“…คณะทำงานฯพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคำสั่งของนายเนตร แล้วมีความเห็นว่า นายเนตร ได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจมาสั่งคดีไปตามอำเภอใจ รวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร…”
“คณะทำงานฯตรวจสอบสำนวนโดยละเอียดแล้ว พบว่า ไม่มีพยานหลักฐานชิ้นนี้ (รายงานของ ดร.สธน) ไม่มีข้อเท็จจริงนี้ ดังนั้นจึงเป็นพยานหลักฐานใหม่ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 นำไปสู่การพิสูจน์ผิดถูกในคดีนี้ จึงนำเรียน อสส. ว่าให้มีการสอบสวนคดีนี้ใหม่ เพื่อดำเนินคดีกับนายวรยุทธในข้อหานี้ต่อไป”
คือคีย์หลักสำคัญในการแถลงข่าวของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาการสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 โดยยืนยันมีการนำเรียนเรื่องถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาสั่งการพนักงานสอบสวน สอบสวนกรณีความเร็วของรถ ในข้อหาขับรถโดยประมาท และกรณีการตรวจสอบสารแปลกปลอมประเภทโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ด้วย (อ่านประกอบ : มีหลักฐานใหม่ชง อสส.สอบเพิ่มคดี‘บอส’! คณะทำงานอัยการฯขอไม่ก้าวล่วง‘เนตร’สั่งไม่ฟ้อง)
สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะทำงานฯฝ่ายอัยการพิจารณามีอยู่ 3 เงื่อนปมด้วยกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดการแถลงข่าวที่กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
เบื้องต้น นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงาน อสส. หนึ่งในคณะทำงานฯคดีนี้ ท้าวความถึงเหตุการณ์นี้ว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2556 พนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 รับสำนวนจาก สน.ทองหล่อ โดยมีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส เป็นผู้ต้องหาที่ 1 และดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ (เสียชีวิตแล้ว) เป็นผู้ต้องหาที่ 2 มี 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 1.ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนผู้อื่นได้รับความเสียหาย 3.หลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที 4.ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และ 5.ขับรถขณะเมาสุรา โดยข้อกล่าวหา และผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นสำนวนเดิมจากพนักงานสอบสวน อัยการมิได้ไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด
ในจำนวน 5 ข้อกล่าวหาดังกล่าว พนักงานสอบสวนลงความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายวรยุทธ 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนผู้อื่นได้รับความเสียหาย และหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที และไม่สมควรสั่งฟ้อง 2 ข้อหา ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถขณะเมาสุรา
ส่วนกรณีดาบตำรวจวิเชียร ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ขับรถโดยประมาท อย่างไรก็ดีเนื่องจากดาบตำรวจวิเชียร เสียชีวิตแล้ว สิทธิการฟ้องคดีอาญาจึงถูกระงับไป
ต่อมาเมื่อคดีนี้เข้าสู่ชั้นอัยการ มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาสำนวนคดี เป็นไปตามระเบียบของสำนักงาน อสส. เมื่อมีคดีสำคัญต้องพิจารณาในรูปแบบองค์คณะทำงาน โดยเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2556 คณะทำงานฯมีความเห็นทางสำนวนว่า เห็นพ้องกับพนักงานสอบสวนสมควรสั่งฟ้องนายวรยุทธในข้อหา ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนผู้อื่นได้รับความเสียหาย และหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันที เห็นแย้งพนักงานสอบสวนสมควรสั่งฟ้องในข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด และเห็นพ้องกับพนักงานสอบสวนเห็นควรไม่สั่งฟ้องในข้อหาขับรถขณะเมาสุรา
เมื่อคณะทำงานฯฝ่ายอัยการมีความเห็นดังกล่าว มีการเสนอสำนวนขึ้นไปตามลำดับชั้นบังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นมีแนวสั่งการเดียวกันหมดจนถึงชั้นอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ โดยข้อกล่าวหาประเด็นขับรถขณะเมาสุรา โดยเดือน พ.ค. 2556 อธิบดีอัยการมีความเห็นไม่สมควรสั่งฟ้อง จึงส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต่อมาเมื่อเดือน มิ.ย. 25556 ผบ.ตร.เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของอธิบดีอัยการ เป็นอันว่าข้อหานี้จึงเสร็จเด็ดขาด
นายประยุทธ ยืนยันว่า คำสั่งฟ้องนายวรยุทธ ติดอยู่ในทำนองลักษณะนี้มาโดยตลอด ส่วนข้อกล่าวหาที่มีความเห็นควรสั่งฟ้องนั้น แต่เมื่อได้รับสำนวนกลับจาก ผบ.ตร. ไม่อาจยื่นฟ้องได้ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การจะฟ้องผู้ต้องหา ต้องนำตัวมาฟ้องศาล แต่ผู้ต้องหายังไม่อยู่ในอำนาจควบคุมต่อศาล และมีการร้องขอความเป็นธรรมหลายหน แต่ไม่มาพบพนักงานอัยการ โดยพนักงานอัยการมีคำสั่งยืนยันสั่งฟ้องนายวรยุทธตามข้อกล่าวหาข้างต้นตลอดมา มีการแจ้งพนักงานสอบสวนให้ร้องต่อศาลเพื่อออกหมายจับ จนศาลออกหมายจับ กระทั่งหลายข้อหาหมดอายุความ
กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563 นายเนตร นาคสุข รอง อสส. มีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และส่งคำสั่งไปยัง ผบ.ตร. เมื่อถึง ผบ.ตร. โดยผู้ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ขณะนั้น ไม่เห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ คำสั่งไม่ฟ้องในส่วนนี้จึงเสร็จเด็ดขาด กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจขณะนี้
ประเด็นที่คณะทำงานฯดำเนินการสอบสวนมีอยู่ 3 ประเด็น แบ่งเป็น
ประการแรก การสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร
ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 7 วรรค 4 กำหนดให้มีการแบ่งหน่วยงานราชการและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการภายในสำนักงาน อสส. เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กร ต่อมาสำนักงาน อสส. ได้มีประกาศของคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในสำนักงาน อสส. พ.ศ. 2554 โดยแบ่งหน่วยงานภายในสำนักงาน อสส. แยกตามภารกิจรวม 60 ประเภทสำนักงาน ซึ่งในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของสำนักงาน อสส. ดังกล่าว อสส. จะมีคำสั่งมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบ และมอบอำนาจให้รอง อสส. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งการออกคำสั่งมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้ รอง อสส. ดังกล่าว อสส. ทุกคนถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อปี 2562-2563 มีคำสั่งสำนักงาน อสส. ที่ 1515/2562 เรื่อง การมอบหมายอำนาจให้รอง อสส. ปฏิบัติราชการแทน อสส. ลงวันที่ 1 ต.ค. 2562 โดยมอบหมายอำนาจให้รอง อสส. ปฏิบัติราชการแทน อสส. โดยในส่วนของนายเนตร นาคสุข รอง อสส. เป็นผู้รับผิดชอบงานคดีอัยการสูงสุด งานคดีกิจการอัยการสูงสุด เฉพาะงานคดีร้องขอความเป็นธรรม และงานคดีศาลสูง เป็นต้น
ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ มาตรา 27 กำหนดให้ อสส. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสำนักงาน อสส. ซึ่งอาจมอบหมายให้รอง อสส. หรือข้าราชการฝ่ายอัยการปฏิบัติแทนก็ได้ การที่ อสส. มอบหมายให้รอง อสส. แต่ละคนปฏิบัติราชการแทนดังกล่าว เป็นไปตามกรอบและบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ มาตรา 15 ยังบัญญัติให้ อสส. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีในทุกศาล ทั่วราชอาณาจักร นอกจากนี้ตามระเบียบสำนักงาน อสส. ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 51, 52 กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการแต่ละชั้นให้มีอำนาจหน้าที่สั่งคดีไว้โดยชัดเจน ซึ่งพนักงานอัยการแต่ละคนจะมีความอิสระในการสั่งคดีภายใต้ระเบียบซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 248 ที่บัญญัติรับรองให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อนายวรยุทธ ร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งมีข้อเท็จจริงและพยานบุคคลที่ระบุแจ้งชัด กรณีจึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 กำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และยังเป็นไปตามระเบียบของสำนักงาน อสส. ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 48 ที่ให้ผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ พนักงานอัยการจึงมีการสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ร้องขอความเป็นธรรม
การที่นายเนตร นาคสุข รอง อสส. เป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก อสส. ในการกำกับดูแลและรับผิดชอบงานคดีร้องขอความเป็นธรรม การพิจารณาสั่งสำนวนคดีนี้ของนายเนตร จึงเป็นไปตามบทบัญญัติและระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
ประการที่สอง ผู้สั่งคดีมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร
ภาพรวมในคดีนี้ ณ วันเวลาเกิดเหตุคือ 05.00 น. วันที่ 3 ก.ย. 2555 จนกระทั่งสำนวนจากพนักงานสอบสวนถึงมืออัยการเมื่อปี 2556 รวมเวลาประมาณ 6 เดือนเสษ พยานในสำนวนมีปากสำคัญหลายคน หนึ่งในนั้นคือพยานที่ให้การเรื่องความเร็วรถ โดยได้ความเบื้องต้นจากการสอบสวนว่า ช่องทางเดินรถที่เกิดเหตุมี 3 ช่องทาง โดยรถของนายวรยุทธอยู่เลนขวาสุดติดเกาะกลางถนน มีรถกระบันคันหนึ่งทราบภายหลังว่าเป็นของนายจารุชาติ มาดทอง อยู่ช่องกลาง และช่องซ้ยสุดเป็นรถจักรยานยนต์ของดาบตำรวจวิเชียร
นายจารุชาติ ให้การกับพนักงานสอบสวนภายใน 3 วันหลังเกิดเหตุ (อย่างไรก็ดีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม หนึ่งในคณะทำงานฯฝ่ายอัยการ ระบุในการแถลงข่าวครั้งนี้ว่า นายจารุชาติให้การภายใน 5 วันหลังเกิดเหตุ) ว่า ตนขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 80 กม./ชม. เห็นรถของดาบตำรวจวิเชียรจากซ้ายสุดวิ่งเข้ากลาง ทำให้ตน (นายจารุชาติ) แตะเบรกประมาณ 3 วินาที ต่อมาได้ยินเสียงดังมาจากด้านหลัง แต่มองไม่เห็น ต่อมามีเหตุการณ์ชนกันเกิดขึ้น
ขณะที่พยานอีก 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียม และ พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิชัย (ยศขณะนั้น) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความเร็วจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้การว่า จากการตรวจสภาพร่องรอยการเฉี่ยวชนไม่น่าเสียหายมาก จึงไม่น่าจะเป็นการขับรถด้วยความเร็ว นี่เป็นความเห็นจากตำรวจในสำนวนตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน
ต่อมามีพยานอีกปากคือ พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทีมงานลงพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบกล้องวงจรปิด ได้ทำรายงานทางวิชาการตรวจพิสูจน์ความเร็วรถของนายวรยุทธครั้งแรก ระบุว่า คาดว่ารถน่าจะวิ่งประมาณ 177 กม./ชม. นี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่คณะทำงานฝ่ายอัยการ (เมื่อปี 2556) เชื่อพยานปากนี้ และมีความเห็นควรสั่งฟ้องตอนแรก ก่อนนำเสนอตามลำดับชั้น
อย่างไรก็ดีเมื่อผู้ต้องหามีการร้องขอความเป็นธรรม และมีการสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติม พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ กลับคำให้การว่า รายงานฉบับแรกที่เสนอไปยังไม่สมบูรณ์ และเมื่อตรวจสอบอีกครั้งคาดว่าความเร็วรถไม่น่าจะเกิน 100 กม./ชม. ทำให้ผู้ต้องหามีการร้องขอความเป็นธรรมอีกหลายครั้ง และร้องไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ขณะนั้น) ด้วย
ดังนั้นตามสำนวนที่นายเนตร นาคสุข รอง อสส. พิจารณาในชั้นสุดท้าย เห็นได้ว่า ไม่มีพยานปากใดระบุว่านายวรยุทธขับรถด้วยความเร็วเกิน 100 กม./ชม. แต่เฉลี่ยแล้วขับเร็วประมาณ 70-90 กม./ชม.
คณะทำงานฯพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคำสั่งของนายเนตร แล้วมีความเห็นว่า นายเนตร ได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจมาสั่งคดีไปตามอำเภอใจ รวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร และภายหลังที่มีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ได้มีการเสนอสำนวนให้ ผบ.ตร. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อพิจารณาอันเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ต่อมาผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งดังกล่าว
คณะทำงานฯเห็นว่า การสั่งคดีของนายเนตร เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว
ประการที่สาม ความเห็นของคณะทำงานฯ
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงในประการแรก และประการที่สองแล้ว แม้คดีนี้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนผู้อื่นถึแก่ความตายแล้วก็ตาม มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว คณะทำงานฯตรวจพบว่า คดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้ คณะทำงานฯจึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะเรียนไปยัง อสส. ดังนี้
1.ในสำนวนการสอบสวน มีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ ในวันเกิดเหตุ พบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และสอสบสวนในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 ประกอบมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี และมีอายุความตามกฎหมาย 10 ปี คณะทำงานฯ จึงเสนอ อสส. ให้แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธในข้อหานี้ เนื่องจากคดียังไม่ขาดอายุความ
2.ในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็ฯเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และ ผบ.ตร. ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว อันเป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมาย และห้ามมิให้ทำการสอบสวนอีกก็ตาม
แต่ปรากฏพยานหลักฐานสำคัญคือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ขณะเกิดเหตุ ดร.สธน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด วัตถุพยานที่บันทึกภาพรถของผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ
ดร.สธน ทำรายงานการคิดคำนวณส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี โดยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุรถของนายวรยุทธ แล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กม./ชม. แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อ จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ (อดีตรองผู้ว่า กทม.) ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคิด คำนวณ หาความเร็วของรถ และได้คิดคำนวณพร้อมกับให้ความเห็นทางวิชาการว่า ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็ว ไม่ต่ำกว่า 126 กม./ชม.
ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษนายวรยุทธได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวจึงมีความเห็นและนำเรียน อสส. เพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธต่อไป
“สรุปคือ แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ แต่คดียังไม่จบ เพราะคณะทำงานบอกว่า เมื่อกฎหมายระบุว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ให้ดำเนินการแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปภายในอายุความ ส่วนเรื่องเสพโคเคนที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ให้แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีควบคู่กันไป” นายประยุทธ กล่าว
นี่คือบทสรุปในประเด็นการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่คณะทำงานฯฝ่ายอัยการ มีความเห็นเสนอ อสส. ไปแล้วว่า มีพยานหลักฐานใหม่ เห็นสมควรสั่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธได้อีก 2 ข้อหา คือ กรณีขับรถเร็วโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และคดีกล่าวหาการเสพยาเสพติด (โคเคน)
อย่างไรก็ดียังเหลือผลการตรวจสอบจาก คณะทำงานอีก 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่แย้งความเห็นอัยการ กรณีไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่มี พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน รวมถึงมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) อีกอย่างน้อย 4 คณะ ในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่หยิบยกประเด็นนี้ไปตรวจสอบเพิ่มเติม (อ่านประกอบ : ใครเป็นใคร? เปิดชื่อ-หน้าที่ 3 คณะทำงาน-4 กมธ.2 สภาลุยสอบปมไม่ฟ้องคดี‘บอส อยู่วิทยา’)
บรรทัดสุดท้ายของคดีนี้จะเป็นเช่นไร ยังต้องติดตามกันต่อไป!
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90900-isranews-59.html