เปิดผลสอบ ‘สตง.’ ชำแหละงานคุ้มครองผู้บริโภค ‘คน.’ ไร้ประสิทธิภาพ- ปชช.โดนเอาเปรียบ

81

“…การที่กรมการค้าภายในไม่สามารถติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพตามกลไกที่กำหนด ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบจากการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะค่าบริการที่กรมการค้าภายในยังไม่มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งการที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแต่ละแห่งมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่แตกต่างกัน ทำให้ข้อมูลที่กรมการค้าภายในได้รับไม่สามารถสะท้อนข้อมูลราคาสินค้าที่แท้จริงของพื้นที่ อันเป็นเป้าประสงค์ของกรมการค้าภายในที่ต้องการทราบความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญ เพื่อเฝ้าระวังการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการในพื้นที่ได้…”

การคุ้มครองผู้บริโภค ให้สามารถซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ยุติธรรมและได้รับปริมาณสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมการค้าภายใน ที่ถูกคาดหวังจากประชาชนมาโดยตลอด

ล่าสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภค ของกรมการค้าภายใน พบว่ายังมีปัญหาการกำกับดูแลราคาและปริมาณสินค้าและบริการไม่เป็นไปตามมาตรการและกลไกที่กำหนด การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการบางส่วนยังไม่เกิดประสิทธิผล ขณะที่การสร้างเครือข่ายอาสาธงฟ้า 1569 ยังไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัด และเครื่องชั่งตวงวัด ก็ไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้ กรมการค้าภายใน ดำเนินการไปแล้ว

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงข้อมูลรายละเอียดรายงานผลการตรวจสอบเรื่องนี้ มานำเสนอ ณ ที่นี้

ที่มาการตรวจสอบ

กรมการค้าภายใน เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะต้องดูแลราคาและปริมาณสินค้าและบริการ ภาระค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นธรรม เสริมสร้างมาตรฐานการชั่งตวงวัดให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อสนับสนุนการค้าให้เข้มแข็งและเป็นธรรม รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคในการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของตนเองซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความคุ้มค่าและเป็นธรรมในการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการของประชาชน ทั้งนี้ หากการดำเนินงานของกรมการค้าภายในเป็นไปตามภารกิจดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้ประชาชนในประเทศได้ซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ยุติธรรมและได้รับปริมาณสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ

สตง. ได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคของกรมการค้าภายใน เพื่อให้ทราบว่าการกำกับดูแลราคาและปริมาณสินค้าและบริการ การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค และการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด มีปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ผลกระทบ สาเหตุ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของกรมการค้าภายในให้บรรลุภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภคได้

โดยจากการตรวจสอบมีข้อตรวจพบและข้อสังเกตดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 การกำกับดูแลราคาและปริมาณสินค้าและบริการไม่เป็นไปตามมาตรการและกลไกที่กำหนด

จากการตรวจสอบการกำกับดูแลราคาสินค้าควบคุมที่สำนักจัดระบบราคาและปริมาณสินค้าต้องได้รับแจ้งราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า เพื่อพิจารณาความสอดคล้องเหมาะสมกับต้นทุนรวมถึงเสนอความเห็นต่อเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพิจารณาอนุญาตกรณีผู้ประกอบการยื่นคำร้องขอจำหน่ายสินค้าในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่ได้แจ้งไว้ หรือจำหน่ายในราคาสูงเกินกว่าราคาที่แจ้งไว้

ปรากฏว่าสำนักจัดระบบราคาและปริมาณสินค้าไม่แสดงข้อมูลหลักฐานประกอบการตรวจสอบให้แก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน อันได้แก่ ฐานข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจสินค้าควบคุมภายใต้มาตรการด้านราคา หลักเกณฑ์หรือกรอบการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจตั้งราคา หรือเปลี่ยนแปลงต้นทุน/ราคาหรือจำหน่ายสินค้าในลักษณะที่แตกต่างหรือจำหน่ายในราคาที่สูงเกินกว่าที่แจ้งไว้ การแจ้งข้อมูลการขอเปลี่ยนแปลงต้นทุน/ราคาหรือจำหน่ายสินค้าในลักษณะที่แตกต่างหรือจำหน่ายในราคาที่สูงเกินกว่าที่แจ้งไว้ของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบการกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าควบคุมสำหรับการกำกับดูแลปริมาณสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายใน ซึ่งคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการกำหนดมาตรการควบคุมการขนย้ายและการแจ้งปริมาณการครอบครองสินค้าเกษตรสำคัญ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณสินค้าเกษตรที่หมุนเวียนในตลาด และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการวางแผนกำกับดูแลราคาและปริมาณสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ป้องกันการกักตุนสินค้า ส่งผลให้ระบบตลาดมีเสถียรภาพ สร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

จากการสุ่มตรวจสอบการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ต้นทางการขนย้ายสินค้าควบคุมแต่ละประเภทของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจำนวน 5 แห่ง พบว่าเน้นให้ความสำคัญเฉพาะขั้นตอนการอนุญาตให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด กล่าวคือ ภายใน 1 วันทำการ แต่การแจ้งข้อมูลการอนุญาตขนย้ายสินค้าควบคุมพบว่าสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบบางแห่งไม่ได้ดำเนินการออกหนังสืออนุญาตขนย้ายสินค้าควบคุมผ่านระบบแจ้งการขนย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับไม่ได้จัดส่งสำเนาหนังสืออนุญาตขนย้ายสินค้าควบคุมให้ส่วนกลางภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกทั้งผู้ขนย้ายไม่ได้จัดส่งสำเนาหนังสืออนุญาตขนย้ายสินค้าควบคุมให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปลายทางภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้หน่วยงานส่วนกลางและจังหวัดปลายทางไม่มีข้อมูลที่จะใช้ในการกำกับดูแลปริมาณสินค้าควบคุมภายในจังหวัด เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าจนเป็นเหตุให้ราคาสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ อันส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีความต้องการสินค้าควบคุมดังกล่าว

ส่วนการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลายทางการขนย้ายสินค้าควบคุมแต่ละประเภท จากการสุ่มตรวจสอบการทำหน้าที่ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจำนวน 7 แห่ง พบว่าไม่สามารถกำกับควบคุมการขนย้ายสินค้าควบคุมตามมาตรการและกฎหมายที่กำหนด โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าได้รับคืนหนังสืออนุญาตขนย้ายครบถ้วนตามที่ได้รับอนุญาตจากต้นทางทุกแห่งหรือไม่ เนื่องจากการแจ้งข้อมูลการอนุญาตขนย้ายจากพื้นที่ต้นทางไม่ครบถ้วน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่ให้
ความสำคัญกับการตรวจสอบการนำส่งหนังสืออนุญาตขนย้ายให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด และจากการตรวจสอบการกำกับดูแลการครอบครองสินค้าควบคุมของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจำนวน 7 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลว่าสินค้าควบคุมประเภทใดที่เข้ามาในจังหวัด ไม่มีฐานข้อมูลผู้ประกอบการ
ในพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องแจ้งข้อมูลการครอบครองสินค้าควบคุม และไม่มีการสุ่มตรวจสอบปริมาณการครอบครองสินค้าควบคุมและการจัดทำทะเบียนคุมสินค้าดังกล่าว

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการกำกับดูแลปริมาณสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายในยังพบว่า กรมการค้าภายในไม่มีการกำหนดปริมาณสินค้าขั้นต่ำและขั้นสูงที่จะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนและการกักตุนสินค้า อันจะเป็นเหตุให้ราคาสินค้าควบคุมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานส่วนกลางและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดใช้ในการกำกับควบคุมปริมาณสินค้าควบคุมภายในจังหวัดในส่วนของการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จากการตรวจสอบพบว่า กรมการค้าภายในไม่สามารถติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพตามกลไกที่กำหนด โดยการติดตามเฝ้าระวังราคาสินค้าของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมีความแตกต่างของแหล่งที่มาของข้อมูล สถานะของข้อมูล และขนาดของสินค้า ในขณะที่การติดตามเฝ้าระวังค่าบริการพบว่ายังไม่มีการติดตามเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์ค่าบริการเป็นประจำในพื้นที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ การที่กรมการค้าภายในไม่สามารถติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพตามกลไกที่กำหนด ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบจากการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะค่าบริการที่กรมการค้าภายในยังไม่มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งการที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแต่ละแห่งมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่แตกต่างกัน ทำให้ข้อมูลที่กรมการค้าภายในได้รับไม่สามารถสะท้อนข้อมูลราคาสินค้าที่แท้จริงของพื้นที่ อันเป็นเป้าประสงค์ของกรมการค้าภายในที่ต้องการทราบความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญ เพื่อเฝ้าระวังการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการในพื้นที่ได้

ข้อตรวจพบที่ 2 การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการบางส่วนยังไม่เกิดประสิทธิผล

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และสำนักงานคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการมีอำนาจหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการ ซึ่งดำเนินการโดยกรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด

จากการตรวจสุ่มตรวจสอบรายงานผลการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด 7 แห่ง และหน่วยงานส่วนกลาง ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2559 พบว่ามีการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีพฤติการณ์จำหน่ายราคาแพง ด้วยการตรวจสอบว่าผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าแล้วจึงยุติเรื่องร้องเรียน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนโดยไม่ได้สืบหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์พฤติการณ์จำหน่ายราคาแพง ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการในราคาที่สูงเกินสมควรยังคงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาและส่งผลให้ประชาชนรายอื่นถูกผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการในราคาที่สูงเกินสมควรเอารัดเอาเปรียบเช่นเดียวกัน

ข้อตรวจพบที่ 3 การสร้างเครือข่ายอาสาธงฟ้า 1569 ยังไม่เกิดประสิทธิผล

เครือข่ายอาสาธงฟ้า 1569 ซึ่งประกอบด้วย อาสาประจำ และอาสาสมัคร เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กรมการค้าภายในดำเนินการเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการดูแลราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรมโดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอดส่องดูแลพฤติกรรมทางการค้าของผู้ประกอบการ มิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานสร้างเครือข่ายอาสาธงฟ้า 1569 ของกรมการค้าภายในพบว่าการดำเนินงานยังไม่เกิดประสิทธิผล โดยอาสาสมัครยังไม่มีผลการดำเนินงานปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน กรมการค้าภายในดำเนินการเพียงรวบรวมรายชื่อผู้ที่สนใจเป็นอาสาสมัครให้ได้ตามจำนวนเป้าหมายที่กำหนด แต่ยังไม่มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย รวมถึงการให้เครือข่ายเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภค การแจ้งข้อมูลและเบาะแสที่สามารถวัดผลได้ สำหรับการดำเนินงานของอาสาประจำพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีการสอดส่องดูแลพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดูแลราคา ปริมาณ ความเป็นธรรมทางการค้า รวมทั้งยังไม่ค่อยมีส่วนช่วยในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคของกรมการค้าภายใน ทั้งนี้ อาสาประจำเน้นปฏิบัติงานสำรวจราคาสินค้าตามรายการที่กำหนด แต่พบว่าบางรายมีการรายงานราคาสินค้าจำนวนน้อยรายการ

ข้อตรวจพบที่ 4 การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัด และเครื่องชั่งตวงวัด ไม่มีประสิทธิภาพ

กรมการค้าภายในมีภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าในปริมาณที่ครบถ้วน ถูกต้องและเที่ยงตรง โดยกำหนดมาตรการเพื่อกำกับตรวจสอบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจชั่งตวงวัดทั้งระบบอันได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดประเภทผลิต นำเข้า ขาย ซ่อม เครื่องชั่งตวงวัด และให้บริการชั่งตวง หรือวัด รวมทั้งผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดสำหรับใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เพื่อให้มีการประกอบธุรกิจและใช้เครื่องชั่งตวงวัดเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ตลอดจนผู้บรรจุหรือผู้นำเข้าสินค้าหีบห่อ เพื่อให้สินค้าหีบห่อบรรจุสินค้าถูกต้องตรงกับปริมาณสินค้าที่แสดง

จากการตรวจสอบพบว่า การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัด และเครื่องชั่งตวงวัด ของกรมการค้าภายในไม่มีประสิทธิภาพ โดยการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ครอบคลุม/ไม่ครบถ้วน การกำกับดูแลให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดชั้นหลังไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดระหว่างการใช้งานไม่เป็นไปตามกฎหมาย มาตรฐาน และเกณฑ์การตรวจสอบที่กำหนด ส่งผลให้อาจมีผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดดำเนินการผลิต นำเข้า ขาย ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดโดยไม่มีใบรับรอง และอาจผลิต นำเข้า ขาย ซ่อม เครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่ได้มาตรฐาน และอาจมีการใช้งานเครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งส่งผลให้ผลการตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดระหว่างการใช้งานขาดความน่าเชื่อถือและไม่ถูกต้อง เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงานโดยเฉพาะการรับรองเครื่องชั่งตวงวัดระหว่างการใช้งานที่ลักษณะทั่วไปไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน

แต่หน่วยงานมีการให้การรับรองด้วยการติดสติ๊กเกอร์รับรองประจำปี อันส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องตามจำนวน/ปริมาณที่ควรจะเป็นจากการซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ขาดความถูกต้องและเที่ยงตรง

ข้อเสนอแนะ สตง.

เพื่อให้กรมการค้าภายในสามารถกำกับดูแลราคาและปริมาณสินค้าและบริการ แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการและสร้างเครือข่ายอาสาธงฟ้า 1569 ได้อย่างเกิดประสิทธิผลรวมทั้งก ากับดูแลผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัด และเครื่องชั่งตวงวัด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สตง.มีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์และอธิบดีกรมการค้าภายในพิจารณาดำเนินการดังนี้

ปลัดกระทรวงพาณิชย์พิจารณาสั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดดำเนินการดังนี้

1. กำกับ ควบคุม ตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการที่มีการขนย้ายหรือครอบครองสินค้าควบคุมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การขออนุญาตขนย้าย การแจ้งการขนย้าย การแจ้งการครอบครองสินค้าควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน อันจะส่งผลให้มาตรการกำกับดูแลปริมาณสินค้าควบคุมเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2. กรณีที่กรมการค้าภายในยังคงกิจกรรมอาสาธงฟ้า 1569ควรสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลการสำรวจราคาสินค้าของอาสาประจำ และสำรวจปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของอาสาประจำ เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงให้สามารถนำข้อมูลการสำรวจราคาสินค้าของอาสาประจำมาใช้สะท้อนราคาสินค้าในพื้นที่ และเป็นการเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้ประกอบการในพื้นที่ได้อีกทั้งเจ้าหน้าที่ต้องกำกับและเสริมสร้างการปฏิบัติงานของอาสาประจำในด้านอื่นนอกเหนือจากการสำรวจราคาสินค้า เพื่อให้อาสาประจำเป็นหนึ่งในกลไกที่มีประสิทธิภาพของกรมการค้าภายในในการสอดส่องพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม แจ้งเรื่องร้องเรียนเมื่อพบการเอารัดเอาเปรียบเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการในพื้นที่ รวมทั้งช่วยเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการให้แก่ประชาชนในพื้นที่

อธิบดีกรมการค้าภายใน พิจารณาสั่งการให้มีการดำเนินการดังนี้

1. เร่งหาวิธีการ/แนวทางที่จะส่งเสริมให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่งใช้งานระบบแจ้งการขนย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การกำกับควบคุมการขนย้ายสินค้าควบคุมเกิดประสิทธิภาพ สามารถส่งต่อข้อมูลการอนุญาตขนย้ายและการขนย้ายสินค้าควบคุมจากแหล่งต้นทางไปยังแหล่งปลายทางได้อย่างรวดเร็วและเป็นปัจจุบัน อันเป็นการช่วยให้มาตรการกำกับดูแลปริมาณสินค้าควบคุมเป็นไปตามความมุ่งหวังที่จะกำกับควบคุมการขนย้ายสินค้าควบคุมระหว่างจังหวัด รวมทั้งสามารถเฝ้าระวังการกักตุนสินค้าควบคุมของผู้ประกอบการ

2. เร่งพัฒนาระบบการแจ้งปริมาณการครอบครองสินค้าควบคุมชนิดอื่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ครอบครองสินค้าควบคุมในการแจ้งปริมาณการครอบครองสินค้าควบคุม และส่งเสริม/ผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ครอบครองสินค้าควบคุมดำเนินการแจ้งปริมาณการครอบครองสินค้าควบคุมอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน

3. กำกับ ควบคุม ตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการที่มีการขนย้ายหรือครอบครองสินค้าควบคุมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การขออนุญาตขนย้าย การแจ้งการขนย้าย การแจ้งการครอบครองสินค้าควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน อันจะส่งผลให้มาตรการกำกับดูแลปริมาณสินค้าควบคุมเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

4. กำหนดหลักเกณฑ์/วิธีการสืบราคาสินค้าและบริการ โดยกำหนดลักษณะของร้านค้า ขนาดของร้านค้า หรือจำนวนร้านค้า ที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการสืบราคา และกำหนดลักษณะของข้อมูลว่าข้อมูลราคาที่สืบควรเป็นราคาปกติหรือราคาที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อให้ราคาที่สืบสามารถสะท้อนราคาที่แท้จริงในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน โดยไม่ควรเป็นราคาสินค้าที่มีลักษณะแหล่งที่มาของข้อมูลเดียวกับส่วนกลาง เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนของการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในต้องดำเนินการวิเคราะห์ลักษณะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการแต่ละหมวด/รายการ เพื่อทราบถึงความถี่ในการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่เหมาะสม อันนำไปสู่การกำหนดระยะเวลา/ความถี่ในการสืบราคาสินค้าและบริการแต่ละหมวด/รายการให้สอดคล้องกับลักษณะการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและสามารถปฏิบัติงานได้จริง

5. เร่งดำเนินการกำกับควบคุมผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ให้ปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและค่าบริการเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอต่อการตัดสินใจ หรือมาตรการกำกับดูแลการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่จ าหน่ายผ่านระบบออนไลน์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

6. กำหนดแนวทาง/วิธีการพิจารณารับเรื่องร้องเรียน การจำแนกประเภทของเรื่องร้องเรียนและกำหนดแนวทาง/วิธีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะกรณีพฤติการณ์จำหน่ายราคาแพง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใช้เป็นแนวปฏิบัติในการปฏิบัติงาน รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงรวมทั้งดำเนินการซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ

7. จัดทำฐานข้อมูลการวินิจฉัยการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนในทุกพฤติการณ์โดยเฉพาะปัญหาที่มีการร้องเรียนเป็นประจำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาเทียบเคียงกับการร้องเรียนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

8. ประเมินความพึงพอใจของผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนได้สอดคล้องกับพฤติการณ์ที่มีผู้ร้องเรียนหรือไม่อย่างไร เพื่อหาแนวทางพัฒนาปรับปรุงให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของกรมการค้าภายในเกิดประสิทธิผลในการคุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

9. พิจารณาทบทวนเป้าประสงค์ของการสร้างเครือข่ายอาสาธงฟ้า 1569 และกำหนดกิจกรรมให้สอดคล้องเหมาะสมกับเป้าประสงค์ รวมทั้งกำหนดวิธีการ/แนวทางเพื่อจูงใจให้อาสาเห็นคุณค่าของการปฏิบัติงานในฐานะอาสาธงฟ้า 1569

10. จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายอาสาสมัคร เพื่อร่วมเป็นกลไกหนึ่งในการสอดส่องพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม สะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้าและช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเน้นความเข้มแข็งและความต่อเนื่องในการเป็นเครือข่ายของอาสาสมัคร รวมทั้งประเมินความสำเร็จหรือผลสัมฤทธิ์ของการสร้างเครือข่ายอาสาสมัคร ทั้งในเรื่องการเป็นกลไกที่ช่วยสอดส่องพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม การสะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า และการช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

11. พิจารณากำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือวิธีปฏิบัติในการพักใช้หรือเพิกถอนหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจกับผู้ที่ไม่มาต่ออายุหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถกำกับดูแลการประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดให้ศูนย์/สำนักงานสาขาชั่งตวงวัดสุ่มตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่ขาดการต่ออายุหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามกำหนด

12. พัฒนาระบบงานชั่งตวงวัดให้สามารถใช้ในการกำกับควบคุมผู้ประกอบธุรกิจเครื่องชั่งตวงวัดและผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัด และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกรมการค้าภายในต้องกำกับควบคุมให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์/สำนักงานสาขาชั่งตวงวัดใช้ระบบงานชั่งตวงวัดในการกำกับควบคุมและแจ้งเตือนผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดและผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัด เพื่อให้มาดำเนินการต่ออายุหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดภายในระยะเวลาที่กำหนด

13. กำกับควบคุมให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์/สำนักงานสาขาชั่งตวงวัดปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน และด าเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดกับผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 โดยพิจารณาสร้างกลไกการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามมาตรฐาน เกณฑ์การตรวจสอบ และกฎหมายการตรวจสอบการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคของกรมการค้าภายใน

14. พิจารณากำหนดแนวทางให้ภาคเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ในการติดตามกำกับดูแลเครื่องชั่ง ตวงวัดที่มีอายุค่ารับรองแทน โดยกรมการค้าภายในทำหน้าที่กำกับควบคุมการทำงานของภาคเอกชนแทนเพื่อเป็นการลดภาระงานของหน่วยงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัดที่มีอายุคำรับรอง

15. การจัดทำแผนการตรวจสอบประจำปีควรพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงและทรัพยากรของแต่ละศูนย์/สำนักงานสาขาชั่งตวงวัด โดยใช้ข้อมูลการตรวจสอบในปีก่อนหน้าและอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ พิจารณาประกอบการจัดทำแผน และต้องดำเนินการจัดทำแผนให้ครอบคลุมพื้นที่และชนิดของเครื่องชั่งตวงวัดในความรับผิดชอบ

16. จัดอบรมให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดแก่ผู้ช่วยนายตรวจเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ช่วยนายตรวจ อันจะส่งผลให้งานตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

17. ส่งเสริม/ผลักดันให้เครือข่ายอาสาธงฟ้า 1569 เข้ามามีส่วนช่วยในการตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดระหว่างการใช้งาน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์/ส านักงานสาขาชั่งตวงวัด

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90361-report02-12.html

- Advertisement -