ชำแหละคำแถลงคณะทำงาน อสส.แค่’เอาตัวรอด-โยนความผิด’ ? ไร้ผลนำ‘บอส’ขึ้นศาล

51

“…แม้คณะทำงานฝ่ายอัยการจะอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ เรื่องความเร็วรถ และมีข้อกล่าวหาใหม่คือ กรณียาเสพติด และนำเสนอไปยัง อสส. เพื่อให้สอบใหม่ก็ตาม แต่ในข้อเท็จจริงแทบไม่มีผลใด ๆ ต่อคดีนี้เลย เพราะถึงอย่างไรก็ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาในคดีนี้กลับมาขึ้นศาล และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากผู้ต้องหาหลบหนี ? ไม่มีคำยืนยันใด ๆ จากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า จะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดในการนำตัวนายวรยุทธกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ทั้งที่ ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญาฯการนำตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย อสส.มีอำนาจหน้าที่นี้โดยตรง…”

1.ในสำนวนการสอบสวน มีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในวันเกิดเหตุ พบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และสอสบสวนในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 ประกอบมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี และมีอายุความตามกฎหมาย 10 ปี คณะทำงานฯ จึงเสนออัยการสูงสุด (อสส.) ให้แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธในข้อหานี้ เนื่องจากคดียังไม่ขาดอายุความ

2.ในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และ ผบ.ตร. ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว อันเป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมาย และห้ามมิให้ทำการสอบสวนอีกก็ตาม แต่ปรากฏพยานหลักฐานสำคัญคือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ขณะเกิดเหตุ ดร.สธน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด วัตถุพยานที่บันทึกภาพรถของผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ

ดร.สธน ทำรายงานการคิดคำนวณส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี โดยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุรถของนายวรยุทธ แล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กม./ชม. แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อ จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ (อดีตรองผู้ว่า กทม.) ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคิด คำนวณ หาความเร็วของรถ และได้คิดคำนวณพร้อมกับให้ความเห็นทางวิชาการว่า ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็ว ไม่ต่ำกว่า 126 กม./ชม.

ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษนายวรยุทธได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวจึงมีความเห็นและนำเรียนอัยการสูงสุด(อสส. )เพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธต่อไป

คือสาระสำคัญที่คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 โดยยืนยันมีการนำเรียนเรื่องถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาสั่งการพนักงานสอบสวน สอบสวนกรณีความเร็วของรถ ในข้อหาขับรถโดยประมาท และกรณีการตรวจสอบสารแปลกปลอมประเภทโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91

อย่างไรก็ดียังมีเงื่อนปมสำคัญที่น่าสนใจอีกอย่างน้อย 3 กรณี

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงให้ทราบ ดังนี้

– เลือดมีสารแปลกปลอมประเภทโคเคน-ความเร็วรถ หายไปจากสำนวน?

เรื่องนี้ในการแถลงข่าว นายประยุทธ และคณะทำงานฝ่ายอัยการคดีนี้ ต่างระบุตรงกันหลายครั้งว่า ในการตรวจเลือดของนายวรยุทธ ในวันเกิดเหตุนั้น แพทย์ที่ทำการตรวจพบว่า มีสารแปลกปลอมประเภทโคเคน โดยแพทย์ขณะนั้นระบุว่า สารแปลกปลอมดังกล่าว มิใช่ยาเสพติด แต่เป็นสารที่เกิดขึ้นภายหลังจากการใช้ยาเสพติด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องรายงานทางวิชาการของ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยช่วงเกิดเหตุทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยได้รับการประสานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และทำรายงานทางวิชาการวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ความเร็วรถของนายวรยุทธขณะเกิดเหตุน่าจะอยู่ที่ประมาณ 170 กม./ชม.

ทั้งสองกรณีดังกล่าว นายประยุทธ และคณะทำงานฝ่ายอัยการ ยืนยันว่า หายไปจากสำนวนการสอบสวน ที่พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ส่งมาให้พนักงานอัยการครั้งแรกเมื่อปี 2556

ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คณะทำงานฝ่ายอัยการอ้างถึง เท่ากับว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนตำรวจ มีความผิดพลาด บกพร่องโดยจงใจหรือไม่ อย่างไร ทำไมถึงไม่ใส่รายงานผลตรวจเลือดของนายวรยุทธในวันเกิดเหตุ และรายงานทางวิชาการของ ดร.สธน ไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย ?

เมื่อคณะทำงานฝ่ายอัยการอ้างแบบนี้ ฝ่ายตำรวจ โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ควรออกแอ็คชั่นอะไรบ้างอย่างหรือไม่ เพื่อชี้แจงประเด็นเหล่านี้ให้สาธารณชนคลายสงสัย

ขณะเดียวกัน หากพนักงานสอบสวนมีการดึง 2 เรื่องดังกล่าวออกจากสำนวนการสอบสวนจริง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเป็นต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) เพื่อดำเนินการไต่สวนเอาผิดพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ?

เพราะถ้ายังจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดทางวินัย ‘ไม่ร้ายแรง’ แก่ พล.ต.ต.กฤษฎิ์ เปียแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 กับพวก ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีสอบสวนช่วยเหลือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ไม่ให้ถูกดำเนินคดีขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด และไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธ เพื่อให้ได้ตัวมาส่งพนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนี

(นายวรยุทธขณะอยู่ลอนดอน, อังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2560 ถูกสำนักข่าว CNN ถามถึงคดีความที่ประเทศไทย แต่นายวรยุทธไม่ให้สัมภาษณ์, ภาพจาก https://edition.cnn.com/)

@อัยการรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งจากผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ?

บางห้วงบางตอนในการแถลงข่าวของคณะทำงานฝ่ายอัยการ โดยนายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงาน อสส. ระบุว่า ก่อนหน้านี้ที่พนักงานอัยการเคยมีคำสั่งควรฟ้องนายวรยุทธ แต่ไม่สามารถนำตัวมาฟ้องได้ เนื่องจากตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การจะฟ้องผู้ต้องหาต้องนำตัวมาฟ้องที่ศาล แต่ผู้ต้องหายังไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของศาล ทำให้นำตัวมาฟ้องไม่ได้

แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏผ่านสื่อหลายสำนักว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้ หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ โดยสื่อต่างประเทศถ่ายภาพนายวรยุทธที่ปรากฏตัวอยูที่กรุงลอนดอน ประทศอังกฤษ แม้ว่าภายหลังจะมีการร้องขอต่อศาลเพื่อออกหมายจับแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถนำตัวกลับมาฟ้องคดีที่ไทยได้

ผู้ต้องหากลับมอบหมายทนายความ เพื่อทำการร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ เพื่อขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่หลายครั้ง และพนักงานอัยการรับพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากผู้ต้องหา ทั้งที่ผู้ต้องหาหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ?

ทำไมพนักงานอัยการถึงไม่ให้กำหนดเงื่อนไขให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามายืนยันกับพนักงานอัยการว่า คำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาจริงๆ

แม้ว่าตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ได้กำหนดว่า การร้องขอความเป็นธรรมไม่จำเป็นต้องมาด้วยตัวเองก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ห้ามมิให้พนักงานอัยการตรวจสอบว่า คำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องของผู้ต้องหาจริงหรือไม่

กรณีนี้เมื่อผู้ต้องหาหลบหนีคดีไปต่างประเทศ ซึ่งอัยการควรทราบ หรือน่าจะทราบ เพราะปรากฏเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ แต่กลับไม่กำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม หรืออย่างน้อยที่สุดควรกำหนดเงื่อนไขให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามายืนยันว่า คำร้องดังกล่าวว่า เป็นของจริง

ทำให้ถูกตั้งข้อครหาว่า ทำไมอัยการถึงรับพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ต้องหาหลายครั้ง ทั้งที่ผู้ต้องหาหลบหนีคดี ขณะที่ผู้เสียหายในคดีนี้ (ญาติของดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจผู้เสียชีวิต) กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมในการนำตัวผู้ต้องหากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมบ้าง ?

@อสส.สั่งสอบใหม่แทบไม่มีผลใด ๆ ต่อคดีนี้?

ภายหลังการแถลงข่าวชี้แจงของคณะทำงานฝ่ายอัยการ แวดวงนักฎหมาย และนักวิชาการทางกฎหมายต่างวิพากษ์วิจารณ์กันว่า แม้คณะทำงานฝ่ายอัยการจะอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ เรื่องความเร็วรถ และมีข้อกล่าวหาใหม่คือ กรณียาเสพติด และนำเสนอไปยัง อสส. เพื่อให้สอบใหม่ก็ตาม

แต่ในข้อเท็จจริงแทบไม่มีผลใด ๆ ต่อคดีนี้เลย เพราะถึงอย่างไรก็ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาในคดีนี้กลับมาขึ้นศาล และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากผู้ต้องหาหลบหนี ?

ไม่มีคำยืนยันใด ๆ จากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า จะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดในการนำตัวนายวรยุทธกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ทั้งที่ ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญาฯการนำตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย อสส.มีอำนาจหน้าที่นี้โดยตรง

ดังนั้นการที่ อสส.สั่งสอบสวนคดีใหม่ มีผลเพียง 2 ประการคือ

1.ยืดอายุความของคดีออกไปอีก 7 ปี (อายุความข้อหาขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีอายุความ 15 ปี)

2.เป็นการแก้ต่างให้องค์กรอัยการหลุดพ้น ‘ตำบลกระสุนตก’ จากสังคม โดยการโยนประเด็นสำคัญ ๆ เช่น การลืมใส่สำนวนของตำรวจ หรือการร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา ส่งผลให้รอง อสส.ใช้ดุลพินิจตามสำนวนไม่สั่งฟ้องคดี โดยไม่พิจารณาตัวเองว่า ในห้วงที่ผ่านมาของคดีนี้นั้น ผู้ต้องหาหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศอยู่หลายปี แต่กลับมอบอำนาจให้ทนายเดินหน้าขอความเป็นธรรมได้ ?

นี่คือเงื่อนปมที่ถูกซ่อนอยู่ภายหลังการแถลงข่าวของคณะทำงานฝ่ายอัยการคดีนี้ ถูกสังคมตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ในห้วงที่ผ่านมา

ท้ายที่สุดบทสรุปคดีนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป!

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90914-isranews-60.html

- Advertisement -