นายกฯมอบนโยบาย ‘ครม.ใหม่’ ให้เร่งแก้ปัญหา ‘เศรษฐกิจ-ประชาชนรายได้ลดลง-ตามงานขรก.เกียร์ว่าง’ พร้อมตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หวังใช้เป็นกลไกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการประชุมครม.วันนี้ ตนได้กล่าวต้อนรับและมอบนโยบายที่มีรายละเอียดหลายอย่างด้วยกัน คือ เรื่องนโยบายรัฐบาลในช่วงปีที่ 2 และนโยบายทั่วไปของนายกรัฐมนตรีว่าจะทำงานกันอย่างไรให้สอดประสานกันกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยเป็นการเดินหน้าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แต่ยังจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้จ่ายงบประมาณกับสถานการณ์โควิดที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน
พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้มีการตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกคณะ ประกอบด้วยหลายภาคส่วนมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหาโครงการต่างๆที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการกับประชาชน เหมาะสมกับพื้นที่ และตั้งรองนายกฯ เข้าไปกำกับดูแลพื้นที่ และมีรัฐมนตรีตรวจสอบรายพื้นที่
“เพื่อดูว่าแผนงานโครงการใดๆที่อนุมัติไปแล้วทำไมมันล่าช้า เกียร์ว่างกันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีจะต้องจัดทำรายงานสรุปให้ผมได้รับทราบ และเป็นการรับฟังความคิดเห็นประชาชนนะดับพื้นที่ขึ้นมา เพราะรัฐบาลจะไปฟังเองทั้งหมด ก็ห่างจากพื้นที่ต้นทางมากเกินไป จึงต้องมีการคัดกรอง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการถ่ายภาพหมู่ ครม.ชุดใหม่ วันนี้ ตนได้สั่งให้ใส่เพลงเข้าไป “แม้ไม่มีใครรู้ แต่เรารู้ ถึงไม่มีใครรู้ก็ตาม เรารู้ตัวเราเองว่าทำอะไร ไม่ทำอะไร อะไรดี ไม่ดี เรารู้ทั้งหมดล่ะครับ แต่ว่าจะทำอย่างไรให้ทำงานได้ ทำให้เกิดประสิทธิผล ประสิทธิภาพได้ นั่นคือความยากง่ายในการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ได้ง่ายมากนัก เพราะมีกฎหมายหลายฉบับ หลายอย่างคิดชั้นเดียวไม่ได้ ต้องคิดหลายชั้นและมีความต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อนถึงรัฐบาลนี้ เราต้องแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วที่สุด”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ตนได้มอบหมายงานในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาแรกๆที่ต้องต้องดำเนินการ คือ ประชาชนมีรายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้ ไม่มีงานทำอะไรทำนองนี้ ก็ต้องไปทำก่อน การส่งออกก็มีปัญหาทั้งสองด้าน ทั้งเราในฐานะส่งออกและคนซื้อ แม้กระทั่งการท่องเที่ยว ซึ่งก็ต้องเน้นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศก่อน เช่นเดียวกับจีนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและเศรษฐกิจฐานรากก่อน
“ที่ผ่านมาเราพึ่งพาจากต่างประเทศเกือบ 20 ล้านคน ตัวเลขลดลงแน่นอน ต้องค่อยๆขยับขยายตรงนี้ไป ต้องอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นด้านสุขภาพ มาตรการทีอ่อกไปก็ขอความร่วมมือ ขอความเข้าใจเท่านั้นเอง และในช่วงเย็นนี้ ผมได้อัดเทป เพื่อชี้แจงเรื่องการแบ่งงาน และนโยบายรัฐบาลเพื่อบอกกล่าวให้กับประชาชนรับทราบต่อไป โดยคาดว่าจะออกอากาศในช่วงเย็นวันนี้ หรืออย่างช้าที่สุดเย็นพรุ่งนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมครม.ว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง การบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ ได้แก่ รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.ท่องเที่ยวฯ รมว.เกษตรฯ รมว.คมนาคม รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ รมว.พาณิชย์ รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.อุตสาหกรรม รมว.สาธารณสุข ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้แทนจากภาคเอกชน และมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
สำหรับคณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางในการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณา รวมทั้งมีอำนาจสั่งการส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำกับดูแล ควบคุม และติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ นายกฯยังลงนามคำสั่งนายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน โดยมีหน้าที่ขับเคลื่อนมาตรการทางเศรษฐกิจให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และมีหน้าที่เร่งรัดติดตามการดำเนินมาตรการของหน่วยงานต่างๆด้วย ทั้งนี้ ภายใต้คณะกรรมการดังกล่าวจะมีคณะอนุกรรมการฯ 3 ชุด ประกอบด้วย
1.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดย่อม 2.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว และ3.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อสนับสนุนข้อมูลและรายละเอียดข้อเสนอแนะและมาตรการเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ โดยคณะอนุกรรมการฯแต่ละคณะ จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน
“คณะกรรมการที่ตั้งขึ้น จะเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาดูในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และผลักดันโครงการต่างๆ รวมถึงรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน เพื่อนำมากำหนดมาตรการต่างๆให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด” น.ส.รัชดากล่าว
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ซึ่งเป็นการทำงานในระบบ New Normal โดยคณะกรรมการชุดนี้มี 2 ระดับ คือ ระดับประเทศและระดับจังหวัด ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับประเทศ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ติดตามการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วน มีรองนายกที่ได้รับมอบหมายดูแล 18 เขต
ขณะที่คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และให้รัฐมนตรี 29 คนเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ เสนอแนะ สนับสนุนการปฏิบัติ และรับฟังปัญหาจากประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/91145-gov-economic-covid.html