ครึ่งปีขาดทุน 2.8 หมื่นล.! ‘การบินไทย’ โชว์งบก่อนศาลฯไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ-ตั้งผู้ทำแผน

48

พิษโควิด-รัฐบาลทั่วโลกจำกัดการบิน ฉุดผลประกอบการ ‘การบินไทย’ ครึ่งปีแรกขาดทุน 28,029 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 336% เฉพาะไตรมาส 2/63 รายได้ลดเหลือ 2,492 ล้านบาท หรือลดลง 94.1% แต่มีขาดทุนเพียง 5,353 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/63 ที่มีผลขาดทุน 22,676 ล้านบาท

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 63 บริษัทและบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 28,029 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 6,422 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 21,607 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 336.5% โดยมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

ทั้งนี้ ไตรมาส 1/63 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 456 ล้านบาท และไตรมาส 2/63 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 5,353 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 6,878 ล้านบาท ขณะที่ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2563 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 314,044 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 332,199 ล้านบาท โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 18,155 ล้านบาท เทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 ที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น 29,921 ล้านบาท

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด ทำให้การเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก บริษัทฯ จึงได้ปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่ลดลง รวมทั้งมีมาตรการและการบริหารจัดการด้านการเงินและกระแสเงินสดอย่างเคร่งครัด

โดยไตรมาสที่ 1/63 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 38,001 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11,790 ล้านบาท หรือ 23.7% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง ส่วนค่าใช้จ่ายรวมมีทั้งสิ้น 42,609 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 8,010 ล้านบาท หรือลดลง 15.8% ทำให้บริษัทฯมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 456 ล้านบาท

สำหรับไตรมาส 2/63 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกอย่างรุนแรง อีกทั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ทำให้บริษัทฯจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดเป็นการชั่วคราว โดยบริษัทฯยังคงดำเนินมาตรการต่างๆอย่างเข้มงวดและรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้บริษัทฯสามารถมีเงินสดในมือให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ไตรมาส 2/63 บริษัทฯทำการบินเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 96.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 99.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 10.3% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยที่ 74.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.08 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 98.6%

ด้านการขนส่งสินค้ามีอัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์เฉลี่ยเท่ากับ 99.9% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 52.8% เนื่องจากบริษัทฯ หยุดทำการบินชั่วคราว ทำให้บริษัทฯขาดรายได้จากธุรกิจการบิน แต่มีรายได้ในส่วนอื่นทดแทน ได้แก่รายได้จากการขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษการให้บริการสายการบินลูกค้า การจำหน่ายอาหารจากครัวการบิน ทำให้บริษัทฯมีรายได้รวม 2,492 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 40,017 ล้านบาท หรือ 94.1%

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการบริษัทฯ ฝ่ายบริหารและพนักงานร่วมกันสมัครใจปรับลดเงินเดือนตั้งแต่เดือนเม.ย.-ธ.ค.63 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทฯ ทำให้มีค่าใช้จ่ายรวม 16,193 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 33,428 ล้านบาท หรือลดลง 67.4% ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,353 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,525 ล้านบาท หรือลดลง 22.2%

“ในช่วงครึ่งแรกปี 63 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิรวมกันราว 28,029 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 21,607 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิที่ 6,422 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นราว 336%”นายชาญศิลป์ระบุ

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย และตั้งผู้ทำแผน

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/91165-THAI-Rehabilitation-business-profits.html

- Advertisement -