ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เปิดเผยรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่และเด็กในกลุ่มเปราะบาง จัดทำโดย ภาคีเครือข่ายหลายองค์กร เผยปัญหาความเครียดสะสมจากการตกงานในภาวะล็อกดาวน์ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงช่วงวิกฤติโควิด พร้อมข้อเรียกร้องให้รัฐใส่ใจผู้หญิงและเด็กในกลุ่มเปราะบาง เร่งจัดทำฐานข้อมูลแรงงานหญิงทั่วประเทศ
วันที่ 20 กรกฎาคม นายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เปิดเผยรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่และเด็กในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจัดทำโดย ภาคีเครือข่ายความร่วมมือแบ่งปันสุขให้แม่และเด็กปลอดภัยจากโควิด 19 ได้แก่ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิชุมชนไทย และเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ
จากการรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่อผู้หญิง แม่ และเด็กและความรุนแรง ในช่วงเดือน เมษายน-กรกฎาคม 2563 ของภาคีเครือข่าย พบข้อมูลว่ามีผู้หญิงขอรับถุงยังชีพผ่านมายังภาคีเครือข่าย จำนวน 5,289 ครอบครัว โดยมีทั้งที่เขียนข้อความเข้ามาทางกล่องข้อความหน้าเพจเฟซบุ๊คขององค์กรภาคี เพื่อต้องการการช่วยเหลือเร่งด่วน สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือ ได้แก่ 1.นมผงเด็กสำหรับเด็กเล็ก 2.นมยูเอชที สำหรับเด็กโต 3.แพมเพิสเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หน้ากาก เจลล้างมือ เสื้อผ้าเด็กแรกคลอด 4.ข้าวสารอาหารแห้ง ไข่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ขนมเด็ก 5.ขอเงินไปใช้หนี้นอกระบบ ค้างค่าเช่า ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ 6.ตกงาน ว่างงาน ต้องการทำงาน
สำหรับลักษณะของงานที่ผู้หญิงในกลุ่มเปราะบางทำก่อนประสบปัญหาตกงานเนื่องจากวิกฤติโควิด ได้แก่1.อาชีพอิสระ 75% เช่น ค้าขายอิสระในตลาดและตามสถานีรถไฟ ขายของออนไลน์ หาบเร่แผงลอย ขายของตามตาดนัด รับจ้างรายวัน ล้างจาน ทำความสะอาด งานขนของ แบกของ งานก่อสร้าง ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างในภาคเกษตร ส่วนมากมีรายได้แบบรายวัน หาเช้ากินค่ำ การประกาศล็อกดาวน์ ทำให้อาชีพอิสระเหล่านี้ ตกงานทันที ในบางกรณี สามีตกงาน บางกรณี ตกงานทั้งสามีและภรรยา รายได้เฉลี่ยต่อวัน ไม่แน่นอน อยู่ที่ประมาณ 100-300 บาท ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน
2.ทำงานในสถานประกอบการลูกจ้างในธุรกิจเอกชน 17% อาทิ โรงงานอิเล็คโทรนิกส์ ทอผ้า ทำเกษตร
3.ทำงานเป็นพนักงานในสถานบริการบันเทิงเช่น สาวเชียร์เบียร์ เอ็นเตอร์เทนแขก อาบอบนวด
นอกจากนี้ ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เปิดเผยถึงภาพรวมผลกระทบต่อผู้หญิง แม่ เด็ก และครอบครัว ในหลายกรณี
อาทิ 1.ผลกระทบจากภาวะว่างงานเนื่องจากรัฐบาลสั่งปิดสถานประกอบการเพราะสถานการณ์โควิด ทำให้ไม่มีรายได้
2.รายได้ลดลง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ออกจากบ้าน ทำให้ค้าขายหรือทำธุรกิจยาก
3.ตกงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก ไม่มีเงินซื้อของใช้ และอาหารในครัวเรือน
4.สถานการณ์ที่ยากลำบากของพ่อแม่ ส่งผลให้เด็กได้อาหารไม่เพียงพอ ขาดสารอาหาร ขาดเครื่องเล่นนันทนาการ ไม่ได้เล่นตามวัย การเรียนออนไลน์มีปัญหาต่อชีวิตพ่อแม่ เพราะต้องมาคอยดูแลควบคุมลูกให้เรียน พ่อแม่เครียด ทะเลาะกัน ทุบตีทำร้ายในครอบครัว กลายเป็นความเครียดสะสม
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาให้แม่และเด็กกลุ่มเปราะบาง อาทิ 1.ควรมีการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน หรือจากเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคม จัดสรรเป็นกองทุนแม่และเด็กในสถานการณ์โรคระบาดภัยพิบัติ โดยคณะทำงานต้องมีสัดส่วนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชานในสัดส่วนที่สมดุล
2.มีการจัดทำแผนฟื้นฟูสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน ในแต่ละจังหวัด มีแผนรองรับการจ้างงานกลุ่มผู้หญิง กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวและพิจารณาดูความเหมาะสมในลักษณะงานที่สอดคล้องกับภาวะที่ต้องทำงานพร้อมการเลี้ยงลูก
3.ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง แม่และเด็ก เช่นความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว พบว่าในช่วงล็อกดาวน์ มีการทำร้ายกันในครอบครัวสูงเท่าตัว สาเหตุจากความเครียด เพราะไม่มีรายได้ การต้องอยู่ร่วมกันตลอด 24 ชม.จึงอาจเกิดการกระทบกระทั่งกัน การต้องเลี้ยงลูกหลายคน หรือการที่ต้องดูแลคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง รัฐควรมีกลไกตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขเยียวยาปัญหานี้เป็นการเร่งด่วน
4.รัฐบาลต้องจัดทำฐานข้อมูลแรงงานหญิงทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถคุ้มครองสิทธิ พัฒนาความร่วมมือกับนายจ้างเพื่อไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ หรือบางกรณีต้องใช้กฎหมายบังคับนายจ้างไม่ให้ถือโอกาสเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
รายงานยังเปิดเผยผลความเครียด ความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย โดยระบุถึงปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียดว่า 1.เครียดเพราะรายได้ลดลง และมีรายได้แบบรายวัน ไม่ทันตั้งตัวเมื่อตกงาน ทำให้มีการทะเลาะกันในครอบครัว เครียดสะสมถึง 79% และถึงขั้นทุบตีทำร้าย 1,523 ครอบครัว มี 80% ยอมทน เพราะไปไหนไม่ได้ มี 1% หนีไปอยู่กับเพื่อน กับครอบครัวฝ่ายตนเอง
2.เครียดเพราะต้องดูแลลูกแบบ 24 ชั่วโมง อยู่กันในห้องเช่าแคบๆ เวลาลูกร้องขออาหาร ขอขนมไม่มีให้ลูก ผู้เป็นแม่ร้องไห้ ไม่รู้จะทำอย่างไร สงสารลูก ทำให้ต้องไปยืมเงิน ต้องกู้เงินนอกระบบ
3.เครียดเพราะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แบกภาระตามลำพัง เมื่อต้องดูลูกหลายคนอยู่ที่บ้าน ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ รายได้ไม่พอ ต้องคอยมองหาของบริจาค เพราะไม่มีงาน ว่างงาน ไม่มีใครจ้าง ทุกกิจการปิด ในกรณีนี้ มี 5% ที่มีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย เพราะไม่อยากทนเห็นลูกร้องไห้เพราะหิว ไม่มีอาหารที่มีคุณภาพเพียงพอให้ลูก
นอกจากนี้ประเด็นการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ พบว่า ปัญหาอันดับ 1 คือ ลงทะเบียนแต่ไม่ได้รับสิทธิ์
ปัญหาอันดับ 2 ไม่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เพราะไม่รู้เรื่องสิทธิ์ ลงไม่ทัน ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปัจจุบัน
ปัญหาอันดับที่ 3 ลงทะเบียน และได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาจากรัฐนอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องข้อจำกัด ใช้ระบบออนไลน์ไม่เป็น อยู่พื้นที่ห่างไกล ไม่สะดวกเดินทาง มือถือไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมุดบัญชีและไม่มีเงินไปเปิดสมุดบัญชี
ทั้งนี้ หลังจากเปิดเผยข้อมูลรายงานดังกล่าว มีการเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับการผลักดันประเด็นปัญหาและข้อเรียกร้องดังกล่าวผ่านกลไกของรัฐสภา ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รัชนา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ พรรคพลังประชารัฐ ชนก จันทาทอง พรรคเพื่อไทย และเบญจรงค์ ธารณา พรรคกล้า
ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง ผู้ดำเนินรายการเสวนา ตั้งคำถามถึงพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมทั้งชมรมรัฐสภาสตรีที่ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.หญิงหลายคน ว่าจะมีส่วนขับเคลื่อนประเด็นปัญหานี้อย่างไร เพื่อช่วยในเรื่องการป้องกันความรุนแรงและเพื่อช่วยเยียวยาปัญหาของแม่และเด็ก เป็นไปได้ไหม ที่จะเกิดการผลักดันเพื่อให้ได้งบประมาณและเพื่อให้มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ใจความสำคัญของวงเสวนาระบุถึงความเป็นไปได้ในการเรียกร้องประเด็นดังกล่าว ผ่านกลไกของรัฐสภา อาทิ ส.ส.ตั้งกระทู้ถามในสภาฯ เรียกร้อง อภิปราย ว่าเมื่อไหร่จะมีการแก้ไขปัญหาสตรีและเด็กรวมทั้งอาจยื่นเสนอเป็นญัตติเร่งด่วน นอกจากนี้ มีการเสนอแนะในวงเสวนาโดย ชนก จันทาทอง ว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้รับงบประมาณ 100 ล้านบาท แนะนำให้ลองยื่นเรื่องต่อกองทุนดังกล่าวเพื่อขอรับการช่วยเหลือ โดยผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง ระบุว่าอาจจะติดตามและเรียกร้องต่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีว่าจะมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/90514-womanissue.html