สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ได้รายงานว่าเพนตากอนได้นำงบประมาณส่วนใหญ่ซึ่งได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสจำนวนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (31,625,000,000 บาท) ในช่วงเดือน มี.ค. ไปจัดซื้อจัดจ้างบริษัทผลิตชุดเกราะ และชิ้นส่วนเครื่องบินทางทหาร ทั้งๆที่จริงๆแล้วจุดประสงค์ของสภาคองเกรสที่อนุมัติงบประมาณจำนวนดังกล่าวนั้นก็เพื่อให้เพนตากอนได้ผลิตอุปกรณ์ทางกรแพทย์ อาทิ ชุดป้องกันการติดเชื้อและหน้ากากอนามัยแบบ N95
——————-
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีข้อครหาการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งผิดวัตถุประสงค์ซึ่งเกิดขึ้นที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา หรือเพนตากอน โดยสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ได้รายงานว่าเพนตากอนได้นำงบประมาณส่วนใหญ่ซึ่งได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสจำนวนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (31,625,000,000 บาท) ในช่วงเดือน มี.ค. ไปจัดซื้อจัดจ้างบริษัทผลิตชุดเกราะ และชิ้นส่วนเครื่องบินทางทหาร ทั้งๆที่จริงๆแล้วจุดประสงค์ของสภาคองเกรสที่อนุมัติงบประมาณจำนวนดังกล่าวนั้นก็เพื่อให้เพนตากอนได้ผลิตอุปกรณ์ทางกรแพทย์ อาทิ ชุดป้องกันการติดเชื้อและหน้ากากอนามัยแบบ N95
โดยงบประมาณดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายซึ่งเรียกว่า Cares Act ที่สภาคองเกรสได้ผ่านให้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยจัดสรรให้กับทางเพนตากอนเพื่อที่จะป้องกันและตอบสนองกับสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งในภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้อนุมัติให้ใช้กฎหมายการผลิตเพื่อป้องกันประเทศในช่วงปลายเดือน มี.ค. เพื่อรับมือกับสถาการณ์โควิด 19 ก็ทำให้งบประมาณที่สนับสนุนให้กับเพนตากอนนั้นไปอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ได้รับงบประมาณ เพนตากอนกลับได้เอาเงินงบประมาณจำนวนนี้ไปใช้ในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิการให้สัญญากับบริษัทโรลส์-รอยซ์ และอาร์เซเลอร์มิตทาล (Rolls-Royce and ArcelorMittal) คิดเป็นมูลค่า 186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(5,882,250,000 บาท) เพื่อว่าจ้างให้ต่อเรือและบำรุงรักษายุทโธปกรณ์กรกองทัพเรือ จัดสรรงบประมาณอีกหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อที่จะพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และซ่อมแซมระบบเรดาห์ทั่วโลก จัดสรรงบประมาณอีก 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,530,000,000 บาท)ให้กับบริษัทสปิริตแอร์โรซิสเต็ม (Spirit Aerosystems) เพื่อที่จะเสริมสร้างสมรรถนะการผลิตอากาศยานในประเทศในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 จัดสรรงบประมาณอีกจำนวน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(474,375,000 บาท) ให้กับบริษัทบีเทล อินดัสตรี (Bethel Industries) สำหรับการผลิตเลเซอร์ และเสริมสร้างการผลิตชุดเกราะทางการทหาร และอีก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (63,250,000 บาท) ให้กับบริษัทอเมริกันวูลเล็น (American Woolen Company) เพื่อที่จะส่งเสริมการผลิตผ้าใยสังเคราะห์สำหรับเครื่องแบบทหารบกสหรัฐฯ
ขณะที่ทางด้านของเจ้าหน้าที่จากเพนตากอนก็ได้ชี้แจงต่อสภาคองเกรสว่าการนำเอางบประมาณดังกล่าวไปใช้เสริมความสามารถในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้นตรงตามเจตนารมณ์ของทางทำเนียบขาว ที่จะต้องลดการพึ่งพาทรัพยากรด้านยุทธภัณฑ์จากต่างประเทศ ในช่วงวิกฤติโรคระบาด อีกทั้งกฎหมายการผลิตเพื่อป้องกันประเทศก็ยังให้อิสระแก่เพนตากอนในการนำงบประมาณไปใช้ตามที่เห็นสมควร
มีรายงานต่อไปด้วยว่าเพนตากอนได้มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณอีกกว่า 688 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (21,758,000,000 บาท) ไปกับผู้รับเหมาด้านกลาโหมจำนวนกว่า 30 แห่งในประเทศสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบก็พบว่าบริษัทจำนวน 10 แห่งจากทั้งหมด 30 แห่งนั้นได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการกองทุนให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดเล็กหรือ Paycheck Protection Program (PPP) อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับงบประมาณของกองทัพสหรัฐฯที่จะได้รับในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งนับตั้งแต่เดือน ต.ค.จนถึงเดือน ก.ย. 2564 จะอยู่ที่ 934,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (29,537,750,000,000 บาท)
ขณะที่ทางด้านของนางเอลเล็น ลอร์ด ผู้ช่วยเลขนุการกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับผิดชอบในด้านจัดหายุทธปัจจัยอย่างยั่งยืนก็ได้กล่าวกับสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ว่าต้องขอขอบคุณทางสภาคองเกรสที่ได้ให้อำนาจและทรัพยากรในด้านการลงทุนการผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะกับการผลิตเวชภัณฑ์ที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการปกป้องขีดความสามารถในการป้องกันประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 ซึ่งเราต้องคำนึงโดยเสมอว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศชาติล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และอุตสาหกรรมของเราก็เปรียบเสมือนกับจุดเชื่อมต่อกันของความมั่นคงทั้ง 2 ด้านนี้
Defense Contractors Need ‘Double-Digit Billions’ in COVID-19 Relief, Official Says | Military.com
นางเอลเล็น ลอร์ด ผู้ช่วยเลขนุการกระทรวงกลาโหม (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.military.com/daily-news/2020/06/11/defense-contractors-need-double-digit-billions-covid-19-relief-official-says.html)
ส่วนทางด้านของคณะกรรมาธิการด้านการด้านความเหมาะสม ซึ่งถูกควบคุมโดยพรรคเดโมแครตก็ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับงบประมาณการป้องกันประเทศในปี 2564 ว่าไม่ได้มีการใช้จ่ายที่ตรงตามเจตนารมณ์ของบประมาณ ซึ่งก็คือการลงทุนและเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการผลิตชุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ(ชุด PPE)ให้ได้เพียงพอรับมือกับสภานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส
“กระทรวงกลาโหมเองก็ได้เคยทำตัวเลขประมาณการ ประเมินว่าการใช้หน้ากากแบบ N95 จะสูงถึง 3.3 พันล้านชิ้น ซึ่งทางคณะกรรมการก็คาดหวังว่าทางกระทรวงกลาโหมจะได้นำงบประมาณนี้ไปใช้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในอุตสาหกรรมการผลิตชุด PPE มากกว่าที่จะนำไปใช้อุดหนุนอุตสาหกรรมทางด้านกลาโหม และยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงกลาโหมยังมีแผนที่จะใช้เงินงบประมาณจำนวนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,162,500,000 บาท) ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายการผลิตเพื่อป้องกันประเทศ (DPA) ไปกับการให้สินเชื่อบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้เข้าข่ายที่จะอยู่ภายใต้กฎหมาย DPA มาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี” รายงานจากคณะกรรมการด้านความเหมาะสมระบุ
cr:https://www.isranews.org/article/main-investigative/92304-Coviddddd.html