สปสช.เผยผลสอบหน่วยบริการเบิกงบบัตรทองล็อตสอง พบอีก 63 แห่ง – 3 คลินิกทำฟัน ทำเวชระเบียนผิดปกติ 8 หมื่นฉบับ ความเสียหาย 34 ล้านบาทเศษ ‘นพ.การุณย์’ เผยแจ้งความดำเนินคดีแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบหน่วยบริการทุจริตการเบิกเงินบัตรทองในปีงบประมาณ 2562 นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช.เปิดเผยว่า นอกจากการแจ้งความดำเนินคดีอาญา และเรียกเงินคืน 74 ล้านบาทจากคลินิก 18 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 2 แห่งในรอบแรกแล้ว การตรวจสอบครั้งที่ 2 ที่เป็นการขยายผลถึงหน่วยบริการ 86 แห่งซึ่งพบการใช้ข้อมูลไม่ถูกต้องในการเบิกจ่ายเงินของหน่วยบริการ 63 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 3 แห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ 100% และเก็บเวชระเบียนของผู้ป่วยกลับมาตรวจสอบประมาณ 5 แสนฉบับ
นพ.การุณย์ กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเวชระเบียนไปแล้ว 1.6 แสนฉบับจากทั้งหมด 5 แสนฉบับ และพบว่ามีเวชระเบียนผิดปกติประมาณ 8 หมื่นฉบับ ในหน่วยบริการ 63 แห่ง และทันตกรรม 3 แห่ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 34 ล้านบาทเศษ โดย สปสช.ได้ทยอยส่งหลักฐานและแจ้งความดำเนินคดีในส่วนที่พบความผิดทั้งหมดแล้ว
ทำให้จนถึงขณะนี้ การตรวจสอบกระบวนการเบิกจ่ายเงินจากบริการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของหน่วยบริการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร พบการเบิกจ่ายด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จในหน่วยบริการ 86 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 8 แห่ง คลินิกเอกชน 73 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ส่วนมูลค่าความเสียหายที่พบในครั้งแรก 74 ล้านบาท และครั้งใหม่อีก 34 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 108 ล้านบาท
นพ.การุณย์ กล่าวว่า นอกจากการตรวจสอบรายละเอียดในหน่วยบริการที่พบความผิดปกติไปแล้ว ในระยะต่อไป สปสช.จะขยายผลตรวจสอบหน่วยบริการที่เหลืออีก 107 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 95 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมกระบวนการเบิกจ่ายทั้งหมดในพื้นที่ กทม.จากนั้นจะขยายผลการตรวจสอบไปถึงการเบิกจ่ายเหลือ 17 รายการที่เหลือ เพราะการเบิกค่าคัดกรองโรคกลุ่มเมตาบอลิกเป็นเพียงแค่ 1 ใน 18 รายการที่หน่วยบริการเบิกจ่ายได้จาก สปสช.เขต 13 กทม.ต่อไป
ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า ในการตรวจสอบและดำเนินการทางคดีกับกลุ่ม 18 คลินิก ยังพบความผิดที่เข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดของห้องปฏิบัติการ หรือ แล็บ ในลักษณะร่วมกันกระทำความผิด เพราะในการตรวจสอบพบทั้ง เอกสารการตรวจปลอม คือไม่มีคนเข้ารับการตรวจจริง และยังพบกรณีตกแต่งแก้ไขข้อมูก คือ มีคนเข้าไปตรวจรักษาจริง แต่ถูกแก้ไขข้อมูลให้ตรงกับเกณฑ์การเบิกจ่าย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการกระทำความผิดที่รุนแรงมากในทางวิชาชีพ
“การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดที่รุนแรงมากในทางวิชาชีพด้านสุขภาพ เท่ากับว่าคุณกำลังทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ และทำลายความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือของวิชาชีพตัวเอง และยังเป็นการทำลายอนาคตทางสุขภาพของประชาชนที่ถูกแอบอ้างสิทธิ์อีกด้วย” นายนิมตร์ กล่าว
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวว่า การดำเนินการสำหรับผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่การเรียกเงินคืนและยกเลิกความเป็นหน่วยบริการเท่านั้น เพราะแต่ละแห่งจะต้องมีตัวบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นคณะทำงานจึงเห็นตรงกันว่า จะต้องมีการดำเนินคดีเพิ่มเติม ทั้งคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย , คดีทางปกครอง และการเอาผิดทางวิชาชีพ โดยระหว่างนี้ยังอยู่ระหว่างสืบสวนขยายผลเพื่อให้สามารถระบุตัวบุคคลได้อย่างชัดเจน
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90972-isranews-306.html