“อัยการธนกฤต”ชี้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ผู้เข้าประเทศ ออกค่าใช้จ่ายกักตัว ยังไม่มีหลักเกณฑ์บังคับใช้

12

“อัยการธนกฤต”ชี้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ กำหนดผู้เดินทางเข้าประเทศออกค่าใช้จ่ายกักตัวเองอยู่แล้วแต่ยังไม่ออกหลักเกณฑ์บังคับใช้

เมื่อวันที่ 20 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดได้โพสต์เฟซบุ๊คให้ความเห็นส่วนตัวกรณีที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้แถลงถึงกรณีที่อาจเป็นทางเลือกให้ผู้เดินทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักกันที่เกิดขึ้นจากการเข้าอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐหรือสถานกักกันทางเลือกว่า พ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯ กำหนดให้ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัวอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

ในเรื่องนี้ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 42 ได้กำหนดให้ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคไว้อยู่แล้ว แต่ประสบปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามที่พ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯมาตรา 42 กำหนดไว้

ทั้งนี้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯ มาตรา 42 กำหนดว่า กรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาด หรือพาหะนำโรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าว ถูกแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้ผู้เดินทางเป็นผู้รับผิดชอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับมาตรา 7 (4) ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

แต่ในปัจจุบันจะพบว่ายังไม่มีการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อรองรับกรณีที่ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในมาตรามาตรา 7 (4) และ มาตรา 42 แต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เดินทาง หรือเกรงว่าจะมีผู้โต้แย้งการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้เห็นว่าอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 วรรคสาม ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้การบังคับใช้พ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯ มาตรา 42 ที่กำหนดให้ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว ประสบปัญหาในการบังคับใช้

ซึ่งหากภาครัฐเห็นว่าบทบัญญัติในเรื่องนี้ที่กำหนดให้ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปอยู่ในสถานกักกันเพื่อควบคุมและเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความจำเป็นอยู่ และเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการกักตัวผู้เดินทาง เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการป้องกันและควบคุมโรค และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ภาครัฐโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ควรเร่งดำเนินการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกักตัวเมื่อเดินทางเข้าประเทศ ที่มีความเหมาะสมและได้รับความยินยอมร่วมมือจากผู้เดินทางมาใช้บังคับ

ซึ่งภาครัฐอาจพิจารณาว่าจะให้ผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด หรือได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยอาจพิจารณาจากรายได้ ฐานะทางการเงิน สถานะภาพ ความเป็นอยู่ ภาระความรับผิดชอบ หรือ พิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ของผู้เดินทาง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกรณีตามพ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯ มาตรา 41 ที่กำหนดให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามมาตรา 40 และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งเป็นกรณีของการเดินทางมาจากประเทศที่ถูกประกาศให้เป็นเขตติดโรคตามพ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯ มาตรา 8 โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ยังไม่มีการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อรองรับกรณีที่เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 41 แต่อย่างใด เช่นกัน

ทำให้การบังคับใช้พ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯ มาตรา 41 ที่กำหนดให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าว ยังไม่สามารถกระทำได้

ซึ่งในเรื่องนี้ ภาครัฐก็คงต้องมาพิจารณาเช่นเดียวกันว่าบทบัญญัติในเรื่องนี้ยังคงมีความเหมาะสมและความจำเป็นที่จะต้องใช้บังคับต่อไปหรือไม่ หากเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้บังคับต่อไป ก็ควรต้องดำเนินการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องค่าใช้จ่ายดังกล่าวเช่นกัน

Credit : https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2273782

- Advertisement -