ทดสอบชัดๆ หลักฐานใหม่คดี ‘บอส’ แอลกอฮอล์ลดลง 15% ทุก 1 ชั่วโมง ไม่จริง

27

“ที่บอกว่า แอลกอฮอล์จะลดลง 15% ทุก 1 ชั่วโมงนั้นไม่จริง เราเห็นแล้วว่ามันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย วันนี้ที่เราจัดการทดสอบเบื้องต้นแล้ว เราหวังว่านี่จะเป็นหลักฐานใหม่ของสังคมไทยเกี่ยวกับคดีนี้”

หนึ่งในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ที่มีการถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือ ระดับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในร่างกายของนายวรยุทธ

โดยในช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่ามูลนิธิเมาไม่ขับได้ติดตามกระบวนการตรวจสอบกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งปรากฎผลการตรวจเลือดพบมีปริมาณแอลกอฮอล์ 69 มิลลิกัมเปอร์เซ็นต์ ขณะที่พยานที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้คำนวณอัตราแอลกอฮอล์ที่อยู่ในร่างกายของนายวรยุทธ ลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ทุก 1 ชั่วโมง โดยย้อนไปในเวลาขณะที่เกิดเหตุจะพบว่าผู้ต้องหามีแอลกอฮอล์ในร่างกาย 389 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมาจนไม่มีสติที่จะขับขี่รถได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ส.ค. มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุภาครัฐ จัดเวทีเสวนา “คดีบอส ยุติธรรมหรือธรรมยุติ” โดยนายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคดีศาลแขวง จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินรายการโดยนายสุทธิชัย หยุ่น นักข่าวอาวุโส

ประเด็นสำคัญตอนหนึ่งของการเสวนาเวทีนี้ มีการนำอาสาสมัครมาร่วมทดสอบการหาค่าปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย ภายหลังการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อพิสูจน์การลดลงของปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหนึ่งชั่วโมง และเพื่อยืนยันว่า คนที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกิน 389 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ไม่มีสติขับรถได้จริงหรือ

ทั้งนี้ จากการทดสอบ เริ่มขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 10.30 น. ผลเป่าวัดค่าแอลกอฮอล์ได้ 225 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อ 1 ชั่วโมงผ่านไป นำอาสาสมัครมาวัดค่าแอลกอฮอล์อีกครั้ง หากอ้างอิงตามสมมติฐานของผู้เชี่ยวชาญตามที่คณะทำงานตรวจสอบคดีนายวรยุทธระบุ จะมีปริมาณแอกอฮอล์ลดลง 15% ทุก 1 ชั่วโมง

ดังนั้น จากปริมาณแอลกอฮอล์ของอาสาสมัคร 225 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อผ่านไป 1 ชั่วโมง ต้องเหลือประมาณ 191 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

แต่จากผลการทดสอบพบว่า ไม่จริง เนื่องจากบางราย มีปริมาณแอลกอฮอล์ลดลงถึง 18% ใน 1 ชั่วโมง

@ ชี้ ผลการทดสอบถือเป็นหลักฐานใหม่

หลังเสร็จสิ้นผลการทดสอบ นพ.แท้จริงกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “จากการสอบถามอัยการและอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ต่างบอกว่าการทดสอบครั้งนี้ถือเป็นหลักฐานใหม่ ถ้าเป็นหลักฐานใหม่ มูลนิธิเมาไม่ขับก็จะยื่นหลักฐานนี้ไปทุกคณะทำงาน ทุกคณะกรรมการตรวจสอบคดีนี้ที่ตั้งขึ้นมาทุกคณะ ไม่ว่าคณะที่นายกฯ ตั้งขึ้นหรือกรรมาธิการของสภาฯ เราจะส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้ทั้งหมด ซึ่งเรามีหลักฐานว่าจากที่เคยมีการอ้างผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ 389 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถยืนอยู่ได้ พบว่ามันไม่จริง ยังยืนอยู่ได้ ยังสามารถขับรถได้ แต่ไม่ควรขับ”

“ที่บอกว่า แอลกอฮอล์จะลดลง 15% ทุก 1 ชั่วโมงก็ไม่จริง เราเห็นแล้วว่ามันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย วันนี้ที่เราจัดการทดสอบเบื้องต้นแล้ว เราหวังว่านี่จะเป็นหลักฐานใหม่ของสังคมไทยเกี่ยวกับคดีนี้”

ทั้งนี้ หลังการเสวนา สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ นพ.แท้จริงถึงรายละเอียดในการทดสอบ และหลักการของการตรวจวัดแอลกอฮอล์เพื่อเทียบกับคดีนายวรยุทธ มีรายละเอียดดังนี้

@ การนำอาสาสมัครมาทดสอบ มีเกณฑ์อะไรบ้าง ?

นพ.แท้จริง : ในการทดสอบอาสาสมัครก่อนหน้านี้ของเรา มีอาสาสมัครที่เขาไม่ได้มาที่นี่ในวันนี้ เขาเป็นคนที่เคยโดนจับข้อหาเมาแล้วขับ เราก็พบว่าแม้จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงถึง 390 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เขาก็ยังเดินได้

@ ที่มาของการทดสอบในครั้งนี้ ?

นพ.แท้จริง : ประเด็นการทดสอบครั้งนี้ เนื่องจากว่า เราไปฟังอัยการแถลง แล้วเขาบอกว่า บอสไม่ได้เมา เราไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของเขาที่ผู้เชี่ยวชาญอ้างว่า ถ้าคำนวณย้อนกลับไป จะมีค่าแอลกอฮอล์ 389 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไม่สามารถยืนอยู่ได้แล้ว ซึ่งประเด็นนี้เราว่ามันไม่จริง เราเคยพบกรณีที่ด่านตรวจ พบผู้ขับขี่รถยนต์มีปริมาณแอลกอฮอล์ 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เราก็ยังเคยเห็น ดังนั้น มันไม่จริงหรอกที่ว่า มีค่าแอลกอฮอล์ 389 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้วไม่สามารถยืนอยู่ได้ มันอยู่ที่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงกินและขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายเขา

@ รายละเอียดในการทดสอบและผลการทดสอบที่ได้ ?

นพ.แท้จริง : การทดสอบของเรา เราตัดสินใจทำภายใต้การควบคุมของแพทย์ มีรถโรงพยาบาลเตรียมไว้ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าแต่ละคนจะเป็นอย่างไร บางคนหากได้รับแอลกอฮอล์ 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์อาจจะหมดสติก็ได้ แต่จากรายงานสาธาณสุขยังพบการตรวจวัดค่าแอลกอฮอล์ได้ถึง 450 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ยังมี

ผลการทดสอบที่เราได้ มีหลายแบบ เราตั้งใจจะให้อาสาสมัครดื่มให้ถึง 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่สูงสุดเราก็วัดได้แค่ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ นี่อาจจะถึงลิมิตของเขาคือ 200 มิลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่เราทดสอบนี่คือกินเหล้าจนอ้วกเลยนะ แต่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เราทดสอบโดยหาอาสาสมัครที่ดื่มประจำ

จากการทดสอบอาสาสมัครของเรา เขาเริ่มดื่มตั้งแต่เมื่อคืน ( 19 ส.ค.) เวลาประมาณ 5 ทุ่ม แต่เมื่อดื่มๆ ไปแล้วก็หลับไปประมาณตี 1 แล้วมาตื่นอีกที 6 โมงเช้า แล้วก็ดื่มต่อ เพราะเวลาหลับ ปริมาณแอลกอฮอล์ก็ลดลง เราก็มาเป่าวัดค่าแอลกอฮอล์ตอนเช้า ก็พบว่าลดลงมาเหลือร้อยกว่ามิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ต้องรื้อทิ้ง สมมติฐานที่ว่าปริมาณแอลกอฮอล์ลดลง 15% ทุก 1 ชั่วโมง

นพ.แท้จริงระบุด้วยว่า ผลการทดสอบที่ได้ สรุปว่าไม่ใช่ทุกคนที่ปริมาณแอลกอฮอล์จะลดลง 15% เปอร์เซ็นต์ทุก 1 ชั่วโมง บางคนพบว่ายังลดลงมากถึง 50% ดังนั้น สมมติฐานที่ว่าลดลง 15% ทุก 1 ชั่วโมงนี้ ต้องรื้อใหม่หมด

@ ประเด็นสำคัญที่ได้จากการทดสอบอาสาสมัคร ?

นพ.แท้จริง : 1.หลักเกณฑ์ที่เขาอ้างว่าบอสเมาหลังขับ หลักการนี้ใช้ไม่ได้ ไม่สามารถอ้างหลักการนี้ได้เลย

2.ที่อ้างว่าคนที่มีแอลกอฮอล์ 389 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ไม่สามารถมาขับรถได้อีกต่อไปแล้ว ประเด็นนี้ก็ไม่จริง

3.การที่คำนวณกลับไปโดยใช้หลัก 15% ทุก 1 ชั่วโมงนั้นก็ไม่จริง เพราะทุกคนที่ดื่ม ไม่ได้หมายความว่าแอลกอฮอล์จะลดลงชั่วโมงละ 15% เท่ากัน ดังนั้น เช้าวันนั้น บอสอาจจะมีปริมาณแอลกอฮอล์แค่ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ได้ ใครจะไปรู้ เราจะรู้ได้ต้องนำเอาตัวบอสมาทดสอบ เพื่อทดสอบสภาพร่างกายเขา ซึ่งก็ยาก เพราะผ่านมา 8 ปีแล้ว สภาพร่างกายบอสก็เปลี่ยนไปแล้วแต่สิ่งที่ยืนยันได้คือ หลักเกณฑ์นี้เอามาใช้ไม่ได้ ดังนั้น ทำไมเจ้าหน้าที่จึงตัดประเด็นเมาแล้วขับทิ้งไป

นพ.แท้จริง กล่าวตอนท้ายว่า แม้ตำรวจจะไม่แจ้งข้อหาเมาแล้วขับ แต่หากพิสูจน์ได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์สูง ย่อมเข้าข่ายข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา291 ซึ่งมีอายุความถึง 15 ปี นับแต่เกิดเหตุ

เหล่านี้ คือผลการทดสอบล่าสุดจากมูลนิธิเมาไม่ขับ เกี่ยวกับประเด็นการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในร่างกาย ซึ่งก่อนหน้านี้ มูลนิธิเมาไม่ขับได้เคยทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ใจความสำคัญระบุว่า หลักการคำนวณปริมาณแอลกอฮอล์ที่อยู่ในร่างกายนายวรยุทธ อยู่วิทยา ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกคน เนื่องจากการลดลงของปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายคนมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายปัจจัย เช่น เพศ อายุ น้ำหนักตัว อาหารที่รับประทาน ระบบการขับถ่ายของร่างกาย ฯลฯ และประเด็นที่มีการระบุว่าหากคำนวณย้อนหลังไปเวลาช่วงเกิดเหตุ จะพบว่านายวรยุทธ มีแอลกอฮอลในร่างกาย 389 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ และผู้เชี่ยวชาญในขณะนั้นลงความเห็นว่าเป็นการเมาโดยไม่มีสติที่จะขับขี่รถได้ จากประสบการณ์ที่มูลนิธิเมาไม่ขับได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เคยพบผู้ขับขี่รถที่ปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 390 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ก็ยังสามารถขับรถเข้ามายังด่านตรวจได้ ดังนั้นการลงความเห็นดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/91343-lawloopholesboss40.html

- Advertisement -