จากกรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ได้สัมภาษณ์ นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันและมีการเผยแพร่ผ่านรายงานข่าว เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 มีเนื้อหาทำนองว่า จีนกำลังเพิ่มแรงกดดันทางทหาร เพื่อบีบบังคับทางเศรษฐกิจเพื่อทำให้ไต้หวันอ่อนแอ และแนวโน้มความเป็นไปได้ของสถานการณ์การรุกรานไต้หวันด้วยกำลังอาวุธจากจีน เป็นเหตุให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย” เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 66 โดยใจความภาษาไทยระบุว่า
“”เมื่อเร็วๆ นี้มีสื่อไทยสื่อหนึ่งได้ออกอากาศรายการสัมภาษณ์ อู๋เจาเซี่ย คนที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน อู๋ได้ปลุกปั่นคำพูดที่เหลวไหลเกี่ยวกับ “การแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน” ในการให้สัมภาษณ์ และโจมตีข้อเสนอที่รวมประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสันติของประเทศจีนอย่างร้ายแรง คำพูดที่ไร้สาระอย่างนี้ไม่คุ้มค่าที่จะหักล้าง ส่วนสื่อนี้ได้เสนอเวทีที่เผยแพร่คำพูดที่เหลวไหลให้แก่คนที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน ซึ่งทำลายผลประโยชน์ของประเทศจีน และทำร้ายความรู้สึกของประชาชนจีน ฝ่ายจีนต้องแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำอย่างนี้อย่างรุนแรง
ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ของจีน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการยอมรับของทั่วโลก การกระทำที่ช่วยคนชั่วก่อกรรมทำเข็ญในเรื่องที่เกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนและการต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนของจีน ไม่ว่าเป็นการกระทำใดๆ ก็ตาม ล้วนตรงกันข้ามกับมิตรภาพระหว่างประชาชนของจีนกับไทย การกระทำที่ทำร้ายประเทศอื่นๆ และประชาชนของประเทศอื่นๆ โดยใช้เสรีภาพของสื่อเป็นข้ออ้าง ไม่ว่าเป็นการกระทำใดๆ ก็ตาม ล้วนเป็นการใช้เสรีภาพของสื่ออย่างพร่ำเพรื่อ
เราหวังว่าสื่อที่เกี่ยวข้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของจีน แก้ไขการกระทำที่ผิดพลาด และไม่ให้เรื่องที่ทำร้ายความรู้สึกของประชาชนจีนเกิดขึ้นอีก”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.กำพล มหานุกูล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน แสดงความเห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคที่ชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ปัญหาการเมืองระหว่างจีนกับไต้หวันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน มีความแนบแน่นทั้งด้านการฑูต การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ดังนั้น กานนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนของไทยในบางประเด็น อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ ระหว่างชาวไทยและชาวจีน
“เรายอมรับว่า สื่อมวลชนในประเทศไทยนั้น ต่างก็มีสิทธิ เสรีภาพ ในการนำเสนอข่าวสาร เพราะรัฐบาลไม่อาจจะไปปิดกั้นหรือสั่งการได้ แต่การนำเสนอข่าวสารที่ล่อแหลม ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างมิตรประเทศ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายพึงระมัดระวัง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก อย่าเป็นน้ำหยดเดียวที่หยดลงบนน้ำมันในกะทะที่กำลังร้อน” นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าว