“…ให้นำค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่บริษัทฯ ใช้ยื่นข้อเสนอในปีแรก (ปี 2564) หารด้วยจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของบริษัทฯ ในปี 2564 เพื่อคำนวณหา Sharing Per Head และนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท. ในปีนั้นๆ เพื่อกำหนดเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีนั้นๆ…”
ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง
กับกรณีที่คณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยา กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งได้สัมปทานร้านจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบิน 4 แห่ง และสัมปทานบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน (28 ก.ย.2563-31 มี.ค.2574)
หลังกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ประกอบกับทาง ทอท. ได้เลื่อนการเปิดบริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ จากเดิมที่กำหนดเปิดใช้ในปี 63 แต่ให้เลื่อนไปเป็นเดือนเม.ย.65 ทำให้ผู้ประกอบการเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ไม่ได้
ย้อนกลับไปในปี 62 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ชนะการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีภายในสนามบิน 4 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 สัญญา และสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 1 สัญญา
โดยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เสนอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ในปีแรก 23,548 ล้านบาท (รวมสัญญาทั้ง 3 ฉบับ) และจ่ายผลตอบแทนผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปีเพิ่มขึ้นในปีที่ 2-10 โดยพิจารณาจากอัตราการเจริญเติบโตของผู้โดยสารประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของปีปฏิทินก่อนหน้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สัญญาที่ 1 โครงการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่ง บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล โดยบริษัทฯจะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนให้ ทอท.ในอัตรา 20% ของยอดรายได้จากการประกอบกิจการในรอบเดือนนั้นๆ ก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือตามจำนวนเงินเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ปีแรก เป็นจำนวนเงิน 15,419,000,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
สัญญาที่ 2 โครงการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่ง บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล โดยบริษัทฯ จะค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนให้ ทอท.ในอัตรา 20% ของยอดรายได้จากการประกอบกิจการในรอบเดือนนั้นๆ ก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือตามจำนวนเงินเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ปีแรก เป็นจำนวนเงิน 2,331,000,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
สัญญาที่ 3 โครงการให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่ง บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล โดยบริษัทฯจะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนให้ทอท. ในอัตรา 15% ของยอดรายได้จากการประกอบกิจการในรอบเดือนนั้นๆ ก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือตามจำนวนเงินเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ปีแรก เป็นจำนวนเงิน 5,798,000,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลคำเพิ่ม)
แต่แล้วเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น บอร์ดทอท.มีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ค.63 เรื่องการเยียวยาผลกระทบให้กับกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ ทอท.มีมติเยียวยากลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ และผู้ประกอบการอื่นๆ ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.พ.63 โดยบอร์ด ทอท. มีมติอนุมัติการปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ มีรายละเอียด ดังนี้
เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ภายหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
มติที่ประชุม
อนุมัติให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) , ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.)
และสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ภายหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการตามมติคณะกรรมการทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันพุธที่ 19 ก.พ.63 โดยพิจารณาจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per head) และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ดังนี้
1.ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 จนถึงปีที่จำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท. มีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) หรือบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) แล้วแต่กรณี
ในปี 2564 ที่อ้างอิงจากเอกสารการประมูล ให้นำค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่บริษัทฯ ใช้ยื่นข้อเสนอในปีแรก (ปี 2564) หารด้วยจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของบริษัทฯ ในปี 2564 เพื่อคำนวณหา Sharing Per Head และนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท. ในปีนั้นๆ เพื่อกำหนดเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีนั้นๆ
2.สำหรับปีถัดจากข้อ 1 ให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยใช้สูตรการคำนวณ MAG (i) (พิจารณาจากอัตราการเจริญเติบโตของผู้โดยสารประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของปีปฏิทินก่อนหน้า) ตามสูตรการคิดคำนวณ
3.ให้ฝ่ายบริหาร ทอท. รับข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ทอท. ไว้เป็นแนวทางดำเนินการ โดยควรชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจว่า ในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพระบาดของโรคโควิด-19 ทอท. มีแนวคิดและเหตุผลในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไรทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ทอท. (อ่านเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ตาม จากมติบอร์ด ทอท. ดังกล่าว นอกจากทอท.จะเลื่อนการเริ่มต้นนับหนึ่งของสัญญาสัมปทานทั้ง 3 ฉบับ ออกไปจากเดิม 1 ปี 6 เดือนแล้ว จากเดิมที่เริ่มต้นในวันที่ 28 ก.ย.63 ให้เป็นเริ่มต้นมนวันที่ 1 เม.ย.65 แล้ว บอร์ด ทอท. มีมติให้ ‘ยกเลิก’ การเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) และเปลี่ยนเป็นการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head) แทน
จึงเท่ากับว่าเงินเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ของสัญญา 3 ฉบับ ซึ่งทอท.คาดว่าจะเรียกเก็บได้ในปีแรกเป็นเงินขั้นต่ำ 23,548 ล้านบาท หรืออย่างน้อย 2.4 แสนล้านบาทตลอดอายุสัญญา จะไม่เป็นไปตามนั้น
“AOT (ทอท.) ประกาศเงื่อนไขสัญญาใหม่สำหรับสัมปทานดิวตี้ฟรี ซึ่งเกี่ยวกับการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำโดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตของผู้โดยสาร…เราคาดการณ์ว่า รายได้ของ AOT จะลดลง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.52 แสนล้านบาท) ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 12 ปี” รายงานบทวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุ
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 3 ส.ค.63 โดยระบุว่า การเปลี่ยนวิธีการคำนวณรายได้ขั้นต่ำ (MGT) จากคิงพาวเวอร์ ของบอร์ดบริหาร AOT คาดว่าผลกระทบต่อ AOT มากถึง 133,800 ล้านบาท
แต่ในอีก 2 วันต่อมา บล.กสิกรไทย ปรับลดผลกระทบความเสียหายจากการปรับวิธีคำนวณรายได้การันตีขั้นต่ำเป็นระหว่าง 7.9 หมื่นล้านบาทถึง 1.18 แสนล้านบาท ตามสมมติฐานของจำนวนผู้โดยสารที่จะกลับเข้าสู่ระดับ 66 ล้านคน ระหว่างปี 2566-68 หลังจากทอท. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
นอกจากนี้ มีการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับตัดสินใจของบอร์ดทอท.ในการเข้าไปเยียวยากลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ใน 3 ประเด็น คือ
1.เหตุใดบอร์ดทอท.จึงปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจาก Minimum Guarantee เป็น Sharing per Head ตลอดอายุสัญญา 12 ปี ทั้งๆที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ยาวนานขนาดนั้น และมีการคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 ปี ซึ่งหากทอท.ต้องการเยียวยาผู้ประกอบการ ก็สามารถพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละช่วงเวลาได้ เช่น พิจารณาให้ความช่วยเหลือคราวละ 2 ปี เป็นต้น
2.มติบอร์ดทอท.ดังกล่าง ขัดกับทีโออาร์การเปิดประมูลสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะภายใต้ทีโออาร์ดังกล่าว เงื่อนไขสำคัญของการชนะประมูล คือ การเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปีให้รัฐมากที่สุด ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดเสนอจ่ายผลตอบแทนให้แก่ทอท.มากที่สุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล
3.ที่มีการระบุว่า มติทอท.ดังกล่าว เป็นการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสอดคล้องกับข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ.63 นั้น มีคำถามว่า บอร์ด ทอท.ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ เพราะแม้ว่าทอท.จะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 70%
จากนี้จึงต้องติดตามว่า ทอท.จะมีการปรับปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 3 สัญญาอย่างไร และหากจะว่าไปแล้ว ต้องถือได้ว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่าง ทอท. และกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ครั้งนี้เป็นงานที่ ‘สุ่มเสี่ยง’ ไม่น้อย
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/91441-AOT-dutyfree-kingpower-concession.html