แพร่กฎกระทรวงเพิ่ม ‘บำเหน็จดำรงชีพ’ เป็น 5 แสน-เคาะกรอบประเมินงาน ขรก.

62

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับเดิม คือ ให้เพิ่มวงเงินบำเหน็จดำรงชีพเป็นไม่เกิน 5 แสนบาท จากเดิม 4 แสนบาท และให้ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 5 แสนบาท

ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เนื่องจากค่าครองชีพภายใต้เศรษฐกิจในปัจจุบันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ผู้รับบำนาญได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีพ จึงสมควรปรับปรุงอัตราบำเหน็จดำงชีพเพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับรายละเอียดของกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้ยกเลิกความในข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 1 บำเหน็จดำรงชีพให้จ่ายในอัตราสิบห้าเท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท โดยให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุต่ำกว่า 65 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 2 แสนบาท

(2) ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 70 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 4 แสนบาท แต่ถ้าผู้รับบำนาญนั้นได้ใช้สิทธิตาม (1) ไปแล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิของผู้นั้น แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 4 แสนบาท

(3) ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 5 แสนบาท แต่ถ้าผู้รับบำนาญนั้นได้ใช้สิทธิตาม (1) หรือ (2) ไปแล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิของผู้นั้น แต่รวมกันแล้วไม่เกินห้าแสนบาท”

นอกจากนี้ การขอรับบำเหน็จดำรงชีพของผู้รับบำนาญตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 ที่ได้ดำเนินการไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและยังอยู่ระหว่างการพิจรณา ให้ถือว่าเป็นการขอรับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎกระทรวงนี้

สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เผยแพร่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง การประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยมีกรอบการประเมิน 2 องค์ประกอบ รวมประเด็นการประเมิน 5 หัวข้อ ได้แก่

องค์ประกอบที่ 1 การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Base) น้ำหนักร้อยละ 70 จำนวน 3-5 ตัวชี้วัด โดยมี 4 ประเด็นการประเมิน ได้แก่ 1.ผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น มติคณะรัฐมนตรีหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda KPI) 2.ผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการ (บังคับส่วนราชการระดับกรม)

3.ผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญที่เป็นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันหลายหน่วยงาน (Joint KPIs) เช่น อุบัติเหตุทางถนน ป่าไม้ ขยะ อากาศ คุณภาพแหล่งน้ำ เป็นต้น 4.ผลการดำเนินงานตามภารกิจพื้นฐาน งานประจำ งานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก งานตามกฎหมาย กฎ หรือภารกิจในพื้นที่ ท้องถิ่นภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด (Function KPI/Area KPI)

องค์ประกอบที่ 2 การประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (Potential Base) น้ำหนักร้อยละ 30 จำนวน 1 ตัวชี้วัด โดยมี 1 ประเด็นการประเมิน คือ ผลการพัฒนาศักยภาพองค์กรสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ซึ่งประกอบด้วย 2 หัวข้อย่อย ได้แก่

1.การพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัล (น้ำหนักร้อยละ 15) ประกอบด้วย การพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นดิจิทัล (Digitize Data) ทั้งข้อมูลที่ใช้ภายในหน่วยงาน และข้อมูลที่จะเผยแพร่สู่หน่วยงานภายนอก/สาธารณะเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูล การพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นกลไกหลักในการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อประกอบการตัดสินใจ และการสร้างนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนงาน หรือการให้บริการ (e-Service)

2.การประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) (น้ำหนักร้อยละ 15)

(ที่มา : มติครม. เรื่อง การประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2563)

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/92496-gov-bureaucrat-Government-gratuity-Evaluation-64-new.html

- Advertisement -