“…อนึ่งการลงวันที่อันเป็นเท็จดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นไปเพื่อกันบุคคลบางคนให้ออกจากเรื่องนี้ และเพื่อให้การคำนวณความเร็วรถใหม่ใช้เวลาตามควร เพื่อให้น่าเชื่อถือ การร่วมมือระหว่างทนายความ ผู้ต้องหา ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการดังกล่าว ย่อมทำให้การสอบสวนเป็นการสอบสวนที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง…”
————————————————————
“คณะกรรมการจึงมีความเห็นตรงกันว่า เป็นการทำอันเป็นการสมยอม ไม่สุจริต ร่วมมือกันแบบที่เรียกว่า ตามทฤษฎีสมคบคิด ทำให้สำนวนเสียไปตั้งแต่ต้น เหมือนที่เราพูดว่า เรื่องนี้เป็นต้นไม้พิษ สร้างผลไม้อันเป็นพิษ บริโภคไม่ได้ ต้องเสียไปทั้งหมด ในทางกระบวนการเราเห็นว่าให้มีการสอบสวนใหม่ ไม่ใช่ว่าสอบสวนพยานหลักฐานใหม่ตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 แต่เราเห็นยิ่งกว่านั้นคือต้องนับหนึ่งใหม่”
เป็นคำยืนยันจากนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ใน
ความสนใจของประชาชน ระบุว่า กรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ที่พบว่ามีการร้องขอความเป็นธรรม 14 ครั้ง และพบว่ากระบวนการทำสำนวนในลักษณะสมยอมในการสอบสวน
นายวิชา ยืนยันว่า ในกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 8 ถือได้ว่าเป็นการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันจนผิดปกติที่สุดในกระบวนการทำสำนวนในลักษณะของการสมยอมในการสอบสวน และเรายังพบว่าวันที่ก็ผิด ไม่ได้เป็นวันที่จริง เพราะเรารู้กันอยู่ว่า วันที่สอบพยานผู้เชี่ยวชาญทางด้านความเร็ว ซึ่ง พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานในคดี และ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่ทำให้กลับความเห็นเรื่องความเร็ว ซึ่ง พ.ต.อ.ธนสิทธิ ยืนยันว่า มันมีการกระทำในลักษณะที่ถูกกดดันด้วย
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ยังได้มีข้อเสนอแนะให้มีการดำเนินทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมขบวนการ ซึ่งมีทั้งหมด 8 กลุ่ม โดยมีบุคคลเกี่ยวข้องมากกว่า 10 คน ประกอบด้วย 1) พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนวน 2) พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 3) ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 4) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
5) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 6) ทนายความซึ่งกระทำผิดกฎหมาย 7) พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ และ 8) ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว
(ข่าวประกอบ : ทำสำนวนสมยอม-เปลี่ยนวันเท็จ! ‘วิชา’ สรุปคดี ‘บอส’ จี้สอบจริยธรรมร้ายแรง ‘ผู้นำองค์กร’)
อะไรคือการร่วมแรงร่วมใจกันจนผิดปกติในกระบวนการทำสำนวนในลักษณะสมยอมในการสอบสวนที่นายวิชาพูดถึง ?
และข้อเสนอในการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมขบวนการนี้มีใครบ้าง ?
เอกสาร 7 หน้าที่คณะกรรมการชุดนายวิชาแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน เป็นรายงานฉบับย่อในการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ ที่ระบุว่า พฤติการณ์ที่พบการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในชั้นสอบสวน โดยไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อบุคคล แต่ละระบุอักษรย่อ และตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน
@สงสัยน่าจะกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา
ในชั้นการสอบสวนจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่แสดงปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด และบ่งชี้สารเสพติดในร่างกาย รายงานการตรวจพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับความเร็วของรถในขณะเกิดเหตุ ตลอดจนความพยายามอย่างต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจาก การถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย คณะกรรมการเชื่อว่าผู้ต้องหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555
ทั้งนี้การที่ผู้ต้องหาไม่หยุดรถในทันทีหลังจากชนผู้ตาย แต่กลับพาร่างผู้ตายไปไกลกว่า 60 เมตร และลากรถจักรยานยนต์ของผู้ตายไปไกลกว่า 160 เมตร ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ต้องหาน่าจะกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพราะวิสัยวิญญูชนเมื่อขับรถชนคนหรือสิ่งใดแล้วย่อมต้องหยุดรถทันทีเพื่อตรวจสอบความเสียหายหรือให้ความช่วยเหลือ แต่ผู้ต้องหาหาทำเช่นนั้นไม่
@ทำพยานหลักฐานเท็จ-กล่าวหาคนตายขับรถประมาท
คณะกรรมการพบว่า มีความพยายามในการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากเกิดเหตุ โดยสารวัตรปราบปราม สน.ทองหล่อ สร้างพยานหลักฐานเท็จโดยการนำตัวลูกจ้างของครอบครัวอยู่วิทยามามอบตัวรับสมอ้างว่าเป็นผู้ขับรถ
แม้ต่อมาในวันเดียวกันผู้ต้องหายอมจำนนมามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนกลับให้การภาคเสธ โดยอ้างว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความผิดของผู้ตาย และผู้ต้องหาเพิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว ข้ออ้างอันเป็นเท็จนี้เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาอันเป็นเท็จ และไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ตายซึ่งตายในทันทีหลังจากถูกชนว่าเป็นผู้ต้องหาร่วม ทั้งที่การตั้งข้อหาจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อบุคคลมีชีวิตอยู่และได้แจ้งข้อหาให้แก่ผู้นั้นอันน่าเชื่อว่าการตั้งข้อหาอันเป็นเท็จและไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้เกิดจากการวางแผนของพนักงานสอบสวนและทีมทนายความของผู้ต้องหา โดยกล่าวหาผู้ตายว่าประมาทด้วยเพื่อทำให้รูปคดีเอื้อประโยชน์ต่อการช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาพ้นผิด
@ส่งสำนวนคดีช้า 6 เดือน – ร้องขอความเป็นธรรม 14 ครั้ง
ในคดีนี้สอบสวนคดีจนเสร็จสิ้น และมีความเห็นทางคดีในวันที่ 1 มี.ค.2556 และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการ 4 มี.ค.2556 จึงเป็นการส่งสำนวนล่าช้าเกินกำหนด 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่มีการนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาลก่อนครบกำหนด
ในคดีนี้มีการร้องขอความเป็นธรรม 14 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2556 จนถึงครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2561 อัยการสูงสุดหรอรองอัยการสูงสุดที่มีอำนาจสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรมแต่ละครั้ง ได้สั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรม
ครั้งที่ 14 วันที่ 7 ต.ค.2562 ที่กลับเป็นผลสำเร็จ เป็นการพิจารณาเพียงพยานหลักฐานเดิมที่ได้เคยมีการพิจารณาไปแล้ว และเห็นว่ามีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือในการพิจารณา
@แต่งวันที่สอบปากคำ กัน ‘บางคน’ ออกจากเรื่อง
คณะกรรมการพบการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไปในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า มีบุคคลจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันจัดให้รองศาสตราจารย์ ส. ได้พบกับพันตำรวจโท ธ. เพื่อนำเสนอวิธีการคำนวณความเร็วใหม่และมีการสอบปากคำพันตำรวจโท ธ. ภายใต้การกำกับของพนักงานอัยการไม่ทราบชื่อเพื่อจัดทำพยานหลักฐานเท็จ ต่อพนักงานอัยการ และต่อคณะกรรมาธิการในเวลาต่อมา โดยการกดดันหรือใช้อิทธิพลบังคับให้พันตำรวจโท ธ. ให้การเปลี่ยนความเห็นในเรื่องความเร็วของรถผู้ต้องหาในขณะที่ชนผู้ตายจาก 177 กม./ชม. เป็นความเร็วที่ไม่เกิน 80 กม./ชม. เพื่อให้สอดคล้องกับผลการคำนวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส.
คณะกรรมการระบุด้วยว่า มีการตระเตรียมกันไว้ล่วงหน้า โดยไม่ให้โอกาสพันตำรวจโท ธ. ตรวจสอบวิธีการคำนวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. อย่างรอบคอบ แม้ว่าในเวลาต่อมาพันตำรวจโท ธ. จะพยายามขอยกเลิกคำให้การภายหลังจากที่ได้ทำการตรวจสอบอย่างรอบคอบจนพบความผิดพลาดของวิธีการคำนวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. แต่ได้รับการปฏิเสธจากพันตำรวจโท ว. โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว
อย่างไรก็ตามกระบวนการสอบปากคำครั้งนี้ มีการแก้ไขวันที่สอบปากคำให้เป็นวันที่ 26 ก.พ.2559 และวันที่ 2 มี.ค.2559 สำหรับใช้ในการร้องขอความเป็นธรรม โดยนายวิชา เปิดเผยขณะแถลงข่าวว่า ทั้ง 2 วัน ถือเป็นวันเท็จ และสอบปากคำจริงๆ ในวันที่ 29 ก.พ.2559 โดยมีหลักฐานยืนยัน ที่สามารถพิสูจน์ได้ทางนิติวิทยาศาสตร์
“อนึ่งการลงวันที่อันเป็นเท็จดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นไปเพื่อกันบุคคลบางคนให้ออกจากเรื่องนี้ และเพื่อให้การคำนวณความเร็วรถใหม่ใช้เวลาตามควร เพื่อให้น่าเชื่อถือ การร่วมมือระหว่างทนายความ ผู้ต้องหา ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการดังกล่าว ย่อมทำให้การสอบสวนเป็นการสอบสวนที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง” รายงานระบุ
@กมธ.บางคนอ้างพยานหลักฐานเท็จความเร็วรถบอส
ทั้งนี้ ความพยายามในการใช้พยานหลักฐานเท็จในการร้องขอความเป็นธรรมยังไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ต้องหา ทีมทนายความ และกลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษ ได้ใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดันกระบวนการยุติธรรม โดยการร้องขอความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 4 พ.ค.2559 ต่อคณะกรรมาธิการที่มีข้าราชการ ทหาร ตำรวจระดับสูง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม โดยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2559 กรรมาธิการบางคน ให้ความเห็นและอ้างพยานหลักฐานเท็จเกี่ยวกับความเร็วรถของผู้ต้องหาที่ตนเองมีส่วนจัดให้มีการจัดทำขึ้น
“ความพยายามนี้สอดรับกับแนวทางการทำงานและผลสรุปของคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมและมีกรรมาธิการบางคนเป็นประธานคณะทำงาน แม้ว่ากรรมาธิการหลายคนไม่ประสงค์ให้คณะกรรมาธิการดำเนินการในลักษณะที่ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่กรรมาธิการผู้นั้นได้ไปเป็นพยานและให้ปากคำสนับสนุนข้ออ้างของผู้ต้องหาในการสอบสวนเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2561 ด้วย” รายงานระบุ
@นาย น.รองอัยการสูงสุดใช้อำนาจ-ดุลพินิจไม่ชอบด้วย กม.
โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2562 ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ต้องหาได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ขอให้สอบปากคำเพิ่มเติม พลอากาศโท จ. หรือนาย จ. ในประเด็นความเร็วของรถ
ขณะที่รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการครั้งที่ 47/2559 ในขณะที่อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานกิจการอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีร้องขอความเป็นธรรม 2 ทำความเห็นให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ ประกอบกับการที่ผู้ต้องหาเคยร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาหลายครั้งอาจเชื่อได้ว่าเป็นการประวิงคดี และผู้ต้องหาซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีมิได้มาร้องขอความเป็นธรรมด้วยตัวเอง
นาย น. อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด มีความเห็นเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2562 ให้มีการสอบพยานเพิ่มเติม โดยเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมเฉพาะพลอากาศโท จ. และนาย จ. เท่านั้น ภายหลังที่อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ได้มีการสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำเพิ่มตามคำสั่งของนาย น. และนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นข้อหาเดียวที่เหลืออยู่เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2563
“คณะกรรมการเห็นว่าการใช้อำนาจในการสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรมและต่อมาการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาของนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษ เพราะเหตุของการเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมและรับฟังเฉพาะพลอากาศโท จ. และ นาย จ. มิใช่พยานหลักฐานใหม่” รายงาน ระบุ
@ฟังไม่ขึ้น!ผู้ช่วย ผบ.ตร.ไม่แย้งอัยการ เข้าใจว่าเป็นคดีจราจร
คณะกรรมการเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ในการสั่งไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการมีความบกพร่อง เนื่องจากไม่พิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของนาย น. ด้วยความรอบคอบ การอ้างว่าการออกคำสั่งเกิดจากการพิจารณาสั่งการตามความเห็นของเจ้าพนักงานตำรวจตามลำดับชั้นและเข้าใจว่าเป็นการสั่งคดีความผิดเกี่ยวกับจราจรธรรมดาทั่วไปนั้น เป็นข้ออ้างที่คณะกรรมการเห็นว่าฟังไม่ขึ้น
“ในขณะที่ ผบ.ตร. ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้มอบอำนาจซึ่งมีหน้าที่ต้องกำกับ ติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ การมอบอำนาจนี้ มิได้มีการกำกับดูแลติดตามผลการปฏิบัติราชการในคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเช่นนี้ เป็นความบกพร่องที่ทำให้เกิดผลเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดิน และกระทบต่อความศรัทธาขององค์กร” รายงานระบุ
อนึ่ง เมื่อมีการออกหมายจับผู้ต้องหา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศได้แจ้งให้ตำรวจสากลทราบถึงหมายจับผู้ต้องหาเพื่อนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี แต่ปรากฏว่าหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการ ประจำกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ น่าเชื่อว่า เป็นการโยกย้ายที่มีความไม่ปกติอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง
@ทนายผู้ต้องหาอยู่ด้วยขณะเปลี่ยนแปลงความเร็วรถ
คณะกรรมการพบว่า ทนายความของผู้ต้องหามีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดผลของการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดยได้ไปพบกับ รองศาสตราจารย์ ส. พร้อมกับนาย ช. เพื่อขอให้มีการคำนวณความเร็วรถของผู้ต้องหาใหม่ และยังได้อยู่ร่วมในการจัดให้มีการสอบปากคำพันตำรวจโท ธ. เพื่อเปลี่ยนคำให้การเรื่องความเร็วรถด้วย
หลังจากนั้นทนายความของผู้ต้องหาได้รับมอบอำนาจเพื่อร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการและคณะกรรมาธิการเรื่อยมา จนกระทั่งนาย น. มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาในการร้องขอความเป็นธรรมครั้งสุดท้าย
สำหรับนาย จ. ซึ่งเป็นพยานปากสำคัญที่ได้ให้การว่า ผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วโดยประมาณ 50-60 กม./ชม. คณะกรรมการพบว่า ได้รับการอุปการะจากนาย ช. นอกจากนี้หลังจากที่นาย จ. ถึงแก่ความตายอย่างกะทันหันภายหลังที่ได้มีชื่อปรากฏในข่าว พบว่าโทรศัพท์มือถือของนาย จ. ถูกทำลาย
@ไม่ชอบด้วย กม. ตั้งแต่ตั้งข้อหา-จนสั่งไม่ฟ้อง
คณะกรรมการเห็นว่า การตั้งข้อหา การสอบสวน การร้องขอความเป็นธรรม การกลับคำสั่งฟ้องเป็นสั่งไม่ฟ้อง การไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เป็นขบวนการดำเนินคดีที่เชื่อได้ว่ามีการร่วมมือสมคบคิดกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป
รวมทั้งมีการสมยอมกันโดยไม่สุจริตเพื่อหวังผลเพียงให้ผู้ต้องหาหลุดพ้นจากความรับผิดในทางอาญาทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นพนักงานอัยการ กระบวนการทั้งสิ้นนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 646-647/2510 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 6446/2547 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9334/2538 ที่ได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้ว
cr: