(คลิป) เจ้าท่าฯ พัทยาแจง กรณีเรือร้างลอยทะเลสร้างมลภาวะทางกลิ่นและทัศนียภาพ

45

เจ้าท่าฯ พัทยาแจง กรณีเรือร้างลอยทะเลสร้างมลภาวะทางกลิ่นและทัศนียภาพ เป็นเรือไร้สถานะ เตรียมขนย้ายออกนอกบาลีฮายภายในอาทิตย์นี้ …ขู่โทษอาญา เจ้าของเรือที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อการเดินเรือ หรือเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ

(6 ธ.ค.66) ตามที่ผู้สื่อข่าว ได้รับการร้องเรียนว่ามีเรือจอดทิ้งไว้เป็นระยะเวลาร่วม 3 เดือนโดยไม่ขยับไปไหน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการเรือในเรื่องกลิ่นและเส้นทางจราจร ซึ่งเรือลำดังกล่าว เป็นเรือโดยสารใหญ่ 2 ชั้น อยู่ในสภาพผุพัง จอดจมลงไปในทะเลครึ่งลำ โดยมีเชือกผูกยึดตัวเรืออยู่กับรั้วกั้นทางเดินเท้า รอบลำเรือมีเพรียงทะเล เปลือกหอย เกาะติดอยู่เต็มลำ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และกีดขวางการจราจรดังน้ำ ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น

ความคืบหน้าล่าสุดนายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาพัทยา ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า เรือลำดังกล่าวชื่อเรือ “รุ่งวรวรรณ 7” ตามหลักฐานทะเบียนเรือลำนี้เป็นเรือบรรทุกคนโดยสาร สามารถบรรทุกคนโดยสารได้ 200 คน แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้หยุดดำเนินการไป ปัจจุบันเรือลำดังกล่าวทางสำนักเจ้าท่าฯ ได้ดำเนินการเพิกถอนทะเบียนเรือออกจากสารบบไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากเจ้าของเรือผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ไม่ได้ดำเนินการต่อใบอนุญาตใช้เรือ แม้เจ้าท่าฯ จะเคยทำหนังสือแจ้งไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ให้มาต่อใบอนุญาตภายในวันที่ 25 กันยายน 2565 ก็ตาม หลังถูกเพิกถอนแล้ว เรือจึงมีสถานะกลายเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งเมื่อก่อนผูกจอดไว้ใกล้กับชายฝั่งของท่าเทียบเรือพัทยาใต้ ที่ผ่านมามีคลื่นลมทำให้เรือลำนี้ผุพังชำรุดเสียหายจมลงครึ่งลำ ลักษณะเกยตื้นอยู่ เป็นภาพที่อุจาดตา ทัศนียไม่สวยงาม ในเรื่องดังกล่าวเจ้าท่าฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยประสานไปยังเมืองพัทยา ในการนำเรือออกนอกพื้นที่ คาดว่าคงจะแล้วเสร็จภายในอาทิตย์นี้

อย่างไรก็ตาม นายเอกราช กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเจ้าของเรือผู้ครอบครองสิทธิ์ทุกลำ ที่ไม่มีความประสงค์จะใช้เรือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรือประเภทใดก็ตาม โดยเฉพาะเรือประมง ต้องมาของดใช้เรือ หรือขอเพิกถอนทะเบียนเรือให้ถูกต้องตามกฎหมาย มิเช่นนั้นแล้ว หากเรือที่ครอบครองอยู่ ไม่มีสถานะในการงดใช้หรือเพิกถอน อาจจะเป็นเรือที่ถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดได้ การตรวจสอบจะนำไปสู่ความเป็นเจ้าของ ภาระความรับผิดชอบทางกฎหมายก็ยังเกิดอยู่กับเจ้าของเรือ และอาจจะมีโทษทางอาญาด้วย หรือเรือที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อการเดินเรือ หรือทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับ

https://youtu.be/jDcJFThy91w

(สัมภาษณ์นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ที่ 6 สาขาพัทยา)

- Advertisement -