คกก.สอบข้อเท็จจริงคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ชง ผบ.ตร.เอาผิดวินัย – อาญา 14 ตำรวจ มีตั้งแต่ระดับรอง ผบช.ถึง ผู้กำกับ สน.ทองหล่อ ส่วน ‘พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ’ ไม่พบความบกร่อง เพราะทำตามกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีตำรวจไม่เห็นแย้งคำสั่งอัยการที่ส่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า ในการตรวจสอบครั้งนี้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ตรวจสอบ 3 ประเด็น คือ 1.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะออกคำสั่งไม่เห็นแย้งอัยการ 2.ตั้งชุดพนักงานสอบสวนใหม่ในส่วนของกรณีขับรถเร็วและยาเสพติด และ 3.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อบกพร่องของตำรวจที่รับผิดชอบในคดีดังกล่าวโดยใช้ระยะเวลาตรวจสอบ 15 วัน
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในการตรวจสอบดังกล่าวพบข้อบกพร่องของตำรวจที่เกี่ยวข้อง 14 นาย ในชุดแรก 11 นาย พบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินกฎหมายตั้งแต่ปี 2559 และ ป.ป.ช.มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาลงโทษทางวินัยในเดือน ธ.ค.2562 จนกระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงโทษทางวินัยไปแล้ว เมื่อ 31 มี.ค.63
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวต่อว่า การสอบสวนเพิ่มเติมในครั้งนี้ พบว่ามีตำรวจบกพร่องในการทำคดีชุดใหม่อีก 3 นาย และคาดว่าจะพบเพิ่มอีก จากการตรวจสอบพบว่ามีข้อบกพร่องเพิ่มเติมดังนี้ 1.ไม่ดำเนินการตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจสารเสพติดเมื่อได้ตัวผู้ต้องหา 2.ไม่เก็บหลักฐานคำให้การสอบสวนพยานเพิ่มเติมไว้ตามระเบียบ และ 3.ทำสำนวนไม่ตรงกับคำให้การ และ 4.พนักงานสอบสวนไม่ออกหมายจับตามคำสั่งพนักงานอัยการ
“ผู้ที่บกพร่องทั้งหมด เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องตามการพิจารณาตามระยะเวลาของเหตุการณ์ในคดี มีตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาการ ไปจนถึง ผกก.สน.ทองหล่อ และพนักงานสอบสวน ทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีในมาตรา 157 รวมทั้งวินัยและอาญา ในส่วนที่ตรวจสอบพบเพิ่มเติมอีก 3 นายจะมีการดำเนินการตามกฎหมายส่งให้ ป.ป.ช.สวบสวนต่อไป ถ้ามีการชี้ว่ากระทำผิด สำนักงานตำรวจก็ลงโทษทางวินัยต่อไป ” พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าว
ในส่วนของกรณี พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ (สบ.4) ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 ที่กลับคำให้การในเรื่องความเร็วของรถ นั้น พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า จากการสอบปากคำ พ.ต.อ.ธนสิทธิ พบว่า ได้กลับคำให้การจริงในตอนนั้น จาก 177กม./ชม. เป็นไม่เกิน 80 กม./ชม. และจะกลับไปให้คำให้การเป็น 177 กม./ชม.ตามเดิม แต่ว่าพนักงานสอบสวนในขณะนั้นแจ้งว่าคดีหมดอายุความแล้ว ทำใหไม่ได้ให้การในวิธีการคำนวณความเร็วรถใหม่ ในส่วนนี้มีการลงโทษพนักงานสอบสวนในขณะนั้นด้วย
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวต่อถึงประเด็นความเร็วรถว่า จากการสอบสวน ได้เชิญผู้ที่เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นและใช้วิธีการคำนวณความเร็วรถในรูปแบบที่ได้ต่ำกว่า 80 กม./ชม. พนักงานสอบสวนเชื่อว่าความเร็วรถของนายวรยุทธ มีความเร็วอยู่ที่ 177/กม.ชม. หรือเกิน 80 กม./ชม.ขึ้นไป
ในส่วนของการสอบสวน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในกรณีลงนามไม่เห็นแย้งคำสั่งพนักงานอัยการกรณีไม่ฟ้องนายวรยุทธนั้น พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า ในการลงนามเป็นไปตามกฎหมาย ที่พนักงานสอบสวนและพยานให้การไว้ในนั้น พล.ต.ท.เพิ่มพูน ได้ลงนามตามความเห็นดังกล่าว ตามป.วิอาญามาตรา 145/1 ไม่เห็นแย้งอัยการ ผลการตรวจสอบไม่พบว่ามีข้อบกพร่อง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งชุดพนักงานสอบสวนใหม่ในคดีนี้ โดยใช้พยานหลักฐานใหม่ ในคดีขับรถโดยประมาททําให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และคดียาเสพติด รวมทั้งตรวจสอบตำรวจที่เคยทำคดีนี้ ทั้งที่เคยถูกลงโทษแล้วและยังไม่ถูกลงโทษ ว่ามีข้อบกพร่องในการทำคดีหรือไม่ หลังพบว่ามีบางนายได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้น
ด้าน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เนื่องจากงานกฎหมายและคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเห็นแย้งในคดีอาญาเป็นขั้นตอนหนึ่งในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และมีความสำคัญส่งผลต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ซึ่งต้องควบคุม กำกับดูแล และติดตามผลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด
ดังนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 416/2563 ลงวันที่ 13 ส.ค. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารราชการในงานกฎหมายและคดีด้วยตนเอง โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีก 5 ท่าน ช่วยกำกับดูแล ทั้งนี้สำหรับงานที่มีความสำคัญหรือประชาชนและสังคมให้ความสนใจ ให้ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาสั่งการ
นอกจากนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้มีหนังสือกำชับการสอบสวนและการทำความเห็นในคดีอาญาไปยังทุกหน่วยทั่วประเทศ ให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม กำกับดูแล รวมทั้งสนับสนุนให้คำปรึกษาการทำความเห็นชอบหรือความเห็นแย้งในคดีอาญาในอำนาจหน้าที่ของผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ หรือหากเห็นว่าเป็นคดีที่มีความสำคัญ หรือได้รับความสนใจจากประชาชนในวงกว้าง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค อาจพิจารณามีความเห็นทางคดีด้วยตนเองตามที่เห็นสมควร
“นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีการมอบอำนาจให้กับผู้รับมอบอำนาจไปแล้วก็ตาม ก็ยังถือว่า ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่แนะนำกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ ในกรณีที่เห็นว่าผู้รับมอบอำนาจปฏิบัติราชการในเรื่องใดไม่สมควร ให้มีอำนาจแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจนั้นได้ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 74” พล.ต.ท ปิยะ กล่าว
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/91134-bosspolice.html