กรุงเทพฯ-บางแสน ไม่ถึง 100 บาท! “พันตรี พิพัฒน์พงศ์ ปรีเปรม” อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ วิทยาลัย CITE DPU ปลดล็อกศักยภาพรถให้ประหยัดน้ำมัน 39.52 กม./ลิตร
พันตรี พิพัฒน์พงศ์ ปรีเปรม อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ปรับแต่งซอฟต์แวร์รถยนต์ Mazda2 รุ่นดีเซล SKYACTIV ปี 2016 ให้มีประสิทธิภาพ ช่วยให้รถประหยัดน้ำมันถึง 39.52 กิโลเมตรต่อลิตร โดยสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ-บางแสน ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 94 บาท พร้อมทั้งเพิ่มสมรรถนะการขับขี่และลดมลพิษที่ดียิ่งขึ้น
พันตรี พิพัฒน์พงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้เปิดเผยความสำเร็จในการปรับจูนซอฟต์แวร์รถยนต์ Mazda2 รุ่นดีเซล SKYACTIV ปี 2016 ครั้งนี้ว่า เกิดจากการปรับแต่งซอฟต์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับคุณภาพน้ำมันในประเทศไทย ที่มีการใช้พลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์ ฯลฯ ขณะที่ซอฟต์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ในรถยนต์ที่ติดตั้งมาจากโรงงาน มักถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานได้ทั่วโลก เป็นเหตุผลที่ทำให้รถยนต์ไม่สามารถแสดงศักยภาพสูงสุดเมื่อนำมาใช้งานในประเทศไทย การปรับจูนซอฟต์แวร์ให้ตรงกับคุณภาพน้ำมันในประเทศไทยจึงช่วยให้ประสิทธิภาพของรถยนต์ดีขึ้นและมีอัตราเร่งของเครื่องยนต์ที่เร็วขึ้น
“สมการโครงสร้างทางเคมีเปลี่ยน ทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การปรับจูนซอฟต์แวร์จึงเป็นเหมือนการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้เข้ากับน้ำมันที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน” อาจารย์ พิพัฒน์พงศ์ กล่าว
อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อธิบายต่ออีกว่า การปรับจูนซอฟต์แวร์รถยนต์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในระบบเครื่องยนต์และซอฟต์แวร์อย่างลึกซึ้งทั้งด้านวิศวกรรมยานยนต์ ซอฟต์แวร์และเคมี ซึ่งแตกต่างจากการปรับจูนทั่วไปที่มุ่งเน้นเพียงการเปลี่ยนแปลงค่าพารามิเตอร์บางส่วน โดยที่ผ่านมาตนได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนานานหลายเดือน สำหรับการปรับจูนซอฟต์แวร์รถ Mazda 2 รุ่นดีเซล SKYACTIV ปี 2016 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อให้วิ่งโดยมีความเร็วเฉลี่ย 80 กม.ต่อชั่วโมงและเปิดแอร์ปกติ ในการเดินทางจากกรุงเทพไปบางแสน ระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคชาวไทยที่ต้องการรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดน้ำมัน
“อันดับแรกใช้ความรู้ความเข้าใจด้านวิศวกรรมเคมี พื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน หรือดีเซล ต่างมีส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น การผสม เอทานอล ไบโอดีเซล ในน้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน และ ดีเซลตามลำดับ ทำให้ประสิทธิภาพและการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีความไม่เหมาะสม”
“อันดับสองใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ โดยส่วนมากผู้ผลิตซอฟต์แวร์รถยนต์จะออกแบบทำให้รถยนต์ทำงานได้อย่างปกติทั่วไป จากเหตุผลที่ต้องผลิตเพื่อจำหน่ายทั่วโลก จากปัญหาด้านต่างๆ เช่น จากส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิง ลักษณะการขับขี่ ภูมิประเทศหรือประเภทการใช้งานรถยนต์ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน”
“อันดับสามใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ เมื่อทำการปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการทดสอบรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน มลพิษ สมรรถนะ อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง การสึกหรอของเครื่องยนต์ ต้องใช้ความรู้ทางวิศวกรรมยานยนต์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล”
นอกจากนี้การปรับจูนซอฟต์แวร์ไม่เพียงประหยัดน้ำมันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การปล่อยสารมลพิษน้อยลง จากการที่เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การเผาไหม้สมบูรณ์ไอเสียที่ปล่อยออกมาจึงมีความสะอาดมากขึ้นอีกด้วย
โดยสำหรับในอนาคตอาจารย์ “พิพัฒน์พงศ์” ได้วางแผนที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ปรับจูนให้ครอบคลุมรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์เบนซิน และเปิดคอร์สหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสอนวิธีการดังกล่าวให้ประชาชนนำไปประกอบอาชีพ เนื่องจากแม้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความสนใจและพัฒนารุดหน้าไปอย่างมาก แต่รถยนต์เครื่องสันดาปยังคงมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รถยนต์ไฟฟ้ายังคงเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ เช่น ขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่และน้ำหนักที่มาก ทำให้อาจส่งผลต่อภาระของการบรรทุกและระยะทางในการวิ่ง
“รถยนต์เครื่องดีเซลก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดรถยนต์อีกนาน และยังพัฒนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง แต่หลายคนจะคิดว่า เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ คือ รถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ในความจริงยังรวมถึงระบบขับขี่อัตโนมัติ และระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในรถยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving System) หรือ ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (ADAS) ก็เป็นเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ในช่วงที่รอให้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ผมก็เลยทำและเกิดเป็นที่มาของโครงการนี้”
อย่างไรก็ตามการค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการยานยนต์ไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรวมถึงวิศวกรรุ่นใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดย “คุณอ้วนจูนเนอร์” กูรูผู้เชี่ยวชาญในด้านการปรับแต่งชื่อดังได้แสดงความคิดเห็นว่า การปรับจูนซอฟต์แวร์รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานทำให้รถวิ่งได้เร็วและประหยัดน้ำมันทำได้จริง โดยเปรียบเสมือนการออกแรงดึงสิ่งของผ่านลูกรอกที่ใช้การออกแรงที่เบาและเหนื่อยน้อยกว่า แตกต่างจากการดึงวัตถุจากเชือกที่โยงมัดไว้เปล่าๆ ซึ่งเป็นไปตามหลักของกลศาสตร์
“การจูนเพื่อเพิ่มแรงม้าเข้าไป พอแรงม้าแรงบิดมันมากขึ้น มันก็ส่งผลให้รถมีกำลังมากขึ้น ทำให้เราใช้คันเร่งน้อยลง แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือเมื่อจูนรถยนต์แล้วไม่ได้หมายความว่าจะเหยียบคันเร่งเต็ม 100 ถ้าแบบนั้นก็จะกินน้ำมันมากกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนนิสัยคนประหยัดไม่ใช่คนที่เหยียบคันเร่งสุดอยู่แล้ว ดังนั้นการปรับจูนให้เครื่องทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นจึงประหยัดน้ำมัน”
ในขณะมลพิษของรถยนต์ที่ปรับจูนมีน้อยลงได้นั้น เกิดจากหลักการทำงานของเครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยน้ำมันกับอากาศ เมื่อเครื่องยนต์มีแรงบิดที่ดีขึ้นส่งผลถึงข้อเหวี่ยงที่ทำงานได้กำลังแรงขึ้น การเผาไหม้จึงสะอาดมากขึ้น
“ยิ่งเผาไหม้หมดรถมันยิ่งมีกำลัง อยู่ที่การจูนว่าเราจะสนใจมลพิษไหม ต้องดอกจันไว้เลยว่าจูนในเงื่อนไขลดมลพิษ ถ้าเอาแรงอย่างเดียว ปรับจูนโดยให้มันสั่งจ่ายน้ำมันเยอะเกินไปและไม่บาลานซ์กันมลพิษก็เยอะ ถ้าจูนประหยัดน้ำมันก็จะดันแรงรถไม่สุดปลอก”
“ช่างที่จูนหรือผู้จูนเบื้องต้นต้องมีพื้นฐานเรื่องเครื่องยนต์ที่ดี รู้ว่ารายละเอียดหัวฉีดมันยกได้เท่าไหร่ ปั๊มคอมมอนเรลทำงานหนักเกินไปไหม หากเราไปเค้นมันเกินไปทุกอย่างก็สึกหรอไวขึ้น เพราะโรงงานทำเผื่อไว้หมดทั้งแรงม้าและการควบคุมมลพิษ แต่ให้ใช้ตามกรอบมาตรฐานที่กำหนด ถ้าบางคนดันเกินลิมิตไปเยอะมันก็พังและส่งผลเสียมากกว่าดี”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งรถยนต์ ยังได้เน้นย้ำความสำคัญในการปรับจูนว่า ไม่ใช่เพียงเลือกทำกับผู้ที่มีความชำนาญที่เพียงเท่านั้นที่ต้องใส่ใจ “รถยนต์ที่จะนำมาปรับแต่ง” ยังต้องเช็คและปรับสภาพความพร้อมให้สมบูรณ์ก่อน โดยเฉพาะรถยนต์ที่มี Turbo แค่รถมีปัญหาอาการไส้กรองอากาศตันก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่รถนั้นจะพังได้สูง
“รถมันก็เหมือนคน ถ้ารถไม่สมบูรณ์ไม่ควรจูน ก่อนที่หมอจะฉีดยาเราต้องตรวจสภาพก่อนว่าตอนนี้ร่างกายรับไหวไหม เวลาผมปรับจูนต้องขึ้นเครื่องไดโน่เทส (Dyno) ที่อู่ใหม่ ขึ้นวิ่งสายพานดูหัวใจ ดูอัตราการเต้นซึ่งจะมีกราฟมาตรฐานตั้งไว้ ถ้าไม่อยู่ในเกณฑ์ก็ต้องบำรุงก่อน การจูนต้องประกอบกันทั้ง 2 ส่วน คือ รถและช่าง ไม่ใช่พอช่างทำให้แรงแล้วประหยัดจะดีเลย เหมือนป่วยฉีดยาไปแล้วเราหาย บอกหมอเก่ง แต่หมอไม่ได้ถามว่าทำไมถึงเป็นหวัด เมื่อวานไปทำอะไรมา มันก็ไม่ได้แก้ที่ต้นทางและวกกลับมาที่เดิมที่เค้นมันเกินไปทุกอย่างก็สึกหรอไว”
ลิงค์คลิปวิดีโอทดสอบ : https://fb.watch/uq9RkRirAO/?