ปรับเกณฑ์ 5 โครงการช่วยเอสเอ็มอีให้อาชีพอิสระ-ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่อ 1.8 แสนล.

22

ครม.ไฟเขียวปรับหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเอสเอ็มเข้าถึงสินเชื่อ 1.8 แสนล้านบาทจาก 5 โครงการ เปิดช่องให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ – ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับปรุงเงื่อนไขและการปล่อยสินเชื่อในโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวม 5 โครงการ ซึ่งมีกรอบวงเงินสินเชื่อรวมกันกว่า 1.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ หรือ ซอฟท์โลนพลัส เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อตามพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอตามความต้องการ

โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันในปีที่ 3 นับตั้งแต่วันที่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการร่วมโครงการ 34,700 ราย สินเชื่อเฉลี่ยรายละ 1.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 57,000 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายในอัตราไม่เกิน 16% ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน หรือวงเงินชดเชยไม่เกิน 9,120 ล้านบาท

2.ปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสินนำไปปล่อยสินเชื่อไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยคงที่ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้เงินไม่เกิน 3 ปี แต่ปรากฎว่ามีการอนุมัติสินเชื่อไปเพียง 1,012 ล้านบาท ยังมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีก 18,988 ล้านบาท ครม.จึงเห็นควรให้นำเงินดังกล่าวไปใช้ในโครงการอื่นแทน

ได้แก่ อนุม้ติให้จัดสรรสินเชื่อคงเหลือ 10,000 ล้านบาท สำหรับทำโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้เงินไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ ให้เพิ่มเติมระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรกอีกด้วย

สำหรับวงเงินอีก 5,000 ล้านบาท ให้นำไปดำเนินการโครงการซอฟท์โลน ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา เช่น ร้านอาหาร สปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ สินเชื่อโครงการนี้จะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นนาน 1 ปี

3.ปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโควิด กรอบวงเงินสินเชื่อเดิม 80,000 ล้านบาท ของธนาคารออมสิน ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 10 ส.ค.2563 พบว่ามีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 59,857 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินสินเชื่ออีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

โดยที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเน้นธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจแรกที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด พร้อมทั้งขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป และปรับวงเงินค้ำประกันต่อราย จากเดิมไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย รวมทุกสถาบันการเงิน เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน

4.ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยให้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ขยายกลุ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดย่อมทั้งบุคลธรรมดาและนิติบุคคล

จากเดิมการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี แต่ปรากฎว่า ธพว.อนุมัติสินเชื่อให้ธุรกิจเหล่านี้ได้เพียง 417 ล้านบาท จึงยังมีวงเงินคงเหลือ 9,583 ล้านบาท

5.ขยายเวลาการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท โดยอนุมัติให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน จากเดิมสิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกันเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2563 ขยายเวลาออกไปเป็น 30 ธ.ค.2563 โดยปัจจุบันคงเหลือวงเงินค้ำประกัน 2,513 ล้านบาท

Credit : https://www.isranews.org/article/thaireform/thaireform-slide/91287-isranews-21.html

- Advertisement -