สำนักงบฯ ส่งหนังสือด่วน ถึงส่วนราชการทั่วประเทศ แจ้งถึง งบฯรายจ่ายปี 2564 ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทัน ภายใน วันที่ 1 ต.ค.63 เหตุ ติดขัดกระบวนการ กมธ.ฯ นายกฯ ไฟเขียว ให้ส่วนราชการใช้งบปี 63 ไปพลางๆก่อน ยัน ไม่กระทบเงินเดือนข้าราชการ ส่วน “โครงการลงทุนใหม่” ส่อชะลอออกไปก่อน
วันที่ 13 ก.ย.63 มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 กันยายน 2563 แจ้งให้หน่วยงานราชการทั่วประเทศ ทราบว่าด้วยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะประกาศ ใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
กรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 141 บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณ รายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน ประกอบกับ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 บัญญัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณกําหนดโดยอนุมัตินายกรัฐมนตรี
“บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน ตามที่ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณกําหนดแล้ว และผู้อํานวยการ สํานักงบประมาณได้กําหนดวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหัก งบประมาณรายจ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดังกล่าวได้ ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป”
ก่อนหน้านั้น งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ก็เคยได้รับผลกระทบ “ล่าช้า” ถึง 3 เดือน รัฐบาลสมัยคสช. เคยมีมติ หลักเกณฑ์และเงื่อนไข การใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน เนื่องจากจะมีความล่าช้าจากกระบวนการรัฐสภาเช่นกัน โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้งบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อนได้ ซึ่งตั้งไว้ไม่เกิน 50% หรือ จัดสรรให้ได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ ของวงเงินงบประมาณปี 2562 เช่น งบประมาณรายจ่ายงบกลาง งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ งบประมาณรายจ่ายบุคลากร งบประมาณรายจ่ายสําหรับทุนหมุนเวียน งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชําระหนี้ภาครัฐ
“ในคราวนั้น งบประมาณรายจ่าย ที่ให้ เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง สามารถจัดสรรได้เฉพาะเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเงินสงเคราะห์หรือสวัสดิการที่จ่ายแก่ ประชาชน ในวงเงินไม่เกินหนึ่งในสี่ เช่นกัน”
สำหรับความล่าช้า ของงบประมาณ ปี 2564 เกิดจากการพิจารณางบประมาณในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ 2564 ที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ทำให้ พ.ร.บ.ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 แต่จะไม่กระทบกับการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการและพนักงาน รวมถึงโครงการลงทุนเดิม ที่ก่อหนี้ผูกพันมาจากงบประมาณปีก่อนหน้า ส่วน “โครงการลงทุนใหม่” ต้องชะลอออกไปก่อน
Credit : https://www.mtoday.co.th/60692