กรณีเก้งเผือกหายครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่งูเหลือมกิน เพราะไม่มีร่องรอยของงูเลย เก้งเผือกค่อนข้างจะใหญ่พอสมควรหากงูกินเข้าไป จะออกไปไหนไม่ได้แน่นอน สภาพกรงเลี้ยงที่เข้าไปดูมีจุดที่เป็นร่มไม้ พบบางจุดมีผุไม่แข็งแรงบ้าง เช่น ประตู ต้องใช้ลวดมัด หากสันนิษฐานว่าคนขโมยด้วยพฤติกรรมของสัตว์หากมีคนแปลกหน้าเข้าไปจะส่งเสียงร้องค่อนข้างดัง ถ้าเป็นคนเลี้ยงก็จะไม่ร้องไม่ตื่นเท่าที่ควร
กรณี ลูกเก้งเผือก จำนวน 1 ตัว ที่ สวนสัตว์สงขลา ประสบความสำเร็จเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จากเก้งที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้หายไปจากสวนสัตว์อย่างไร้ร่องรอย ในช่วงเดือนก.พ.2563 อันนำมาซึ่งเหตุการณ์เศร้าสลดของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้
เมื่อนายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ลงพื้นที่ไปติดตามตรวจสอบข้อมูลกรณีนี้ ด้วยตนเอง ถูกนายสัตวแพทย์ภูวดล สุวรรณะ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์สงขลา ใช้อาวุธปืนยิงในช่วงสายวันที่ 3 ต.ค.2563 ส่งผลทำให้ นายสุริยา แสงพงค์ เสียชีวิต ขณะที่ นายสัตวแพทย์ภูวดล สุวรรณะ ซึ่งเป็นผู้ลงมือก่อเหตุยิง นายสุริยา จนเสียชีวิต ได้ยิงตัวเองเสียชีวิตที่บ้านพักในสวนสัตว์สงขลาในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการหายตัวปริศนาของลูกเก้งเผือก ของ สวนสัตว์สงขลา นั้น หากไล่เลียงข้อมูลตามที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอไปก่อนหน้านี้ จะพบว่า ข้อสังเกตสำคัญดังนี้
หนึ่ง : สรุปแล้วลูกเก้งเผือกหายไปกี่ตัวกันแน่?
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อเท็จจริงมานำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในช่วงเดือนก.พ.2563 เจ้าหน้าที่สวนสัตว์สงขลารายหนึ่ง ได้ทำบันทึกข้อความรายงานเรื่องลูกเก้งเผือกสูญหายออกจากส่วนแสดงให้กับผู้บริหารสวนสัตว์สงขลา ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. วันที่ 19 ก.พ.2563 ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เลี้ยงสัตว์ตามขั้นตอนการปฎิบัติงานประจำวัน โดยหลังจากการตรวจนับจำนวนสัตว์ พบว่า มีลูกเก้งเผือก จำนวน 1 ตัวหายไป เบื้องต้นจากการตรวจเช็คบริเวณภายในและภายนอกส่วนจัดแสดงของสวนสัตว์ ไม่พบความผิดปกติอะไร
ซึ่งภายหลังทราบเรื่อง ผู้บริหารสวนสัตว์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน ตั้งประเด็นการหายตัวไปของ ลูกเก้งเผือกไว้ 3 เรื่องคือ 1. ถูกสัตว์อื่นมาทำร้ายเช่น งู 2. ลูกเก้งเผือก หลุดออกไปจากส่วนจัดแสดง และ 3. อาจจะถูกขโมยออกไปจากสวนสัตว์ ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า สาเหตุการหายตัวไปของ ลูกเก้งเผือก น่าจะเป็นเพราะถูกขโมยออกไปจากสวนสัตว์
ต่อมาสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลใหม่ว่า ในช่วงเดือนพ.ค.2563 สวนสัตว์สงขลา ได้ทำหนังสือถึง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขอให้ตรวจสอบซากกระดูกสัตว์มีเนื้อแห้งติดกระดูก ก่อนผลการตรวจสอบจะพบว่า กระดูกสัตว์ดังกล่าว เป็นกระดูกของเก้งสายพันธุ์ธรรมดา เบื้องต้น เจ้าหน้าที่สวนสัตว์สงขลาให้ข้อมูลว่า ตรวจสอบพบซากกระดูกสัตว์ดังกล่าว ภายในส่วนจัดแสดงเก้งเผือก เมื่อในช่วงกลางเดือนเม.ย.2563 จึงทำให้ผู้บริหารในสวนสัตว์สงขลา ตั้งสันนิฐานว่า ซากกระดูกสัตว์ส่วนนี้ อาจจะเป็นกระดูก ของ ลูกเก้งเผือก ที่หายไป และสาเหตุการตายก็อาจจะถูกงูกินเข้าไป
แต่ข้อสันนิฐานดังกล่าว ก็มีข้อโต้แย้งหลายประการ อาทิ ถ้าหากลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานถูกงูกินเข้าไป โดยธรรมชาติงูเหลือมจะเลื้อย ออกไปไหนไม่ได้ เนื่องจากเก้งเผือกมีอายุ 3 เดือนน้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม ขณะที่ช่วงเวลาที่ตรวจสอบพบ ซากกระดูกสัตว์ดังกล่าว ก็ห่างจากช่วงเวลาที่มีการตรวจพบว่า ลูกเก้งเผือกหายตัวไปกว่า 2 เดือน และที่สำคัญการพบซากกระดูกดังกล่าว ไม่มีทำเรื่องแจ้งเข้ามาให้องค์การสวนสัตว์ส่วนกลาง รับทราบเป็นทางการตามระเบียบขั้นตอนปฏิบัติที่สวนสัตว์ในสังกัดองค์การสวนสัตว์ ทุกแห่งจะต้องมีการรายงานตัวเลขจำนวนประชากรสัตว์ทั้งเกิด ป่วย ตาย ให้ส่วนกลางรับทราบเป็นประจำทุกเดือน
ทั้งนี้ กรณีการตรวจสอบพบซากกระดูกเก้งแล้ว ไม่มีการรายงานเข้ามาให้ส่วนกลางรับทราบ ทำให้สวนสัตว์สงขลา ถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมาก ว่า
1.มีใครที่ต้องการทำอะไรเพื่อปกปิดหลักฐานการหายตัวไปของลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่หายไปหรือไม่
2. ถ้าซากกระดูกเก้ง ที่ตรวจสอบพบ ไม่ใช่ ลูกเก้งเผือก แล้วเป็นเก้งจากไหน
3. ถ้าซากกระดูกเก้งที่พบเป็นเก้งในสวนสัตว์ตัวใหม่ที่ตายลง ทำไมถึงไม่มีการรายงานข้อมูลเรื่องนี้ให้ส่วนกลางรับทราบเป็นทางการ?
4. นอกจากเก้ง ที่หายไปแล้ว มีสัตว์ชนิดอื่น ที่หายไปในลักษณะเดียวกันนี้อีกหรือไม่
และ 5. สวนสัตว์ของรัฐ กำลังถูกคนบางกลุ่มใช้เป็นฐานฟอกสัตว์ของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ที่ผิดกฎหมายหรือไม่
สอง : ข้อสังเกตเรื่องเวลา และการรายงานข้อมูลความผิดปกติ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับลูกเก้งเผือกตัวแรก ที่สูญหายไปในช่วงเดือนก.พ.2563 ดังกล่าว พบข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้
ข้อสังเกตที่ 1.
ในบันทึกรายงานเรื่องการหายตัวไปของลูกเก้งครั้งแรก ที่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์สงขลา มีตำแหน่งเป็นพนักงานบำรุงสัตว์ 4 และเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเก้งเผือก นำเสนอผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา ผ่านหัวหน้าฝ่ายบำรุงสัตว์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2563 ห่างจากช่วงเวลาวันที่ 19 ก.พ.2563 ที่ระบุว่า ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เลี้ยงสัตว์ตามขั้นตอนการปฎิบัติงานประจำวัน และหลังจากการตรวจนับจำนวนสัตว์ พบว่า มีลูกเก้งเผือก จำนวน 1 ตัวหายไป ประมาณ 5 วัน
ทั้งนี้ ในบันทึกรายงานเรื่องการหายตัวไปของลูกเก้งครั้งแรกดังกล่าว ยังระบุว่า หลังจากตรวจสอบพบว่า มีลูกเก้งเผือก จำนวน 1 ตัวหายไป ได้แจ้งหัวหน้างาน และหัวหน้าฝ่ายเพื่อทราบแล้ว และนับตั้งแต่ วันที่ 19 ก.พ.2563 เป็นต้นมา พนักงานบำรุงสัตว์ 4 ที่เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเก้งเผือกรายนี้ และเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งราย ซึ่งมีตำแแหน่งนักวิชาการสวนสัตว์ 6 เจ้าหน้าที่ดูแลเก้งเผือก ได้ทำการค้นหาลูกเก้งเผือกบริเวณใกล้เคียงส่วนจัดแสดงโดยรอบอย่างต่อเนื่อง
คำถาม คือ ทำไมต้องรอให้เวลาผ่านไป 5 วัน ถึงค่อยมีการทำบันทึกรายงานให้ผอ.สวนสัตว์สงขลา รับทราบเป็นทางการ? (กรณีการตรวจสอบพบซากกระดูกเก้งตัวที่สอง ก็ไม่มีการรายงานเข้ามาที่ส่วนกลางทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่)
ข้อสังเกตที่ 2.
ในรายงานผลการสอบสวนเรื่องการหายตัวไปของลูกเก้ง ที่มีการจัดทำเป็นบันทึกข้อความ เสนอต่อ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา ลงวันที่ 30 มี.ค.2563 เป็นทางการ มีการระบุข้อมูลคำให้การของพยานที่จำนวนหลายราย ที่ชี้ให้เห็นความผิดปกติ เรื่องการหายตัวไปของลูกเก้ง ดังนี้
พยานคนที่ 5 สพ.ญ.อ. ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ 5 ให้การโดยสรุปว่า ตนได้รับแจ้งว่าเก้งเผือกสูญหาย ประมาณ 2-3 วัน หลังจากที่หายไปแล้ว ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีงูเหลือมเข้ามากินลูกเก้งเผือก แต่พบเห็นงูนอนอยู่ภายในไม่ออกไปไหน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ กรณีเก้งเผือกหายครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่งูเหลือมกิน เพราะไม่มีร่องรอยของงูเลย เก้งเผือกค่อนข้างจะใหญ่พอสมควรหากงูกินเข้าไป จะออกไปไหนไม่ได้แน่นอน สภาพกรงเลี้ยงที่เข้าไปดูมีจุดที่เป็นร่มไม้ พบบางจุดมีผุไม่แข็งแรงบ้าง เช่น ประตู ต้องใช้ลวดมัด หากสันนิษฐานว่าคนขโมยด้วยพฤติกรรมของสัตว์หากมีคนแปลกหน้าเข้าไปจะส่งเสียงร้องค่อนข้างดัง ถ้าเป็นคนเลี้ยงก็จะไม่ร้องไม่ตื่นเท่าที่ควร
พยานคนที่ 6 นาย จ. ตำแหน่ง ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ฝ่ายพัฒนาสวนสัตว์ ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัย ให้การโดยสรุปว่า เข้าเวร ผลัด 2 เวลา 16.00 น. และออกเวร เวลา 24.00 น. ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ในวันดังกล่าวได้ขับรถเวียนส่วนจัดแสดงสัตว์โดยรอบ แต่ไม่ได้ลงไปดู เนื่องจากไม่พบความผิดปกติใด ๆ และไม่ได้รับแจ้งว่ามีเก้งเผือกสูญหาย ซึ่งต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ได้สอบถาม นาย ท. คนเลี้ยง เรื่องเก้งเผือกสูญหาย และได้แนะนําให้แจ้ง รปภ. ทราบเพื่อเขียน บันทึกประจำวัน แต่นาย ท. บอกว่าได้บันทึกรายงานเสนอฝ่ายบํารุงสัตว์แล้ว (อิศรา : ข้อมูลเชื่อมโยงกับข้อสังเกตที่ 1)
พยานคนที่ 8 นาย อ. ตำแหน่ง ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ฝ่ายพัฒนาสวนสัตว์ ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัย ให้การโดยสรุปว่า ตนเข้าเวร ผลัด 1 เวลา 08.00 น. ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และออกเวร เวลา 16.00 น. ในการปฏิบัติงานดูแลความปลอดภัยภายในสวนสัตว์ จะขับรถเวียน โดยรอบสวนสัตว์ ผ่านทุกส่วนจัดแสดงสัตว์ และในวันนั้นไม่มีความผิดปกติใด ๆ แต่มีบุคคลเข้าออกบ้านพัก ก็จะขับรถตามลงไปห่างๆ เมื่อถึงบ้านพัก จึงกลับมาอยู่ที่ป้อมยามเช่นเดิม ทั้งนี้ รปภ. เพิ่งทราบภายหลังว่ามีเก้งเผือกสูญหาย และจะไม่ทราบว่ามีเก้งเผือกจำนวนกี่ตัว ทราบเพียงว่ามีเก้งเผือกเกิดใหม่เท่านั้น เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฝ้าติดตามตลอดทั้งคืน
จากข้อมูลทั้งหมดชี้ให้เห็นข้อสังเกตสำคัญหลายจุด เกี่ยวกับเรื่องการหายไปของลูกเก้งเผือก ทั้งในเรื่องเงื่อนเวลา และขั้นตอนการรายงานข้อมูลความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสัตว์
ที่ยังเป็นปริศนาสำคัญ รอการตรวจสอบให้เกิดความกระจ่างชัดเจนต่อสาธารณชนต่อไป
โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ว่า เบื้องหลังการหายตัวไปของ ลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทาน การตรวจสอบพบซากกระดูกเก้งอีกตัว มีความเชื่อมโยงขบวนการลักลอบค้าสัตว์ที่ผิดกฎหมายหรือไม่?
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/92490-repoer03-48.html