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ และสามารถจัดงานในวันหนึ่งวันใด หรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งภายใน 1 ปีแห่งการเฉลิมฉลองก็ได้
สำหรับกรณีนี้หากนางจุฬารัตน์ มีการวางแผนงานที่ดี ไม่เร่งรัด ไม่รีบร้อน และพิจารณาการดำเนินโครงการอย่างรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ตามระเบียบกฎหมายเหมาะสม จะเป็นการสมพระเกียรติ และไม่เสียหายแก่ราชการ
พยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นพิจารณาและชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. รับฟังได้ว่า การที่นางจุฬารัตน์ จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว แม้จะนำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติให้ทำการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเป็นทางการ ประกอบกับการที่นางจุฬารัตน์รีบร้อนลงนามอนุมัติจัดจ้างมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อันมีวงเงินสูงถึง 9 ล้านบาท โดยที่โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการดำเนินงานเพียง 4 เดือน แม้ตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการตรวจรับงาน จะมีการขยายเวลาดำเนินงานในกิจกรรมจากเดิม 1 ก.ย. 2549 เป็น 1 ต.ค.-30 พ.ย. 2549 เพราะมีเหตุการณ์พิเศษทางการเมืองเกิดขึ้นภายหลัง
เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานและพฤติการณ์ที่จำเลยรีบด่วนลงนามอนุมัติการจัดจ้างแล้ว เห็นว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายภุชงค์ กนิษฐชาติ ได้สิทธิรับพิเศษในการเข้ามาทำสัญญากับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ในนามของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาโดยไม่มีการแข่งขัน และโดยที่มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาไม่ได้รับผลประโยชน์อันได้ กรณีจึงถือว่าการกระทำของนางจุฬารัตน์ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนฟื้นฟูฯตามฟ้อง
พิพากษาว่า นางจุฬารัตน์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) จำคุก 5 ปี ทางนำสืบของนางจุฬารัตน์เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 3 ปี 4 เดือน เมื่อได้พิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำของนางจุฬารัตน์แล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 นางจุฬารัตน์ ชี้แจงสำนักข่าวอิศราภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่ใช่การจัดจ้างโครงการประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด แต่เป็นการจ้างมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI เพื่อสร้างความรับรู้กับประชาชนให้เข้าใจในการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เหมือนจ้างเอกชนประชาสัมพันธ์งาน เพราะมูลนิธิฯ ไม่สามารถแสวงหาผลกำไรตรงนี้ได้ ส่วนกรณีที่เป็นประเด็นกับทาง ป.ป.ช. นั้น ส่วนตัวเข้าใจว่าเพราะมีผู้ไปร้องถึงอำนาจของรักษาการเลขาธิการสำนักงานฯในการจัดซื้อจัดจ้างในสัญญาเกิน 9 ล้านบาท ว่าเป็นการทำหน้าที่เกินกว่าอำนาจของรักษาการเลขาธิการฯหรือไม่ นางจุฬารัตน์กล่าวอีกว่า
ส่วนสาเหตุที่ ป.ป.ช.รับเอาข้อร้องเรียนนี้ไปพิจารณา นางจุฬารัตน์ ระบุว่า เพราะดูจากรายงานการประชุม ในรายงานการประชุมนั้นจะมีวาระการพิจารณาแผนประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าหากลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ เห็นได้ชัดเจนเลยว่า เป็นการลงมติให้ไปจัดทำแผนงานสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ดังนั้นที่ไปที่มาก็มาจากความคลาดเคลื่อนในการจัดทำเอกสารดังกล่าว จนทำให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่
“จริง ๆ สิ่งที่เราได้ชี้แจงกับ ป.ป.ช. ไปก็คือ ว่าหากไม่ได้มีการอนุมัติตามที่ ป.ป.ช.สงสัย หรือตั้งข้อสังเกตตามที่ได้มีการฟ้องในการประชุมคราวต่อไป ซึ่งต้องมีรายงานตลอดว่าผลการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร กรรมการก็ต้องมีการท้วงติงไปว่ามีประเด็นที่ทำไม่ชอบเกิดขึ้น เรายืนยันว่าในการทำงานนั้น รัฐไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด และประชาชนเองก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองทุนฯด้วย ซึ่งเราสามารถชี้แจงได้ในประเด็นเรื่องขั้นตอนที่บกพร่อง และขอยืนยันได้ว่าไม่มีเรื่องทุจริตแต่อย่างใด” นางจุฬารัตน์กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบนางจุฬารัตน์ จาก http://www.hiclasssociety.com/
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/92497-isranews-462.html