ร่วงระนาว เอสเอ็มอีท่องเที่ยว เลิกกิจการพุ่ง ปิดแล้ว 240 ราย

12

เอสเอ็มอีท่องเที่ยววิกฤติ กรมพัฒน์ เผยครึ่งปีแรกธุรกิจ แจ้งปิดกิจการแล้ว 240 ราย ขณะที่หลังคลายล็อกดาวน์ โรงแรมกลับมาเปิดให้บริการได้ไม่ถึงครึ่ง ในเมืองหลักเปิดได้แค่ 30% สทท. แจง 4 ปัจจัยกระทบธุรกิจรอดยาก

แม้รัฐบาลจะ คลายล็อกดาวน์ รวมถึง กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี สามารถฝ่าวิกฤติ โควิด-19 ในครั้งนี้ โดยปัจจุบันไทยผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีท่องเที่ยว กว่า 6 หมื่นราย รวมแรงงานกว่า 4.3 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถกลับมาเปิดธุรกิจได้เหมือนเดิม

เนื่องจาก การท่องเที่ยวของไทย ที่มีรายได้ปีร่วม 3 ล้านล้านบาท 2 ใน3 เป็นการพึ่งพึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งในปีที่ผ่านมามีต่างชาติเที่ยวไทย 39.8 ล้านคน แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ไทยมีต่างชาติเที่ยวไทยเพียง 6.70 ล้านคนเท่านั้น และยังมีแนวโน้มว่า ไทยจะยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปอีกอย่างน้อยถึงปลายปีนี้ ทำให้หลายธุรกิจจนถึงวันนี้ยังคงหยุดดำเนินธุรกิจอยู่โดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยว,รถบัสรับนักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ขณะที่ธุรกิจโรงแรมในภาพของประเทศก็ยังกลับมาเปิดให้บริการได้ไม่ถึง 50%ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

ปิดตัวแล้ว 240 ราย

จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒน์) เผยว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2563(ม.ค.-มิ.ย.)มีนิติบุคคลจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการรวมทั้งสิ้น 6,227 ราย ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจจัดนำเที่ยว 90 ราย โดยมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สูงสุด 39 ราย (สัดส่วน43%) รองลงมา ได้แก่ เชียงใหม่ 9 ราย (10%) ภูเก็ต 9 ราย (10%) และสุราษฏร์ธานี 5 ราย (5.5%)

ทั้งนี้การเลิกประกอบกิจการของธุรกิจจัดนำเที่ยวดังกล่าว มีความสอดคล้องกับการเลิกประกอบกิจการของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ตามวงจรธุรกิจในแต่ละจังหวัด ได้แก่ ธุรกิจมัคคุเทศก์ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ห้องชุด และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เช่น กทม. มีการเลิกประกอบกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องข้างต้นรวม 77 ราย, เชียงใหม่ 30 ราย,ภูเก็ต 12 ราย และสุราษฎร์ธานี 31 ราย รวม 4 จังหวัดใหญ่มีจำนวน 150 ราย ซึ่งหากสถานการณ์ท่องเที่ยวยังดีขึ้น คาดจะมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต้องปิดกิจการอีกจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามธุรกิจเอสเอ็มอีท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ มากที่สุด คือ บริษัทนำเที่ยว ซึ่งมีร่วม 1หมื่นแห่ง เนื่องจากบริษัทอินบาวด์ (ต่างชาติเที่ยวไทย)ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ 100% เช่นเดียวกับบริษัททัวร์เอ้าท์บาวด์ (นำคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ) ทำให้มีบางรายต้องปรับตัวหันมาขายทัวร์ในประเทศแทน

แต่ก็มีปัญหาอยู่เดิมการทำทัวร์ในประเทศ แม้จะมีคนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงปกติอย่างในปีที่ผ่านมา มีการเดินทางถึง 166 ล้านคน-ครั้ง แต่มีการเดินทางผ่านบริษัททัวร์ไม่ถึง 10% การมาชิงเค้กที่เดิมก็มีน้อยอยู่แล้วเดิมก็ลำบากอยู่แล้ว และยิ่งเกิดโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ก็ทำให้คนไทยชลอการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อเก็บเงินในกระเป๋า และเลือกเที่ยวเฉพาะวันหยุดยาว หรือช่วงศุกร์-อาทิตย์ เท่านั้น

โรงแรมกลับมาเปิดไม่ถึงครึ่ง

นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ กล่าวว่าโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้เพียง 30% รวมจำนวน ห้องพัก 2 หมื่นห้องเท่านั้น จากเดิมอยู่ที่ ราว 6 หมื่นห้อง ที่เปิดให้บริการได้ส่วนใหญ่เป็นรายกลางถึงใหญ่ขึ้นไป

ละเอียด บุ้งศรีทอง

ขณะที่รายเล็กถึงกลางยังไม่มีกำลังจะกลับมาเปิดธุรกิจได้ ซึ่งอัตราการเข้าพักของเชียงใหม่ ยังคงเป็นตัวเลขหลักเดียวเท่านั้นเนื่องจากส่วนใหญ่เลือกที่จะเที่ยวระยะใกล้ ที่ขับรถถึงภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง อย่าง พัทยา หัวหิน ชะอำ ซึ่งโรงแรมในพื้นที่เหล่านี้เฉลี่ยจะมีอัตราเข้าพัก70-80 %

อย่างไรก็ตามในระยะแรกอาจเปิดให้บริการไปก่อน เพื่อให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดเข้ามา แต่ถ้าเปิดแล้วมีรายได้ไม่คุ้มกับต้นทุนก็คงต้องกลับไปปิดให้บริการเหมือนเดิมแต่อย่างไรก็ตามก็คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 และต้นปีหน้าที่เป็นช่วงไฮซีซัน โรงแรมก็อาจทยอยกลับมาเปิดเพิ่มได้บ้าง แต่อย่างมากก็ไม่เกิน 50% และก็เริ่มเห็นโรงแรมระดับเอสเอ็มอี ทยอยปิดกิจการและประกาศขายกิจการอยู่บ้างแล้ว

เอสเอ็มอีกระทบ 4 เด้ง

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยวเอสเอ็มอี สาหัส จากที่ปิดชั่วคราว ก็มีแนวโน้มจะต้องปิดถาวร เนื่องจากได้รับผลกระทบใน 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนได้ เพราะในทางปฏิบัติสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ เนื่องจากต้องตั้งสำรองหนี้สูญ 100% 2.ธุรกิจที่พอจะกลับมาเปิดให้บริการได้ และได้อนิสงส์จากแพ็กเกจกระตุ้น ท่องเที่ยวของรัฐบาล ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ส่วนใหญ่ก็จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและรายใหญ่ เนื่องจากมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจโรงแรม

3.ธุรกิจเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการที่โรงแรมระดับกลางและรายใหญ่ ต่างหันมาลดราคากันมากกว่า 50% เพื่อดึงลูกค้า 4.ผลกระทบ ของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อไปจนสิ้นปีนี้ และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ได้ออกมาปรับแนวโน้มรายได้การท่องเที่ยวในปีนี้จากเดิมคาดไว้ที่ 1.38 ล้านล้านบาท เหลืออยู่ที่ 8 แสนล้านบาทและปีหน้าก็คาดว่ากรณีแย่ที่สุดไทยจะมีรายได้ 6.7 แสนล้านบาทจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.14 ล้านคน และคนไทยเที่ยวในประเทศ 66 ล้านคน-ครั้ง

ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่มีสายป่านเพียงพอที่จะรอได้ยาวนานขนาดนั้น สทท.จึงอยากเรียกร้องให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยตั้งกองทุนท่องเที่ยว วงเงิน 1 แสนล้านบาท ขอให้รัฐบาลพิจารณาแผนเปิดการจับคู่ท่องเที่ยวแบบทราเวล บับเบิล ซึ่งหวังว่าจะเห็นได้ในช่วงปลายปีนี้

ธนาคารออมสิน ช่วยแล้ว 4 พันล.

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน)วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดอนุมัติไปแล้ว 1.3 แสนล้านบาท โดยที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท่องเที่ยว ได้รับวงเงินสินเชื่อไปแล้ว 4,000ล้านบาทจากวงเงินรวมที่กันไว้ 1 หมื่นล้านบาท

ส่วนวงเงินเพิ่มเติม อยู่ระหว่างการพิจารณาจากกระทรวงการคลังเนื่องจากมีการเปลี่ยน แปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้ต้องพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไขใหม่ จึงต้องรอดูว่าจะอนุมัติให้ธนาคารออมสินดำเนินการเพิ่มเติมได้วงเงินเท่าไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบวินัยการคลัง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

Credit : https://www.thansettakij.com/content/business/445672

- Advertisement -