ย้อนปม ‘บินไทย’ ซื้อเก้าอี้ บ.Koito เสียหาย 3 พันล. ไม่มีการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ?

52

“….ปัญหาจัดซื้อ/จัดหาเก้าอี้ผู้โดยสารจากบริษัท Koito เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2553 จากกรณีที่เครื่องบินแอร์บัสเอ 330-300 จำนวน 5 ลำ ซึ่งรับมอบจากบริษัทแอร์บัส ไม่สามารถนำมาให้บริการได้ เนื่องจาก บริษัท KOITO ชื่อเต็มบริษัท Koito Industries Limited ไม่สามารถส่งมอบเก้าอี้โดยสารชั้นประหยัดได้ตามกำหนด….”

“ไม่มีรายงานผลการสอบสวนหรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีความเสียหายและความรับผิดของผู้รับผิดชอบการจัดซื้อ/จัดหาเก้าอี้ผู้โดยสารจากบริษัท Koito ซึ่งมีข้อมูลว่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท”

คือ หนึ่งในประเด็นปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญเกี่ยวกับการขาดทุนของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย ฯ ชุดที่มีพล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธาน ระบุไว้ในรายงานผลการสอบสวนซึ่งมีการเปิดแถลงข่าวเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลในรายงานประจำปีของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ย้อนหลัง พบว่า ปัญหาจัดซื้อ/จัดหาเก้าอี้ผู้โดยสารจากบริษัท Koito เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2553 จากกรณีที่เครื่องบินแอร์บัสเอ 330-300 จำนวน 5 ลำ ซึ่งการบินไทย รับมอบจากบริษัทแอร์บัส ไม่สามารถนำมาให้บริการได้

เนื่องจาก บริษัท KOITO ชื่อเต็มบริษัท Koito Industries Limited ไม่สามารถส่งมอบเก้าอี้โดยสารชั้นประหยัดได้ตามกำหนด

ทั้งนี้ การบินไทย ได้ลงนามสัญญากับบริษัท KOITO เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2551 เพื่อให้ KOITO จัดหาและติดตั้งเก้าอี้โดยสารชั้นประหยัดบนเครื่องบินทั้ง 8 ลำ ที่การบินไทยเช่าซื้อ (ในฐานข้อมูลไม่มีการระบุวงเงินว่าจ้างที่ชัดเจน)

โดยในปี 2552 การบินไทยได้รับมอบเครื่องบินแอร์บัสเอ 330-300 จำนวน 5 ลำ และในปี 2553 จะรับมอบอีก 3 ลำ

อย่างไรก็ดี บริษัท KOITO ได้ส่งมอบเครื่องบิน 3 ลำแรกให้การบินไทยแล้ว แต่เครื่องบินอีก 5 ลำที่เหลือยังไม่สามารถส่งมอบเก้าอี้ได้ตามกำหนด ซึ่งเป็นผลจากเก้าอี้โดยสารดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ JAPAN CIVIL AVIATION BUREAU หรือ JCAB และ EUROPEAN AVIATION SAFETY AGENCY หรือ EASA และปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบกับสายการบินอื่นๆ อีก 15 สายการบิน

เบื้องต้น ผู้บริหารฯ การบินไทยเวลานั้น ได้แก้ไขปัญหาด้วยการ จัดหา Seat Supplier รายอื่นคู่ขนานไปกับการแก้ไขปัญหาของ Koito

โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาฯ เพื่อเร่งการจัดหาเก้าอี้รายใหม่ จนกระทั่งได้ บริษัท Zim FlugsitZ GmbH จากประเทศเยอรมัน ที่ผ่านการประเมินด้านเทคนิคตามที่เกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด และผลิตภัณฑ์ของบริษัท Zim FlugsitZ GmbH ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบเก้าอี้ให้กับบริษัทฯ ได้ตามเวลาที่กำหนด อีกทั้งรูปแบบของผลิตภัณฑ์มีความใกล้เคียงกับ TOR ของบริษัทฯ มากที่สุด และมีคุณภาพ

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลรายละเอียดในทุกๆ ด้านแล้ว จึงมีความเห็นให้คัดเลือกบริษัท Zim FlugsitZ GmbH ให้เป็นผู้ทำการผลิตเก้าอี้ในชั้นประหยัดภายในเครื่องบินของบริษัทฯ

โดยมีข้อเสนอว่าจะดำเนินการคู่ขนานไปกับบริษัท Koito จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2553 หากบริษัท Koitio ไม่สามารถส่งมอบเก้าอี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด บริษัท Zim FlugsitZ GmbH จะดำเนินการส่งมอบเก้าอี้ให้บริษัทฯ ได้ภายใน 8 เดือน นับจากวันที่ได้รับ Letter of Intent โดยมีเงื่อนไขให้ได้รับเป็น Seat Supplier สำหรับโครงการติดตั้งเก้าอี้ชั้นประหยัดของฝูงบินโบอิ้ง 747 – 400 ลำที่ 7 – 12 ด้วย

ส่วนการดำเนินการกับบริษัท Koito นั้น ในช่วงวันที่ 9 ธันวาคม 2554 การบินไทย ได้มอบอำนาจให้ สำนักกฎหมาย Macfarlanes LLP ทนายความบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องบริษัท Koito กรณีผิดสัญญาซื้อขายเก้าอี้เครื่องบินสำหรับเครื่องบินแอร์บัส แบบ A330-300 แบบ A380-800 และเครื่องบินโบอิ้ง แบบ B777-300 ต่อศาลประเทศอังกฤษ

ขณะที่ในรายงานประจำปี 2558 ระบุว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ศาลประเทศอังกฤษมีคําพิพากษาให้ Koito ชําระหนี้แก่บริษัทฯ จํานวนทั้งสิ้น 82,732,284 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา 19,857,165 ยูโร และ 4,640,417 บาท รวมทั้งสิ้นโดยคิดเป็นสกุลเงินสหรัฐอเมริกา ประมาณ 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 11 พฤษภาคม 2558 : 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเท่ากับ 33.52 บาท และ 1 ยูโร เท่ากับ 37.63 บาท) พร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายบางส่วน ซึ่ง Koito ได้ชําระหนี้ตามคําพิพากษาบางส่วนให้แก่บริษัทฯ แล้ว จํานวน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และค่าใช้จ่ายในการดําเนินคดี จํานวน 2,436,415.90 ปอนด์

ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯ ในการประชุมครั้งที่ 11/2558 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 มีมติอนุมัติการประนีประนอมยอมความข้อพิพาทระหว่างบริษัทฯ กับบริษัท KI Holdings Co., Ltd. (Koito) ในวงเงิน 52.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ตามที่ Koito เสนอ หาก Koito ชําระเงินดังกล่าว บริษัทฯ ตกลงที่จะยุติข้อพิพาทและ/หรือคดีที่เกี่ยวกับเก้าอี้ทั้งหมดกับ Koito ซึ่งรวมถึงคดีที่ศาลประเทศอังกฤษ ทั้งสองฝ่ายจะดําเนินการถอนคดีออกจากศาลประเทศอังกฤษโดยเร็วที่สุด สําหรับเงินจํานวน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และค่าใช้จ่ายในการดําเนินคดี จํานวน 2,436,415.90 ปอนด์ ที่ Koito ได้ชําระให้แก่บริษัทฯ แล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งในการประนีประนอมยอมความ

โดยเมื่อวันที่ 25 และ 27 พฤศจิกายน 2558 บริษัท Koito ได้โอนเงินเข้าบัญชีบริษัทฯ ตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอม ยอมความ (Settlement Agreement) รวมเป็นเงินจํานวนทั้งสิ้น 52.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่า Koito ได้ดําเนินการ ตามข้อตกลงที่กําหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว

ขณะที่ในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นบริษัทการบินไทยฯ ประจำปี 2560 วันที่ 21 เม.ย.2560 นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชีของบริษัทการบินไทยฯ เคยระบุว่า เงินค่าปรับจำนวน 4,000 ล้านบาท จากบริษัท Koito เป็นรายได้ส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ผลการประกอบการบริษัทฯ ในปี 2559 ดีขึ้นกว่าในปี 2558 ด้วย

จากนั้นข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจัดซื้อ/จัดหาเก้าอี้ผู้โดยสารจากบริษัท Koito ก็เงียบหายไป

จนกระทั่งมาปรากฎในรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานฯ ชุดที่มีพล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธาน ระบุว่า “ไม่มีรายงานผลการสอบสวนหรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี ความเสียหายและความรับผิดของผู้รับผิดชอบการจัดซื้อ/จัดหาเก้าอี้ผู้โดยสารจากบริษัท Koito ซึ่งมีข้อมูลว่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท”

ถอดความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เรื่องนี้มีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ไม่มีการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบ?

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/91571-repoer00.html

- Advertisement -