เปิดห้องประชุมอนุ กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ค้นแนวคิดตั้ง ‘สสร.’ ก่อนคลอด 3 แนวทางแก้ รธน.

33

“…การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อจัดตั้ง สสร. ต้องใช้เงินทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งละ 3,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท ส่วนการจัดการเลือกตั้ง สสร.ใช้เงิน 4,000 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 10,000 ล้านบาท และต้องใช้เวลาดำเนินการยาวนาน คาดเดาผลลัพธ์ของการจัดทำประชามติไม่ได้…”

คณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ที่มี ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.พลังประชารัฐ เป็นประธาน จัดทำข้อสรุปผลการศึกษา ข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (รธน.) และกฎหมายอื่น เสนอให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กมธ.

โดยผลการพิจารณาศึกษา เห็นตรงกันว่า บทบัญญัติของ รธน.ปี 2560 ในหมวด 1 บททั่วไป และ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มีความเหมาะสมแล้ว

ส่วนประเด็นที่น่าจะได้รับการความสนใจมากที่สุด คือ หมวด 15 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม ระน. ซึ่งอนุ กมธ.ชุดนี้ สรุปแนวทางการแก้ไข 3 ประเด็น ดังนี้

1.แก้ไขรายมาตรา ยกเว้นประเด็นที่ต้องผ่านการลงประชามติ โดยเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 256 หรือ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะต้องใช้งบประมาณอีก 3,000 – 10,000 ล้านบาท

2.แก้ไข รธน.ตามช่วงเวลา โดยแบ่งเป็นการแก้ไขในช่วงที่มีวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล ที่สามารถแก้ไขรายมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน ส่วนที่เหลือสามารถแก้ไข และกำหนดให้มีผลหลังจากวันที่ 11 พ.ค.2567 ซึ่งเป็นเวลาที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ้นจากวาระการดำรงตำแหน่ง

3.จัดตั้ง สสร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิก สสร. และมีส่วนร่วมในการร่าง รธน. อย่างแท้จริง

และกว่าจะได้มาซึ่ง 3 แนวทางข้างต้น อนุ กมธ.ชุดนี้ได้มีการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ประธานอนุ กมธ. มองว่า การแก้ไข รธน.ไม่ว่าจะตั้ง สสร.หรือแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการกแก้ไข รธน. ล้วนแต่มีอุปสรรคเกี่ยวกับการทำประชามติและเลือกตั้ง สสร. ที่จะเสียงบประมาณ 3,000 – 10,000 ล้านบาท แล้วแต่กรณี โดย การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อจัดตั้ง สสร. ต้องใช้เงินทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งละ 3,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท ส่วนการจัดการเลือกตั้ง สสร.ใช้เงิน 4,000 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 10,000 ล้านบาท

‘ไพบูลย์’ ระบุด้วยว่า กระบวนการแก้ไข ม.256 และจัดตั้ง สสร. ต้องใช้เวลาดำเนินการยาวนาน และคาดเดาผลลัพธ์ของการจัดทำประชามติไม่ได้ จึงสนับสนุนให้มีการแก้ไข รธน.ที่อยู่นอกเหนือจาก ม.256 (8) ที่เกี่ยวกับ หมวด 1 บททั่วไป ,หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติม รธน. รวมถึง เรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดารงตาแหน่งต่าง ๆ ตาม รธน.

ส่วนบทเฉพาะกาลก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีจะไม่เห็นชอบญัตติแก้ไขดังกล่าว

‘นิกร จำนง’ เลขานุการและอนุ กมธ. เสนอแก้ไข รธน.ตามความจำเป็นเร่งด่วน และเห็นว่ายังไม่ควรจัดตั้ง สสร.ในเวลานี้ แต่ควรแก้ไข ม.256 ให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ 11 พ.ค.2567 ที่ ส.ว.ครบวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี

สำหรับ ม.256 เห็นว่า ควรแก้ไขประเด็นที่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา ในการเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน.

ขณะที่ มาตราที่มีความจำเป็นต้องที่ต้องแก้ไขระหว่างนี้ คือประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ การเลือกตั้งและพรรคการเมือง การกระจายอำนาจ การกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้รายงานต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน เป็นต้น

‘ชัยเกษม นิติสิริ’ รองประธาน อนุ กมธ. เห็นว่า ในบทบัญญัติฉบับปัจจุบันไม่ได้มีการกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่ง รธน. ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงควรมีการบัญญัติในหลักการว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องรักษาหรือคงไว้ซึ่ง รธน. เพื่อเป็นการบัญญัติเป็นหลักการว่าการล้มล้าง รธน.ไม่ควรเกิดขึ้นอีก เพื่อให้คณะรัฐประหารไม่สามารถอ้างความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้อีกต่อไป

‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ รองประธานอนุ กมธ. เสนอ 4 แนวทางในการแก้ไข รธน.ทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.แก้ไขเพื่อให้ ม.256 มีความอ่อนตัวมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีเปรียบเทียบกับ รธน.ฉบับต่างๆ ทั้งในอดีต และของต่างประเทศ

2.ตัดประเด็นเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ส.ว.ชุดปัจจุบันที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกไป เพราะการแก้ไข รธน.ในวาระที่ 3 ต้องใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งสองสภา หรือต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 โดยเห็นว่า ที่มาของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล หากกลายเป็นฐานเสียงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะกลายเป็นอุปสรรคในการแก้ไข รธน.

ทั้งนี้ยังเสนอให้ จำนวนเสียงที่ให้ความเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งในการแก้ไข รธน. จะต้องประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรครวมกัน เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้รับฉันทามติจากทุกฝ่าย

3.แก้ไข มาตรา 256 (8) เพื่อให้หมวด 15 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ไม่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ เพราะแต่ละครั้งใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท และให้ไว้เฉพาะหมวด 1 บททั่วไป และ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมต้องผ่านการออกเสียงประชามติ

4.แก้ไขเพิ่มเติม รธน. เพื่อให้แก้ไขได้ง่ายขึ้น และต้องมีหลักประกันว่า การแก้ไขเนื้อหาต่างๆ ต้องมาจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด โดยอาจกำหนดให้มี สสร. หรือคณะกรรมการร่าง รธน. ที่มาจากประชาชนด้วย

‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ โฆษกคณะอนุ กมธ. เห็นว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ม.256 เพื่อให้กระบวนการแก้ไข รธน.ทำได้ง่ายขึ้น และสิ่งที่จำเป็นจะต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จในอนาคต คือ การตั้ง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อยกร่าง รธน.ขึ้นใหม่

‘โภคิน พลกุล’ ที่ปรึกษาคณะอนุ กมธ. ระบุว่า ควรมุ่งศึกษาการแก้ไข รธน. เกี่ยวกับประเด็น ม.256 เพื่อให้จัดทำ รธน.ฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้น มาตรา 1 และหมวดที่ 2 โดยต้องมีการเลือกตั้ง สสร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ และเมื่อจัดทำร่างใหม่เรียบร้อยแล้ว ให้นำไปออกเสียงประชามติ พร้อมกำหนดโรดแมปร่วมกัน เช่น ให้ใช้กับการเลือกตั้งในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือเมื่อครบ 4 ปีของการบังคับใช้ รธน.2560 ทั้งสังคมจะมีความหวังว่าการสืบทอดและความไม่เป็นประชาธิปไตยจะยุติลงเมื่อครบ 4 ปีดังกล่าว

‘โภคิน’ ระบุด้วยว่า หัวใจสำคัญของการแก้ไข รธน. ต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคการเมือง , แสวงหาความร่วมมือจากทุกพรรค รัฐบาล และ ส.ว. เพื่อให้เป็นไปบนทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้เห็นว่า การแก้ไข รธน. ทั้งฉบับให้ดำเนินการโดยใช้ สสร. ส่วนการแก้ไขรายประเด็นให้ดำเนินการโดยรัฐสภาตามกลไกใน รธน.ฉบับปัจจุบันต่อไป

ทั้งหมดเป็นคำอภิปรายที่เกิดขึ้นในที่ประชุมคณะอนุ กมธ. ซึ่งรายงานฉบับนี้จะถูกส่งต่อให้ กมธ.ที่มี ‘พีระพันธุ์’ พิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.

โดยคาดว่าหลังจากนี้ วาระเรื่องการแก้ไข รธน. โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดตั้ง สสร. น่าจะถูกพูดถึง-ถกเถียงกันตลอด ก.ย.นี้เป็นต้นไป

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/91396-isranews-73.html

- Advertisement -