ไปคนเดียวก็เก่งคนเดียว แต่ถ้าเราร่วมกับคนอื่นต่างคนต่างพากันเก่งขึ้น “เก็ต-กาย” นศ. CIBA DPU ที่กล้าคิดแตกต่าง  

89

ทำความรู้จัก “เก็ต-เกียรติศักดิ์” และ “กาย-เกษมราษฎร์” กับแนวทางคนการเงินและการลงทุนรุ่นใหม่ แห่งวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIBA-DPU) ที่กล้าเลือกมั่นคงโดยคำนึงถึงคนอื่นควบคู่

ขณะที่ผู้คนต่างแสวงหาวิธีหลุดพ้นความจนที่น่ากลัว และเลือกใช้วิธีการที่พาไปสู่คำว่า ‘ร่ำรวย’ ให้เร็วที่สุด ต่อให้ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยง เช่น การเทรด ‘หุ้น’ แบบรายวันซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของนักลงทุนหน้าใหม่ ทว่า “เก็ต-เกียรติศักดิ์ โนนทะพา” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIBA-DPU) และ “กาย-เกษมราษฎร์ เชี่ยววานิช” บัณฑิตป้ายแดงรุ่นพี่ กลับเลือกเส้นทางการทำงานที่ไม่เพียงตัวเองมั่นคงหาก แต่ยังสามารถที่จะช่วยคนอื่นเติบโตควบคู่ไปด้วยกันได้อีกด้วย

อะไรที่ทำให้ทั้งสองคิดเช่นนี้ เรื่องของเงินๆ ทองๆ กับความแบ่งปันสามารถเดินไปคู่กันได้อย่างนั้นหรือ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการไปฟังเรื่องราวจากปากคำของเขา…

เพราะถ้าไปด้วยกัน ‘ไปได้ไกลกว่า’

กาย-เกษมราษฎร์ เริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่าง นาย A มีเงิน10ล้าน และรู้ว่าบริษัทไหนที่ซื้อหุ้นแล้วจะได้ปันผล 10% ก็จะทำให้เราได้เงินเฉลี่ยต่อเดือน 80,000-100,000 บาท ขณะที่อีกด้านก็ทำงานแลกเงิน ดังนั้น ‘ถ้าเรารู้จักวิธีการ’ ก็จะทำให้เราได้เปรียบทั้งเพิ่มเวลาอยู่กับครอบครัว และ ใช้เวลาทำงานน้อยลง ทำให้เรามีเวลาทำในสิ่งที่เรารักมากขึ้น

จาก ‘หนังสือพ่อรวยสอนลูก’ ของโรเบิร์ต คิโยซากิ ที่ได้บังเอิญอ่าน เนื้อในของหนังสือพาเดินทางให้สร้างภาพเปรียบเทียบยายทั้ง 2 คนของเขา โดยคนแรก ‘เกษียณจากงานแล้ว’ แต่ยังมีรายได้เฉลี่ยหลักหมื่นบาทจากการสร้างห้องเช่า 7-8 ขณะที่คนที่สอง ‘ปัจจุบันยังคงต้องทำงาน’ เพราะเก็บเงินแบบกินดอกเบี้ยธนาคารเพียงอย่างเดียว เขาสรุปการแบ่งนำเงินไปลงทุนทำให้มันมีรายได้เข้ามา ดังนั้นในช่วงที่ยังมีแรงทำงานถ้าทำควบคู่ทั้ง 2 ทาง ก็จะยิ่งเพิ่มช่องทางรายได้และทำให้ชีวิตดีขึ้นตอนอายุมาก

“พอรู้ตัวเองชอบด้านไหนก็มาเสิร์ชดูว่ามีสถาบันอะไรบ้างที่เปิดสอนที่สามารถเทียบโอนได้ แต่เวลานั้นช่วงปี 2563น้อยมากที่สถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดหลักสูตรนี้ นอกจากนี้ที่มีเปิดสอนก็ไม่รับเด็กเทียบโอนจากสายอาชีพ แต่ที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIB) เปิดโอกาสให้เรียน”

และที่นี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เริ่มตั้งแต่วิสัยทัศน์ทิศทางและปรับเปลี่ยนหลักสูตรเรื่องการเงินและการลงทุนในปี 2562 เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและไม่กลัวการเกิด Digital Disruption  อีกทั้งในหลักสูตรยังสอนให้เล็งเห็นมิติการช่วยเหลือคนอื่น และ มักจะต่อเติมไอเดียรวมไปถึงแนวคิดสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีมากมายอยู่เสมอ แม้ “เกษมราษฎร์” จะเข้าใจในเวลาต่อมาหลังที่ “อาจารย์เพียรใจ โพธิ์ถาวร” อาจารย์ที่ปรึกษาและหัวหน้าหลักสูตรในเวลานั้นได้แนะนำให้ลองทำกิจกรรม โครงการ ‘ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น’ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชุมชนทั้งด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดและเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงของรากฐานสังคมจากพื้นฐานความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ ทำให้ค้นพบ ‘คุณค่า’ ของชีวิต ที่นอกเหนือหน้าที่การงานที่ฝันนั้นมันยังมีหลายๆ อย่างเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพื่อก้าวให้ไกลกว่าเดิม

“ตอนแรกที่ทำเรามันเปรียบเสมือนการเดินไปคนเดียว แต่พอได้มาลองทำกิจกรรม ได้ยินเสียงตอบรับของชาวบ้านเขาชื่นชมเรา ทำให้ภูมิใจ เพราะโควิด-19 ตอนนั้นทำให้ธุรกิจต่างๆ ตายหมด มันไม่ใช่แค่ธุรกิจ มันหมายถึงการที่ลูกเขาและลูกจ้างเองขาดรายได้อีกด้วย การทำกิจกรรมช่วงนั้น มันก็ทำให้เรามีความสุขเล็กๆ และก็  Win-Win ทั้งฝ่ายผู้ให้ และ ฝ่ายผู้รับ  ทางชุมชนได้รู้เรื่องต้นทุนเรื่องของจัดการรายได้ ระบบต่างๆ ทำให้สามารถไปขอทุนกับทางธนาคารได้ ขณะที่เราก็ได้ทบทวนวิชาที่เรียน ได้ประสบการณ์หน้างานจริงในการทำธุรกิจ”

“แต่ถ้าเรามัวแต่ตั้งใจเรียนแค่ในห้องเรียน เราอาจจะเก่งก็จริงแต่เราก็จะขาดความรอบรู้ และพอไม่มีประสบการณ์พอ เวลาเจอปัญหาก็แก้ไขมันไม่ได้หรือใช้เวลาแก้นาน อันนี้ก็เป็นหลักชีวิตเลยทีเดียว  เราไปคนเดียวเราก็เก่งคนเดียว แต่ถ้าเราร่วมกับคนอื่น เราก็เก่งและเขาก็เก่ง ต่างคนต่างพากันเก่งขึ้น อนาคตผมจึงอยากจะให้ความสำคัญกับการทำMergers and Acquisitions และ Joint Venture กับบริษัทอื่นที่มีเป้าหมายเหมือนกัน” เกษมราษฎร์เผย เส้นทางในอนาคตที่หากจะให้จำกัดความก็คือ “นักอำนวยความสะดวกชีวิต” ที่ทำเพื่อตนเองและทำเพื่อผู้อื่นในสังคม

เพราะเรียนด้วยประสบการณ์ตรง ‘ทำให้เข้าใจ’

ไม่ต่างไปจาก “เกียรติศักดิ์ โนนทะพา” หรือ “เก็ต” รุ่นน้องที่ตอนนี้ศึกษาในชั้นปีที่ 4 ที่กว่าจะ ‘ค้นพบ’ แนวทางของตนเองก็เมื่อก้าวเข้าสู่รั้ว  ‘CIBA-DPU’ และเจอกับ ‘อาจารย์เพียรใจ โพธิ์ถาวร’ จากตอนที่เข้ามาเรียนตอนแรกก็ตั้งใจจะเรียนและรอสอบ ก.พ. เพราะตั้งเป้าอยากจะเป็นข้าราชการเนื่องจากมั่นคง แต่…พอได้ลองเล่นเกมเทรดหุ้น ที่วิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ทำให้รู้วิธีเรื่องของการลงทุนและการเงิน ช่วยสร้างชีวิตมั่นคงได้เหมือนกัน แถมยังได้ช่วยเหลือคนอื่นได้เหมือนอาชีพข้าราชการ  ถ้าเราทำงานเป็น ‘ผู้แนะนำการลงทุน’

“ข้อดีที่ CIBA คือนอกจากกิจกรรมที่มีตลอดทุกอาทิตย์ทั้งในคณะและนอกคณะ อาจารย์ยังใส่ใจคอยแนะนำให้เราเข้าร่วมกิจกรรม ที่สำคัญเลยคือที่นี่มีความร่วมมือ MOU กับบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ เพราะถ้าทำงานด้านนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงนักศึกษาต้องไปฝึกสหกิจศึกษาที่บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ช่วยให้สะดวกขึ้น การร่วมมือระหว่างสถาบันกับผู้ประกอบการ ทำให้สามารถเลือกแผนกหน้าที่ที่ต้องการได้ มันก็ทำให้เราได้ไปทำงานจริงๆ ไม่ใช่แค่ฝึกงานทั่วไป”

ว่าที่นักวิเคราะห์หุ้นจากการสอบผ่านใบ IC License P1-3 ซึ่งถือว่าเป็นคนแรกของหลักสูตรเทคโนโลยีการเงิน การลงทุน และวิทยาลัย CIBA-DPU สำหรับ “เกียรติศักดิ์” ในอีก 1 ปี ที่จะจบการศึกษาปริญญาตรี หมุดหมายตนเองจะเป็นคนที่ตรงไปตรงมา ไม่ขายฝัน เพราะการที่จะรวยในตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นไปได้ยาก ‘ในความเป็นจริง’ มีเพียงแค่ ค่าเฉลี่ยตามอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยเท่านั้น

“เพราะตอนทดลองเล่นเทรดหุ้น ผมเคยเสีย  ก็เลยเข้าใจการที่เน้นลงทุนระยะยาว ให้ผลตอบแทนทบต้นก็เพียงพอแล้ว ต่อมาผมได้เข้าร่วมกิจกรรม ชีวิตเราลงทุนสร้างความมั่นคงชีวิต อีกส่วนหนึ่งได้ช่วยให้คนเขามีความมั่นคงทางการเงินและช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

เพราะทักษะโลกอนาคต คือ ‘การปรับตัวและอยู่รวม’ และ ‘มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ’

“เรียนในห้องเก่งถือว่าดี แต่ชีวิตข้างนอกก็ต้องเก่งด้วย” อาจารย์เพียรใจ โพธิ์ถาวร  ระบุผ่านแว่นตาของอาจารย์ที่ปรึกษาที่ติดอาวุธให้แก่นักศึกษา ‘CIBA’ ถือมั่น ซึ่งไม่เพียงองค์ความรู้เฉพาะด้านในการออกแบบชีวิตในฉบับที่ตัวเองต้องการ  หากแต่ช่วยให้นักศึกษาเป็นที่ต้องการของทุกหน่วยงานองค์กร เพราะทักษะที่สำคัญสำหรับอนาคต ‘Future Workforce’  คือ เราต้องสามารถทำงานร่วมกับคนได้ในทุกที่

“การมีทักษะการปรับตัวและอยู่รวม รวมไปถึงเรื่องของการมีจรรยาบรรณในวิชาชีพก็เป็นสิ่งสำคัญ ในฐานะอาจารย์ ในฐานะที่เราเป็นสถาบันการศึกษา เรามีประสบการณ์ เรารู้ว่ากิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียนจะช่วยเติมเต็มชีวิตให้ครบเครื่อง เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ ถ้ามีโครงการอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเขา เรามีประสบการณ์ เรารู้ว่ากิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียนจะช่วยเติมเต็มชีวิตให้ครบเครื่อง” อาจารย์กล่าวทิ้งท้าย

- Advertisement -