เปิดผลสอบข้อเท็จจริง ‘ผอ.รพ.ขอนแก่น’ (1) กรณีโอนเงินร้านค้าสวัสดิการ-สมุดบัญชีที่หายไป

48

เปิดผลสอบข้อเท็จจริง ‘ผอ.รพ.ขอนแก่น’ (1) กรณีโอนเงินร้านค้าสวัสดิการ-สมุดบัญชีที่หายไป

“…ข้อกล่าวหาส่วนนี้ ระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า นายชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น อ้างว่าร้านค้าสวัสดิการ มีกำไร โดยคิดจากยอดขายและยอดสั่งซื้อสินค้าในช่วง 5 เดือน ดังนั้น ในบัญชีของสวัสดิการร้านค้านั้น จะไม่มีเงินสดเหลือในมือ เนื่องจากกำไรก็คือมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่นายชาญชัยกลับสั่งให้โอนเงิน จากกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น …รวมถึงไม่ได้ส่งมอบบัญชีดังกล่าวให้นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น นายแพทย์เกรียงศักดิ์จึงต้องไปลงบันทึกประจำวันเพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการขอ Statement จากธนาคารด้วยตนเอง…”

ประเด็นตรวจสอบ กรณีนายแพทย์ (นพ.) สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1161/2562 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2562 เนื่องจากมีการร้องเรียนกล่าวหา นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น ด้วยประเด็น 7 ข้อร้องเรียน โดย นพ.ชาญชัย ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ทุกประเด็นข้อกล่าวหาถูกตีตกทั้งหมด เนื่องจากไม่มีมูลความจริง ดังที่ สำนักข่าวอิศราเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ในประเด็นข้อกล่าวหาทั้ง 7 ข้อ มีอยู่ 4 ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างบัญชีกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น กับกรณีที่นายชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น อ้างคืนกำไรให้กับสมาชิกสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งที่สวัสดิการร้านค้าเปิดดำเนินการเพียง 5 เดือน โดยอ้างกำไร 6.69 ล้านบาท และสั่งจ่ายเจ้าหน้าที่คนละ 2,000 บาท สั่งจ่ายจำนวน 3,433 คน รวม 6,866,000 บาท โดยเร่งรีบประชุมกรรมการนโยบายหลังคำสั่งย้ายออกเพียง 1 วัน และอีก 2 วัน เงินถูกโอนเข้าบัญชีอย่างเร่งรีบ

ทั้งที่ปกติควรปันผลหรือคืนกำไรเป็นรายไตรมาส ครึ่งปี หรือ 1 ปี

นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล

ข้อกล่าวหาส่วนนี้ ระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า นายชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น อ้างว่าร้านค้าสวัสดิการ มีกำไร โดยคิดจากยอดขายและยอดสั่งซื้อสินค้าในช่วง 5 เดือน ดังนั้น ในบัญชีของสวัสดิการร้านค้านั้น จะไม่มีเงินสดเหลือในมือ เนื่องจากกำไรก็คือมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

แต่นายชาญชัยกลับสั่งให้โอนเงิน จากกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ นายชาญชัย ไม่เคยโอนเงินดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่มาก่อน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ไม่ได้ส่งมอบบัญชีกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่นให้ รวมถึงไม่ได้ส่งมอบบัญชีดังกล่าวให้นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น นายแพทย์เกรียงศักดิ์จึงต้องไปลงบันทึกประจำวันเพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการขอ Statement จากธนาคารด้วยตนเอง

– สมุดบัญชีที่หายไป

ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบข้อมูลบัญชีกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งมีจำนวน 3 เล่ม โดยเล่มที่ 3 ซึ่งฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น เลขที่ 405-0817-101 และถูกเก็บอยู่ที่กลุ่มงานบัญชีตามคำบอกเล่าของพยานรายหนึ่ง ระบุว่าเป็นเล่มที่ถูก นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ตามหา เนื่องจากไม่มีการส่งมอบให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรายใหม่ คือนพ.เกรียงศักดิ์ ที่ถูกย้ายมาดำรงตำแหน่งแทน นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล กระทั่ง นพ.เกรียงศักดิ์ต้องไปติดต่อขอ Statement ย้อนหลังจากธนาคารด้วยตนเอง

ข้อมูลที่น่าสนใจ มีดังนี้

เปิดคำให้การพยานและปริศนาสมุดบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” เลขที่ 405-0817-101

พยานรายหนึ่งซึ่งเป็นเป็นข้าราชการบำนาญ อดีตหัวหน้ากลุ่มงานการเงิน โรงพยาบาลขอนแก่น ยืนยันว่า สมุดบัญชี กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น มีจำนวน 3 เล่ม

เล่มที่ 1 ชื่อบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์ สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เลขที่ 001-2-004XXX เป็นการเปิดบัญชีออมทรัพย์พิเศษ สมุดคู่ฝากนี้เก็บอยู่ที่กลุ่มการเงิน

เล่มที่ 2 ชื่อบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ฝากที่ธนาคารออมสิน สาขาศรีจันทร์ เลขที่ 02022790XXX สมุดคู่ฝากนี้ เก็บอยู่ที่กลุ่มงานการเงิน

เล่มที่ 3 ชื่อ “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น เลขที่ 405-0817-XXX สมุดคู่ฝากนี้ เก็บอยู่ที่กลุ่มงานบัญชี ( นาง อ. )

ทั้งนี้ บัญชีเงินฝากเล่มที่ 1 และ 2 คือ “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น”ซึ่งฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์ สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และ“กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ซึ่งฝากที่ธนาคารออมสิน สาขาศรีจันทร์ ได้มีการปิดบัญชี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561

โดยขณะนั้น นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลขอนแก่น ยังไม่ได้เดินทางไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี

สำหรับ บัญชีเล่มที่ 1 “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์ สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เลขที่ 001-2-004XXX ที่ขอปิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 มีการโอนเงินที่ปิดไปยังบัญชีอื่นๆ ดังนี้

1.โอนเข้าบัญชีเงินบริจาคของโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 30,000,000 บาท

2.โอนเข้าบัญชีกองทุนพัฒนาศูนย์หัวใจโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 10,544,572.49 บาท

3.โอนเข้าบัญชีกองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 10,000,000 บาท

สำหรับบัญชีเล่มที่ 2 ชื่อบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ฝากที่ธนาคารออมสิน สาขาศรีจันทร์ เลขที่ 0-202-2790XXX

พยานได้มีการนำฝากเข้าบัญชีเงินบริจาค โรงพยาบาลขอนแก่นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาขอนแก่น เลขที่ 405-0-823XXX เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 จำนวน 2,236,636.73 บาท

พยานข้างต้นรายนี้ระบุกับนายแพทย์ เกรียงศักดิ์ ซึ่งถูกย้ายให้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล แทน นายแพทย์ชาญชัย ขณะนั้นว่า ไม่เคยทราบเกี่ยวกับบัญชีเล่มที่ 3 คือบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ซึ่งฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น เลขที่ 405-0817-XXX

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ

– Timeline ตามหาบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ธ.กรุงไทย เลขที่ 405-0817-XXX

พยานข้างต้น ยืนยันกับนายแพทย์เกรียงศักดิ์ว่า ฝ่ายการเงินไม่เคยรับผิดชอบบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ซึ่งฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น เลขที่ 405-0817-XXX ฝ่ายการเงินไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีนี้ และเงินที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขอนแก่น คนละ 2,000 บาท ไม่ได้มาจากบัญชีเงินฝากที่ฝ่ายการเงินรับผิดชอบอยู่ เข้าใจว่า เงินดังกล่าวน่าจะมาจาก บัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ซึ่งฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น เลขที่ 405-0817-XXX ที่นาง อ. หัวหน้างานบัญชี รับผิดชอบอยู่

จากนั้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 นพ.เกรียงศักดิ์ ได้เรียกพยานรายนี้มาเข้าพบเพื่อให้ดำเนินการ ทำเรื่องขอ Statement บัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น เลขที่ 405-0817-XXX

นอกจากนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ ได้ทำบันทึกถึงนาง อ. หัวหน้างานบัญชี เพื่อขอดูสมุดบัญชีกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น เลขที่ 405-0817-XXX ภายในวันรุ่งขึ้น

ต่อมา พยานรายนี้ได้มาแจ้ง นพ.เกรียงศักดิ์ ในเช้าวันที่ 19 ต.ค.2561 ระบุว่า “ไม่สามารถขอ Statement ย้อนหลังได้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น ไม่ให้ความร่วมมือ อ้างว่า ต้องเปลี่ยนผู้ลงนามในเช็คก่อน”

ขณะที่นาง อ. หัวหน้างานบัญชี รายงานต่อ นพ.เกรียงศักดิ์ว่า ตนไม่ได้ดูบัญชีดังกล่าว บัญชีอยู่ที่กลุ่มการเงิน นพ.เกรียงศักดิ์จึงให้นาง อ.ไปติดตามบัญชีดังกล่าวจากกลุ่มการเงิน

ทว่า ไม่มีความคืบหน้าจากนางอังคณา

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2561 นพ.เกรียงศักดิ์ พยายาม ติดต่อและประสานไปที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) สาขาขอนแก่น อีกครั้ง พร้อมหลักฐาน คำสั่งยืนยันว่าเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ในที่สุด เวลาประมาณ 17.00 น. ธนาคารจึงให้สำเนา Statement กับ นพ.เกรียงศักดิ์ จำนวน 4 แผ่น


– ข้อสังเกตต่อบัญชีปริศนา “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น” ธ.กรุงไทย เลขที่ 405-0817-XXX

ในบันทึกรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุว่า เมื่อได้รับ Statement จากธนาคารกรุงไทยแล้ว ทำให้ นพ.เกรียงศักดิ์ทราบว่า โรงพยาบาลขอนแก่น ได้ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 เป็นเงินจำนวน 6,866,000 บาท และมีการจ่ายให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมด 3,422 คนๆ ละ 2,000 บาท

นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหว ของเงินในบัญชี จนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2561 และนพ.เกรียงศักดิ์ ยังพบข้อสังเกตจากรายงานในที่ประชุม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ที่บันทึกว่าร้านค้าสวัสดิการมีกำไร แต่เพราะเหตุใดจึงนำเงินจากบัญชีกองทุนฯ เล่มนี้ไปจ่าย ทำไมไม่จ่ายเงินกำไรดังกล่าวจากบัญชีร้านค้าสวัสดิการ

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กำไรดังกล่าวมีจริงหรือไม่ ขอให้ตรวจสอบในประเด็นนี้ และให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมดของทุกบัญชีของโรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งกรณีเงินเข้าและออกเพื่อตรวจสอบความโปร่งใส และให้มีการสอบถามว่าเพราะเหตุใด จึงมีการปกปิดบัญชีเล่มดังกล่าวกับผู้อำนวยการคนใหม่อย่าง นพ.เกรียงศักดิ์ หากมีการดำเนินการโดยสุจริตและโปร่งใส ไม่ควรมีพฤติกรรมปกปิดบัญชีดังกล่าว ซึ่งเป็นบัญชีของส่วนรวม ในนามโรงพยาบาลขอนแก่น ไม่ใช่เป็นเงินส่วนตัวแต่อย่างใด

เหล่านี้ คือ ประเด็นข้อร้องเรียน และคำให้การของพยาน ที่ปรากฏในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างบัญชีกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น กับกรณีที่นายชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น อ้างคืนกำไรให้กับสมาชิกสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งที่สวัสดิการร้านค้าเปิดดำเนินการเพียง 5 เดือน

ขณะที่ นพ.ชาญชัย ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ทุกขั้นตอนโปร่งใส ตรวจสอบได้ และข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่มีมูลความจริง!

โดย นายชาญชัย ชี้แจงข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า “สำหรับการสั่งจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขอนแก่นคนละ 2,000 บาทนั้น สืบเนื่องมาจากได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการร้านค้าสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง ว่าหากมีผลประกอบการที่ก่อให้เกิดกำไรแล้ว จะมีการเฉลี่ยคืนผลกำไรให้แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขอนแก่นทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยถือเสมือนว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีส่วนร่วมในร้านค้าสวัสดิการเท่าๆ กัน เมื่อมีกำไรเกิดขึ้นย่อมเฉลี่ยคืนแก่สมาชิก ตามมติของคณะทำงานด้านบริหารจัดการร้านค้าสวัสดิการ ( ร้านสะดวกซื้อ ) โรงพยาบาลขอนแก่น และตามมติคณะอนุกรรมการสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่นครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ในระเบียบวาระที่ 4 เรื่องอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับแนวทางการจ่ายคืนกำไรดังกล่าว”

ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิต่อสู้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ ทั้งในกระบวนการขั้นตอนการสอบสวนของราชการ และกระบวนการในชั้นศาลต่อไป

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90445-paperfortrueinvest.html

Credit : https://www.posttoday.com/

Credit : https://khonkaenlink.info/

- Advertisement -