ขนมทันจิตต์ จากผู้เรียนหลักสูตร  Digital DNA ที่ DPU สู่การได้รับรางวัลแผนธุรกิจยอดเยี่ยม Best BMC Awards

49

จากวิกฤตผ่านช่วงโควิด สู่ช่วงติดปีก เข้าอบรมเพิ่มพูนความรู้ มุ่งสู่ยอดขายหลักล้านและเติบโตอย่างยั่งยืน ‘ขนมทันจิตต์’ ตำนานร้านของฝากรุ่นพ่อกับการปั้นแบรนด์ยุคดิจิทัล 2023  ด้วยยอดขายหลักล้าน  และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น กว่า 25%  แม้ช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองธุรกิจกลุ่ม Micro SMEs แทบพังยับ

อะไรที่ทำให้ เผือกกรอบรูปตะแกรง แบรนด์ขนมทันจิตต์ ซึ่งผ่านกาลเวลามากว่า 40 ปี ได้เป็นขนมที่ถูกอกถูกใจ ‘ผู้บริโภค’ จนถึงปัจจุบัน ที่ทุกอย่างไม่มีคำว่าง่าย

คงไม่มีใครที่จะบอกได้ละเอียดชนิดคำ ในเส้นทางการเติบโตของปั้นแบรนด์ ‘ทันจิตต์’ ขนมรุ่นเก๋ากว่า 40 ปี ให้โดนใจได้ดีเท่ากับ “อีฟ-อัมภานุช บุพไชย” และ “เอ๋-กษิรา ขันติศิริ” แห่งครอบครัว “ขันติศิริ”  ที่เป็นผู้นำของแบรนด์ทั้งแนวคิดริเริ่ม จนถึงการพัฒนาต่อยอดและการถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวนักรังสรรค์ขนม ‘ทันจิตต์’ บนโลกออนไลน์ จนสามารถกุมหัวใจลูกค้าได้ทุกวัย…

วินาทีที่พลิกผัน

“ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นช่วงที่วิกฤติที่สุด เพราะ นักท่องเที่ยวชาวไทย และ ชาวต่างชาติได้หายไป ร้านของฝาก แหล่งท่องเที่ยวก็ปิดหมด  ‘ขนมทันจิตต์’ คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain นั้น จากเดิมที่ยอดขายต่อเดือนนับแสนๆ บาท เหลือเพียงเสียงบ่น แม้แต่แบงก์ธนบัตรสีแดงยังแทบไม่มีให้หยิบจับ ยิ่งช่วง “ล็อกดาวน์ครั้งที่ 1 ตอนนั้นไม่มีออเดอร์เลย 3 เดือน … จากยอดหลักแสนบาทต่อเดือน” คุณอีฟ กล่าวถึง เริ่มต้นเหตุการณ์ที่ทำให้เธอ ‘กระโดด’ เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวคุณเอ๋ผู้เป็นแฟน

“เราทั้งสองคนก็มานั่งคิด ออฟไลน์ไม่ได้ก็ต้องลองออนไลน์ โดยเริ่มขายขนมใน Facebook ส่วนตัว แต่ก็ขายได้แค่จากหมู่เพื่อนๆ ในช่วงที่เรากำลังหาทางขายของออนไลน์กัน เพื่อนของคุณเอ๋แนะนำให้ลองฝากร้านและขายของใน Facebook Group มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน  เพราะคุณพ่อ ‘ทันจิตต์’ เป็นศิษย์เก่า จบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2501 ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นแรกๆ”

“เราเลยชักชวนคุณพ่อมาลองขายของออนไลน์ โดยเริ่มจากการเขียนโพส จึงให้คุณพ่อเขียนในกระดาษ แล้วเราเป็นคนพิมพ์ตามที่คุณพ่อเขียนและถ่ายรูป ปรากฏว่าโพสต์แรกของคุณพ่อได้รับการตอบรับจากผู้คนในนั้นมากมาย หลังจากนั้นทุกโพสต์ของคุณพ่อค่อนข้างเป็นกระแส จนได้มีรายการและเพจต่างๆมาสัมภาษณ์คุณพ่อและครอบครัว เนื่องจากคุณพ่อเป็นผู้สูงวัยที่ใจดี ร่าเริง และยังคงทำขนมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้ยอดขายเริ่มเข้าถึงหลักแสนต่อเดือน”

คุณอีฟเล่าต่อว่า  จากจุดเริ่มต้นการโพสต์ตามเสียงคุณพ่อลงบน Facebook Group มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ทำให้เราเริ่มที่จะเข้ามาเรียนรู้และลงมือทำต่อจากคุณพ่ออย่างจริงๆจังๆ พัฒนามาเป็นการสร้างช่องทางออนไลน์ของตัวเองบน Facebook ชื่อเพจ “ขนมทันจิตต์ Kanomtanchit” และต่อยอดโดยการเพิ่มช่องทางออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น

“ในตอนที่เราคิดจะเริ่มสร้างช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้เรื่องราวของขนมที่คุณพ่อได้เป็นคนริเริ่มขึ้นมาแล้วส่งต่อสูตรและเทคนิคมายังรุ่นลูกนั้นไม่จางหายไป แต่เรายังขาดความรู้ทางด้านการขายของออนไลน์ เราจึงพยายามหาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ”

ฝั่งชิปดิจิทัลฟื้นชีพ’

ตอนนั้นเริ่มด้วยการค้นหาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ใน Google ก่อนจะขยับมาเป็น Facebook และด้วย Algorithm ของช่องทาง Facebook ที่จะส่งเนื้อหาที่เจ้าของบัญชีกำลังให้ความสนใจ ทำให้คุณอีฟได้มีโอกาสเรียนรู้ในหลักสูตร“Digital DNA โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้าน Digital Economy” โดยความร่วมมือกันระหว่าง กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( DE ) และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างการเติบโตให้กับ ‘ขนมทันจิตต์’ ภายในเวลาแค่ 2-3 ปี

“หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรอบรมความรู้ด้านดิจิทัลออนไลน์อย่างเข้มข้น ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับ Business Model Canvas (BMC) การทำแผนธุรกิจ บัญชีการเงิน การตลาดออนไลน์ การถ่ายภาพสินค้าให้น่าสนใจ และการออกบูธจำหน่ายสินค้า”

จากขนมที่คุณพ่อคุณแม่ที่ได้เป็นคนคิดค้นสูตรเทคนิคต่างๆ จนค่อนข้างมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งคู่จึงได้ตัดสินใจนำขนม “เผือกกรอบรูปตะแกรง” มาพัฒนาจนเกิดเป็นแบรนด์ “ทันจิตต์” เนื่องด้วยขนมที่ทำจากเผือกนี้ผ่านกระบวนการต่างๆ จนเป็นเผือกกรอบที่มีเอกลักษณ์ และมีความโดดเด่นด้วยทักษะฝีมือเฉพาะทางที่ประณีต ซึ่งเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อถ่ายทอดสู่รุ่นลูกมานานกว่า 40 ปี ลูกค้าที่ได้กินต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเผือกกรอบที่อร่อยไม่เหมือนเผือกกรอบทั่วไป

“ถึงแม้ว่าเราจะรับช่วงต่อมาจากรุ่นพ่อแม่ แต่ก็ถือว่าเราเองต้องมาเริ่มต้นใหม่หลายๆ ด้าน จึงได้เริ่มเขียนแผนธุรกิจ Business Model Canvas (BMC) เป็นการวางแผนพัฒนาต่อยอดธุรกิจ “ขนมทันจิตต์” จากการเข้าร่วมโครงการ Digital DNA นี้  ทำให้เราผ่านการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ จนได้รับรางวัลแผนธุรกิจยอดเยี่ยม Best BMC Awards (คะแนนเต็ม 100/100)”

และก็จริงดั่งที่เธอว่าเมื่อเอกลักษณ์และรสชาติของ “เผือกกรอบรูปตะแกรง ตรา ทันจิตต์” ที่ไม่เหมือนใคร ประกอบกับการรู้จักการร้อยเรื่องราวของแบรนด์ “ทันจิตต์” ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ พอบวกกับการขับเคลื่อนธุรกิจที่มีการวางแผนด้วยส่วนสำคัญ 9 ช่องของ Business Model Canvas (BMC) มาอย่างดี รวมทั้งการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเปลี่ยนชีวิต ‘แม่ค้ามือใหม่’ กลายเป็น ‘สาวนักธุรกิจ’ เงินล้าน! ภายในระยะเวลา 2-3 ปี เท่านั้น

“สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ “ขนมทันจิตต์” เติบโตขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ เริ่มต้นมาจาก Brand DNA ของเราที่ปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ว่า เราคือครอบครัวนักรังสรรค์ขนมด้วยความสนุก ยินดีแบ่งปันความอร่อย และส่งต่อความสุขเต็มอิ่มให้กับทุกๆคน แบบไม่มีวันหมด … เราจึงตั้งใจและเชื่อมั่นว่า “เผือกกรอบรูปตะแกรง ตรา ทันจิตต์” ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี จะเป็นอันดับหนึ่งของ Taro Chips ในประเทศไทย ภายในเวลาไม่กี่ปีแน่นอน” นักธุรกิจสาวบรรยายด้วยรอยยิ้มพร้อมให้ความสำเร็จค่อยๆ เดินเข้ามาทักทาย

ปัจจุบันในส่วนของยอดขายจากช่องทางออนไลน์นั้นก็ประสบความสำเร็จไปอีกขั้นอย่างงดงาม โดยที่ล่าสุด “ขนมทันจิตต์” ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการประกวดสุดยอด Thailand e-commerce Genius 2023 รวมทั้งได้รับรางวัลพิเศษจากแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada จัดโดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

บทส่งท้าย ‘เผือกกรอบรูปตะแกรง ตรา ทันจิตต์’ สู่ความสำเร็จ

ถึงตรงนี้เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต? ‘ขนมทันจิตต์’ ไม่คิดที่จะหยุดนิ่ง ‘ความสำเร็จ’ ไว้แค่ตรงนี้ จากประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมาของวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับการวางแผนเป้าหมายในระยะยาวที่ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาและต่อยอดจากเผือก และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘ทันจิตต์’ จึงได้มีโอกาสทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเป็นการพัฒนากระบวนการปลูกเผือกในพื้นที่เป้าหมายให้ได้มาตรฐาน

นอกเหนือจากเป้าหมายที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ‘ขนมทันจิตต์’ ได้มีออกแบบกระบวนการและรูปแบบของธุรกิจที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ โดยการหมุนเวียนของทรัพยากรกลับมาใช้ เพื่อลดการเกิดของเสีย จนนำไปสู่การไม่มีของเสียเกิดขึ้น โดยนำเผือกบางส่วนที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตเผือกกรอบ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมเพิ่มเติม ได้แก่ เผือกแท่งอบกรอบ เคลือบรสกล้วย และเคลือบรสอะโวคาโด (Vegan) ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการทอด ไม่มีไขมันทรานส์ ไม่มีสารเติมแต่ง ไม่มีสารกันเสีย รวมทั้งการนำเปลือกเผือกที่เหลือจากกระบวนการผลิต ต่อยอดและสร้างสรรค์ออกมาเป็น รองเท้าหนังจากเปลือกเผือก (Vegan Leather) จนได้รับรางวัล 1 ใน 10 สุดยอดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ Creative DIPROM in Circular Economy ประเภทการออกแบบ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจตามแนวความคิด BCG Model เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความมั่นคง บนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมของสังคม

“การที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้จากจุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมโครงการ Digital DNA และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งในปัจจุบันที่เราได้มีการพัฒนาต่อยอดสิ่งต่างๆของ ‘ขนมทันจิตต์’ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เรารู้สึก ‘ขอบคุณ’ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือDPU ที่เป็นจุดเริ่มต้นในวันนั้น นำมาสู่การเชื่อมโยงจุดต่างๆ ทำให้เราได้รับโอกาสดีๆ ตามมามากมาย” แม่ค้าเงินล้านย้ำ

“ที่สำคัญในช่วงที่เรากำลังพัฒนาและต่อยอดแผนธุรกิจ เรามีที่ปรึกษาสำคัญอีก 2 ท่าน คือ ‘ดร.รชฏ ขำบุญ’ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) และ ‘ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์’ รองคณบดีฯ ที่ให้คำปรึกษาจนเรามีองค์ความรู้ต่างๆ  DPU เป็นเหมือนทั้งเพื่อน ที่ปรึกษา และ พันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นกันเอง จริงใจ หากมีข้อสงสัยตรงไหนสามารถสอบถามได้ตลอด ถึงแม้ว่าจะจบโครงการแล้ว ต้องขอขอบคุณ DPU ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘ขนมทันจิตต์’ มีวันนี้ได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- Advertisement -