สรุป 6 ปมปริศนาคดี ‘บอส’ รอ ‘วิชา’ ไขความจริง รายงานตรง ‘บิ๊กตู่’

13

“…เราเพียงแต่ทำให้เห็นภาพว่าข้อบกพร่องขององค์กรเป็นอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับรายงานของเราที่บอกว่า การเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำสูงสุดขององค์กรต้องรับผิดชอบจะไปสั่งการแล้วบอกว่าไม่ติดตามไม่ดูแลไม่ได้ แต่จะต้องลงลึกถึงตรงนั้น ส่วนจะรับผิดชอบแค่ไหนเพียงไรต้องไปดูรายละเอียด เพราะเราพูดกันมากว่า ถึงไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดระเบียบ ก็อาจจะผิดจริยธรรม ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บอกว่าหากผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะถูกดำเนินการเหมือนกัน…”

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มี ‘วิชา มหาคุณ’ เป็นประธาน ถูกแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาทำหน้าที่สะสางความจริงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555

กรอบระยะเวลา 30 วันที่จะครบกำหนดในวันที่ 31 ส.ค.นี้ คณะกรรมการฯจะจัดทำรายงานฉบับใหญ่ ส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดในคดีนี้

โดยคณะกรรมการฯชุดนี้ไม่มีหน้าที่ชี้ผิด-ถูก แต่จะนำเสนอ ‘ข้อเท็จจริง’ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ซึ่งนายวิชา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า “เราเพียงแต่ทำให้เห็นภาพว่าข้อบกพร่องขององค์กรเป็นอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับรายงานของเราที่บอกว่า การเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำสูงสุดขององค์กรต้องรับผิดชอบจะไปสั่งการแล้วบอกว่าไม่ติดตามไม่ดูแลไม่ได้ แต่จะต้องลงลึกถึงตรงนั้น ส่วนจะรับผิดชอบแค่ไหนเพียงไรต้องไปดูรายละเอียด เพราะเราพูดกันมากว่า ถึงไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดระเบียบ ก็อาจจะผิดจริยธรรม ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บอกว่าหากผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะถูกดำเนินการเหมือนกัน”

30 วันกับการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อย่างน้อย 6 ครั้ง ไม่นับรวมกับคณะทำงานชุดเล็ก 4 คณะ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตำรวจ อัยการ บุคคลทั่วไป รวมถึงรับฟังความคิดเห็นประชาชน

คณะกรรมการสางคดี ‘บอส’ พบจุดบกพร่อง-ข้อพิรุธของคดีอย่างน้อย 6 ปม สำคัญ ดังนี้

@1 คดีแต่ร้องความเป็นธรรม 14 ครั้ง
การตรวจสอบเท็จจริงคดีนี้ พบว่ามีการร้องขอความเป็นธรรมมากถึง 14 ครั้ง และเป็นหนึ่งปัญหาที่ทำให้คดี ‘ล่าช้า’

ทำให้เกิดปมสงสัยขึ้นมาว่า ทำไม 1 คดีของนายวรยุทธ จึงร้องขอความเป็นธรรมได้ถึง 14 ครั้ง หรือกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมจะกลายเป็น ‘เครื่องมือเตะถ่วงคดี’ หรือไม่ ?

ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบอัยการ ที่มี ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ เป็นประธาน เชิญฝ่ายอัยการเข้าให้ข้อมูล นำโดย ‘ประยุทธ เพชรคุณ’ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา และรองโฆษกอัยการสูงสุด ที่ยอมรับว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคดีของนายวรยุทธ มีการร้องขอความเป็นธรรมจำนวนมาก กระทั่งครั้งสุดท้ายที่นำไปสู่การพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องคดีด้วย

“การร้องขอความเป็นธรรมมาจากหลายฝ่าย แต่ส่วนใหญ่มาจากผู้ต้องหา และมีคำสั่งให้ยุติเรื่องทั้งหมด แต่ก็มีการร้องขอมาเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าการที่นายคณิต ณ นคร ออกระเบียบร้องขอความเป็นธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรม แต่วันนี้กับกลายเป็นเครื่องมือถ่วงคดี” นายบวรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์หลังจากรับฟังข้อเท็จจริงฝ่ายอัยการ

@‘เนตร นาคสุข’ มีอำนาจโดยสมบูรณ์หรือไม่?
อีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่ต้องค้นหาคำตอบคือ ‘เนตร นาคสุข’ รองอัยการสูงสุด มีอำนาจโดยสมบูรณ์ ในการสั่งไม่ฟ้องคดีหรือไม่ ?

เพราะการเชิญฝ่ายอัยการมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการ ที่หนึ่งในคือ ‘อรรถพล ใหญ่สว่าง’ อดีตอัยการสูงสุด ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอัยการ ถูกเชิญมาให้ข้อมูลในวันเดียวกันกับ ‘เนตร’ ทำให้เกิดคำถามว่า อำนาจคำสั่งไม่ฟ้อง อาจจะไม่มีผลทางคดี ?

นายอรรถพล ชี้แจงกับคณะกรรมการว่า ในห้วงเวลาดังกล่าว นายเนตร อาจจะออกคำสั่งไม่ฟ้องในฐานะอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ที่ทำหน้าที่รักษาราชการตำแหน่งรองอัยการสูงสุด และปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด

ขณะที่การรับฟังข้อมูลจาก ‘วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์’ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ยืนยันว่า มีการมอบอำนาจให้ นายเนตรเป็นผู้พิจารณาคำสั่งเรื่องร้องขอความเป็นธรรม แม้ว่า ‘สมศักดิ์ ติยะวานิช’ รองอัยการสูงสุดอีกคนหนึ่ง จะเป็นผู้รับมอบอำนาจเรื่องคดีอาญาในเขตของศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นายอรรถพล ได้ชี้แจงกรณีได้รับเอกสารจากผู้หวังดีว่า นายเนตร หยิบเรื่องร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธขึ้นมาพิจารณาใหม่ ทั้งๆ ที่คดีนี้ได้ถูกสั่งให้ยุติกระบวนการร้องขอความเป็นไปแล้วโดย ‘ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร’ อดีตอัยการสูงสุด

จึงเกิดปมสงสัยเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุใดนายเนตรจึงมีความเห็นสวนทางกับอดีตอัยการสูงสุด ?

(เนตร นาคสุข และ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น)

@ทำไม ‘ธนสิทธิ’ ยังยืนยันว่าพบ ‘สมยศ’ สวนทางความเห็น ตร.คนอื่น ?
‘พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น’ คือนักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้คำนวณความเร็วนายวรยุทธได้ 177 กม./ชม. ก่อนเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเหลือ 79 กม./ชม.

คำยืนยัน 2 ครั้งของ ‘พ.ต.อ.ธนสิทธิ’ เกิดขึ้นในคณะกรรมการของนายวิชา และในที่ประชุมร่วมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 2 คณะ คือ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และ คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน

ซึ่งระบุว่า มี ‘ผู้บังคับบัญชาระดับสูง’ นำตัว ‘สายประสิทธิ์ เกิดนิยม’ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาพบในห้องทำงานของผู้บังคับบัญชา และด้วยเวลาจำกัดและแรงกดดัน จึงได้เปลี่ยนความเห็นเรื่องความเร็วรถนายวรยุทธในวันดังกล่าว

ซึ่ง นายวิชา เปิดเผยภายหลังฟังการชี้แจงข้อมูลเรื่องนี้ว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ กังวลเรื่องของความปลอดภัย โดยอ้างว่ามีบุคคลติดตามและถูกกดดัน

ขณะที่ ‘รังสิมันต์ โรม’ ส.ส.ก้าวไกล เผยแพร่เอกสารชี้แจงลำดับเหตุการณ์ ระบุว่า ‘พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี’ ผู้กำกับการสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เดินทางมาพร้อมกับ ‘พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ‘สายประสิทธิ์’ ขอเข้าพบ ‘พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก’ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจในขณะนั้น โดยผู้แทนกองพิสูจน์หลักฐานกลาง รวมถึง ‘พ.ต.อ.ธนสิทธิ’ ได้เข้าไปพบเพื่อร่วมประชุมด้วย

อย่างไรก็ตามในที่ประชุม กมธ.วันดังกล่าว มี ‘พ.ต.อ.ธนสิทธิ’ เพียงคนเดียว ที่ยืนยันว่า ‘พล.ต.อ.สมยศ’ ปรากฏตัวอยู่ในวันดังกล่าว ขณะที่ พล.ต.อ.มนู , พ.ต.อ.วิรดล ต่างยืนยันว่า ไม่พบกับอดีตผุ้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด

แม้ว่าต่อมา พล.ต.อ.สมยศ นำหลักฐานเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการนายวิชา ยืนยันว่า วันที่ 26 ก.พ.2559 ที่ถูกกล่าวอ้างนั้น ตนเองอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามกำหนดการประชุมสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ระหว่างวันที่ 23-28 ก.พ.2559

เหตุใด ‘พ.ต.อ.ธนสิทธิ’ ยังยืนยันคำเดิม สวนทางกับคำตอบของคนอื่นๆ รวมถึงพยานหลักฐานของ พล.ต.อ.สมยศ ?

(ธนิต บัวเขียว (คนขวา) ภาพจาก : สยามรัฐ)

@ตามหา ‘ธนิต บัวเขียว’ ทำไม ?
ในวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ช่วง 7 วันสุดท้ายก่อนครบกำหนด 30 วันของคณะกรรมการชุดนายวิชา ได้มีการสรุปผลการรับฟังข้อเท็จจริงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ทั้งหมด ทั้งจากฝ่ายอัยการ-ตำรวจ และบุคคลทั่วไป

โดยนายวิชา เปิดเผยในวันดังกล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การร้องขอความเป็นธรรม กระทั่งอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี มีที่มาจาก กมธ.กฎหมาย คณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และบุคคลที่นำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมเข้าสู่ กมธ.กฎหมายฯ สนช. คือทนายความของนายวรยุทธ ชื่อ ‘ธนิต บัวเขียว’ ถือเป็นบุคคลสำคัญ ที่คณะกรรมการอยากเชิญมาให้ข้อมูลเป็นอย่างมาก

“คณะกรรมการเห็นตรงกันว่า การร้องขอความเป็นธรรมจะต้องมาจากผู้เสียหาย หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้ร้องเอง แต่เราพบว่าเขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่การร้องต่อคณะกมธ.กฎหมายฯสนช. และต่อมาได้ตั้ง อนุฯกมธ.ขึ้นมาเพื่อเป็นการตรวจสอบในคดีดังกล่าว นำมาซึ่งการสอบพยานเพิ่มเติม เป็นผลให้ต่อมารองอัยการสูงสุด นายเนตร นาคสุข สั่งไม่ฟ้อง เป็นคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการแรกสุดซึ่งข้อมูลก็ชัดเจนแล้วในตรงนี้ ไม่ทราบอยู่แห่งหนตำบลใด เราอยากพบตัวด่วน ถ้าสื่อรู้เบาะแสก็ให้แจ้งให้ทราบด้วย ถึงตัวไม่มา แต่ก็มีชื่อยู่ในบันทึกของ กมธ.กฎหมายฯ.สนช.แล้ว ฝากสื่อช่วยตามหาตัวด้วย”

การตามหา ‘ธนิต บัวเขียว’ ในช่วงโค้งสุดท้าย สำคัญอย่างไรในการค้นหาความจริงเรื่องนี้ ?

@ 2 พยานคดีบอสเชื่อถือได้หรือไม่ ?
2 พยานสำคัญที่ทำให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้คือ ‘จารุชาติ มาดทอง’ และ ‘พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร’ ผู้ที่ปรากฏตัวให้การว่า ความเร็วรถของนายวรยุทธ น่าจะต่ำกว่า 80 กม./ชม.

โดยนายจารุชาติ เคยให้การครั้งแรก ตึ้งแต่ช่วง 3 วันแรกหลังเกิดเหตุในปี 2555 โดยให้การว่า เป็นผู้ที่ขับรถกระบะ ผ่านรถเฟอร์รารี่ ของนายวรยุทธ ซึ่งรถของนายจารุชาติปรากฎอยู่ในกล้องวงจรปิดด้วย และคำให้การดังกล่าวนับเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีในฝั่งนายวรยุทธ

ส่วนการให้ปากคำครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562 โดยยืนยันว่าตนเองขับรถกระบะมาด้วยความเร็ว 80 กม./ชั่วโมง ก่อนที่จะขับผ่านรถ เฟอร์รารี่ ของ นายวรยุทธไป ดังนั้น จึงคาดว่า รถเฟอร์รารี่ ของ นายวรยุทธ น่าจะขับอยู่ที่ความเร็วประมา 50-60 กม./ชม.เท่านั้น

แต่ข้อเท็จจริงของนายจารุชาติ ก็ปรากฏเพียงเท่านี้ หลังจากเขาได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่คณะกรรมการของนายวิชา จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ค้นหาความจริง

ขณะที่ ‘พล.อ.ท.จักรกฤช’ ปรากฏตัวเป็นพยานเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2558 เป็นการให้ปากคำหลังจากเหตุเกิดไปแล้ว 3 ปี โดยให้การว่า ช่วงวันเวลาที่เกิดเหตุที่นายวรยุทธ ขับรถชนตำรวจเมื่อปี 2555 เพิ่งกลับจากงานวันคล้ายวันเกิด พล.ต.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต โดยขับรถที่มี ‘พล.อ.ต.สุรเชษฐ์ ทองสลวย’ นั่งมาด้วย และขับอยู่หลังรถนายวรยุทธ ด้วยความเร็วประมาณ 60-70 กม./ชม. จึงเชื่อว่า นายวรยุทธก็ขับมาด้วยความเร็วเท่าๆ กัน

ส่วนเหตุผลที่มาให้การหลังจากเกิดเหตุไปแล้ว 3 ปี ‘พล.อ.ท.จักรกฤช’ ระบุว่า ช่วงเม.ย.2558 ได้เดินทางไปพบ ‘ร.อ.สอาด ศบศาสตราศร’ นักเรียนนายเรืออากาศรุ่นพี่ที่คุ้นเคยกันดี และได้สนทนากันตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องรักห่วงลูก จึงได้มีการยกตัวอย่าง กรณีนายเฉลิม อยู่วิทยา ที่มีความกังวลเกี่ยวกับคดีลูกชายตนเอง จึงเป็นที่มาให้ ‘พล.อ.ท.จักรกฤช’ เล่าสิ่งที่ตนเองเห็นเหตุการณ์ให้ ‘ร.อ.สอาด’ รับฟัง จนนำไปสู่การเข้ามาเป็นพยานในคดีในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวยืนยันว่า ‘พล.อ.ท.จักรฤช’ ที่จบนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 13 นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 20 ถือเป็นนายทหารธุรกิจที่คนกองทัพอากาศรู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับลูกทหารที่เติบโตในบ้านพักทหารชั้นยศต่ำกว่านายพล ย่านดอนเมือง จึงทำให้ลูกทหารอากาศในย่านนั้นมีความใกล้ชิด สนิทสนมคุ้นเคยกัน จนมีการนำไปผูกโยงกันระหว่าง ‘พล.อ.ท.จักรกฤช’ และครอบครัวฝั่งมารดของนายวรยุทธ ที่เป็นทหารอากาศเช่นกัน (ข่าวอ้างอิง : ไทยโพสต์)

ทั้งนี้ หาก พล.อ.ท.จักรกฤช สนิทสนมคุ้นเคยจนถูกนำไปผูกโยงกับครอบครัวมารดาของนายวรยุทธ เหตุใดจึงไม่ปรากฏตัวเป็นพยานตั้งแต่เกิดเหตุ ? เหตุใดเมื่อพูดคุยกับ ร.อ.สอาด จึงตัดสินใจเข้าเป็นพยานทั้งที่ผ่านช่วงเวลาเกิดเหตุไปนานกว่า 3 ปี ?

และเป็นความจริงที่คณะกรรมการของนายวิชา ต้องสรุปด้วยว่า พยาน 2 ปากนี้ เชื่อถือได้หรือไม่ และมีน้ำหนักต่อคดีมากน้อยเพียงใด ?

@ใครสั่งถอนหมายแดงคดีบอส ?
แม้ว่า ‘พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์’ ผบก.กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะชี้แจงต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการถอนหมายแดงจากตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ว่า เป็นไปตามวิธีปฏิบัติ เมื่อได้รับแจ้งว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง และจะมีการถอนหมายจับ จึงได้มีการถอนหมายแดงกับอินเตอร์โพล แต่สุดท้าย หมายแดงถูกดำเนินการถอนออกไป ทั้งๆที่หมายจับไทยยังคงอยู่

และยังไม่มีคำตอบอย่างชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ออกคำสั่งให้ถอนหมายแดง ?

อย่างไรก็ตาม หมายแดงของนายวรยุทธ หายไปจากหน้าเว็บไซต์อินเตอร์ตั้งแต่เดือน มี.ค.2561 แม้ว่าขณะนั้น ตำรวจไทยจะยืนยันว่า สถานะของหมายแดงยังอยู่ แต่เป็นดุลพินิจของอินเตอร์โพลในการแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ (ที่มาข่าว : https://www.nationtv.tv/main/content/378609598/)

นอกจากนั้น ในการรับฟังคำชี้แจงจาก ‘พล.ต.อ.อภิชาติ สุริบุญญา’ รอง ผบ.สำนักงานส่งกำลังบำรุง อดีตตำรวจกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ที่ดำเนินการขอออกหมายแดง ก็พบว่า เขาถูกโยกย้าย ‘แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว’ หลังจากที่ทำเรื่องประสานงานกับอินเตอร์โพลเสร็จสิ้น

เป็นเรื่องราวที่นายวิชา ย้ำกับสื่อมวลชนว่า “พล.ต.อ.อภิชาติ ก็ไม่รู้ว่า ทำไมถึงตกเป็นผู้ที่ไม่พึงปรารถนา เพราะฉะนั้นผมขอแจ้งให้ประชาชนทั้งหลายทราบเลยว่า คดีนี้ไม่ปกติ ขอให้ทุกคนไปวิเคราะห์เอาเอง”

คำสั่งโยกย้าย พล.ต.อ.อภิชาติ จึงเป็นปริศนาที่สังคมยังสงสัยว่า ใครเป็นผู้ดำเนินการ ? และมีความเชื่อมโยงกับการถอนหมายแดงครั้งนี้หรือไม่ ?

ทั้งหมดเป็น ‘ความจริง’ ที่คณะกรรมการชุดนายวิชา ได้ตรวจสอบและค้นหา ก่อนที่จะทำการสรุปรายงานฉบับใหญ่ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา

ขณะที่คณะทำงานตรวจสอบความจริงฝ่ายตำรวจ เปิดเผยว่า ศาลได้อนุมัติหมายจับใหม่ให้กับนายวรยุทธ 3 ข้อหา คือ 1.ขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนรถผู้อื่นเสียหาย มีผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ขับรถในทาง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ 3.เสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 (โคเคอีน) ตามหมายจับที่ จ.47/2563 เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันยังเตรียมประสานงานกับอินเตอร์โพล เพื่อดำเนินการขอหมายแดงใหม่อีกครั้งหนึ่ง

พร้อมกันนั้นยังพบข้อบกพร่องในการทำคดีของตำรวจ 21 นาย จึงได้เสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการเอาผิดทางวินัยต่อไป

และทั้งหมดเป็นความคืบหน้าที่สังคมเฝ้าจับตา และรอการเปิดเผยความจริงสู่สาธารณชนหลังจากนี้

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/91536-isranews-78.html

- Advertisement -